รีเซต

โบรกฯ ส่อง KTB แนะรอความชัดเจนผลกระทบหลังพ้นสภาพรัฐวิสาหกิจ

โบรกฯ ส่อง KTB แนะรอความชัดเจนผลกระทบหลังพ้นสภาพรัฐวิสาหกิจ
ทันหุ้น
9 พฤศจิกายน 2563 ( 12:38 )
95
โบรกฯ ส่อง KTB แนะรอความชัดเจนผลกระทบหลังพ้นสภาพรัฐวิสาหกิจ

ทันหุ้น-สู้โควิด : บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ระบุ คืนวันศุกร์ที่ 6 พ.ย. 2563 KTB รายงาน ตลท. หลังได้รับหนังสือจากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 55.07% ของ KTB ว่า สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้แจ้งผลการพิจารณาว่า กองทุนเพื่อการฟื้นฟู และ KTB ไม่มีลักษณะเป็นบริษัทหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่เป็นรัฐวิสาหกิจตามบทนิยามคำว่า “รัฐวิสาหกิจ” ในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561

 

รายงานดังกล่าวสอดคล้องกับกระแสข่าวก่อนหน้านี้ที่ระบุว่ากรุงไทยอยู่ระหว่างการพิจารณาพ้นสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจ เนื่องจากการตีความสถานะของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ที่ไม่ถือเป็นรัฐวิสาหกิจ ตาม พ.ร.บ. การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2562 

 

เบื้องต้นฝ่ายวิจัยยังไม่ได้รับข้อมูลเพิ่มเติมจาก KTB ถึงผลกระทบที่ชัดเจน แต่ประเมินว่าในระยะกลาง-ยาว จะเป็นบวกต่อการบริหารงานของธนาคาร แต่ในช่วงสั้นนักลงทุนอาจมีความกังวลในประเด็นเกี่ยวกับการดำเนินงานของ KTB โดยมีความเห็นดังนี้

 

1) การให้สินเชื่อ: KTB มีสัดส่วนสินเชื่อโครงการภาครัฐฯ ณ สิ้น Q3/63 คิดเป็น 15.7% ของสินเชื่อรวม ซึ่งหลังเปลี่ยนสถานะของ KTB คาดสัดส่วนสินเชื่อดังกล่าวจะทยอยลดลง เพราะโครงการส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อที่มี Yield ต่ำ เนื่องจากธนาคารต้องเสนออัตราดอกเบี้ยเพื่อแข่งขันกับธนาคารอื่นที่สนใจเข้าประมูลงานโครงการภาครัฐฯ ขณะที่มีบางโครงการที่เป็นการดำเนินเพื่อสนองนโยบายของภาครัฐฯ ซึ่งอาจไม่คุ้มค่ากับความเสี่ยงและผลตอบแทนของธนาคาร ทำให้เรามองว่าหากธนาคารหันไปเน้นโตในสินเชื่อประเภทอื่นจะทำให้ Yield ของ KTB ปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ 

 

2) เงินฝาก: เนื่องจากรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานราชการหลายรายใช้บริการฝากเงินที่ KTB เนื่องจากมีข้อกำหนดให้ทำธุรกรรมการเงินผ่านธนาคารที่เป็นของรัฐฯ เท่านั้น ล่าสุดมีข่าวว่ากรมบัญชีกลางจะออกระเบียบใหม่เพื่อให้หน่วยงานราชการยังสามารถทำธุรกรรมทางการเงินกับ KTB ต่อไป (อ้างอิง: https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/906656) ทำให้เราคาดว่าจะยังไม่เห็นการไหลออกของเงินฝากอย่างมีนัยยะสำคัญของ KTB 

 

3) ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน: คาดจะเห็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานทยอยปรับตัวลง ในระยะยาว เนื่องจากมีความคล่องตัวในการบริหารจัดการ และไม่ต้องอยู่ภายใต้ข้อจำกัดด้านกฎระเบียบเหมือนตอนเป็นรัฐวิสาหกิจ

 

อย่างไรก็ดีในแง่ผลดำเนินงาน คาด Q4/63 กำไรของ KTB จะทำได้เพียงฟื้นตัวจากฐานที่ต่ำใน Q3/63 ที่มีการตั้งสำรองเพื่อรองรับหนี้เสียที่จะทยอยสูงขึ้นในช่วงปลายปี ขณะที่ PPOP คาดทำได้เพียงทรงตัวจาก NIM ที่มีโอกาสอ่อนตัวลงต่อตามการให้ความช่วยเหลือกับลูกหนี้ที่เข้าโครงการช่วยเหลือทางการเงินเพิ่มเติม หนุนให้ทั้งปีคาดกำไรของ KTB จะอยู่ที่ 17,074 ลบ. ลดลง 41.7%oY ตามประมาณการเดิม

 

ทั้งนี้ แม้ราคาหุ้นของ KTB ปรับลงมาต่อเนื่องจนซื้อขายในระดับ PBV ต่ำเพียง 0.38x ต่ำสุดในกลุ่ม แต่คาดช่วงสั้นราคาหุ้นจะยังถูกกดดันจากความไม่ชัดเจนของผลกระทบจากการพ้นสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งแนวโน้มการทำกำไรที่แย่กว่ากลุ่ม เนื่องจากยังไม่สามารถปรับลดต้นทุนทางการเงินให้ต่ำลงได้เหมือนธนาคารขนาดใหญ่รายอื่น จึงคงคำแนะนำเพียง “Trading” 

 

 

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง