รีเซต

เจาะลึกนวัตกรรม Teleclinic เพื่อวงการสาธารณสุขในยุคดิจิทัล

เจาะลึกนวัตกรรม Teleclinic เพื่อวงการสาธารณสุขในยุคดิจิทัล
มติชน
5 พฤษภาคม 2563 ( 16:09 )
541

 

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้คนไทยต้องใช้ชีวิตแบบรักษาระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ ทรู จึงนำศักยภาพโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมดิจิทัล ผสานความเชี่ยวชาญนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาพัฒนานวัตกรรมที่สร้างคุณค่าให้สังคมและประเทศ โดยพัฒนาแพลตฟอร์ม Teleclinic ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแพลตฟอร์มเทคโนโลยีด้านสุขภาพ VHealth ยกระดับสาธารณสุขในยุคดิจิทัล เอื้อประโยชน์ด้านสาธารณสุขครบวงจร ทั้งสำหรับประชาชนทั่วไปและบุคลากรทางการแพทย์ เริ่มใช้งานจริงแล้วที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และจะขยายการใช้งานไปยังโรงพยาบาลอื่นๆ อีกหลายแห่งทั่วประเทศ


 

แพลตฟอร์ม Teleclinic ออกแบบเพื่อการใช้งานของประชาชนทั่วไปและสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาล โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลช่วยบุคลากรทางการแพทย์ทำการคัดกรองผู้สงสัยติดเชื้อโรคโควิด-19 ในเบื้องต้น เปิดให้ประชาชนใช้งานผ่านแอพพลิเคชั่น Chula Teleclinic เพียงตอบแบบสอบถาม ระบบจะช่วยประเมินความเสี่ยงในเบื้องต้น จึงช่วยคลายความกังวลจากอาการเจ็บป่วย ทั้งยังเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ และสามารถติดต่อสื่อสารกับแพทย์ได้โดยไม่ต้องเสี่ยงติดเชื้อจากการเดินทางไปโรงพยาบาล

 

สำหรับฟังก์ชั่นการใช้งานของโรงพยาบาล แพลตฟอร์ม Teleclinic มีระบบบริหารจัดการด้านการแพทย์ ที่รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลจากผู้ใช้แอพพลิเคชั่น เชื่อมโยงเข้าสู่ขั้นตอนการนัดปรึกษาแพทย์ผ่านระบบแชตและวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ การนัดเข้ารับการตรวจ และติดตามการรักษา โดยมีการแสดงผลข้อมูลเชิงสถิติผ่าน Dashboard จึงช่วยแก้ไขปัญหาการมีบุคลากรทางการแพทย์ที่มีจำกัด ช่วยลดเวลาและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ และช่วยให้โรงพยาบาลสามารถบริหารจัดการบุคลากรทางการแพทย์ได้เหมาะสมกับจำนวนผู้ป่วยอีกด้วย

 

ในส่วนของการสนับสนุนจากทรูในการพัฒนาแพลตฟอร์ม Chula Teleclinic ให้เกิดขึ้นนั้น นพ.กวิรัช ตันติวงษ์ รองผู้อำนวยการ ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้กล่าวถึงการดูแลคนไข้โควิดในครั้งนี้ว่า โรงพยาบาลต้องการความชัดเจนมากที่สุดในการคัดกรองผู้ป่วยโควิด แต่เนื่องจากมีนโยบาย Social Distancing เราเลยคิดกระบวนการใหม่ จากการที่คนไข้ทั้งหมดต้องเดินทางมาเจอกับคุณหมอที่โรงพยาบาล

 

เราให้คนไข้เริ่มตรวจสอบตัวเองตั้งแต่ที่บ้านด้วยการใช้เทคโนโลยีบนมือถือ โดยตอบคำถามตามที่เราตั้งไว้ แล้วก็ดูว่ามีความเสี่ยงมากน้อยเท่าไร ซึ่งผู้ประเมินความเสี่ยงจะเป็นการร่วมกันระหว่างเครื่องมือและคุณหมอจริงๆ ซึ่งอยู่เบื้องหลัง หลังจากนั้น ถ้าพบว่ามีความเสี่ยงในการติดโควิด คุณหมอจะออกตั๋วผ่านระบบเพื่อให้เดินทางมาคลินิกที่ดูแลผู้ป่วยทางด้านโควิดโดยตรงที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ฯ แพลตฟอร์มนี้จึงช่วยให้การทำงานสะดวกขึ้น ชัดเจนขึ้น ถูกต้องแม่นยำขึ้น และลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้มากขึ้น และการพัฒนาเทคโนโลยีนี้ ไม่ได้ใช้เฉพาะวันนี้เท่านั้น แต่โรงพยาบาลจะยังนำมาใช้ในการดูแลผู้ป่วยทั้งหมดหรือในอนาคตของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ฯต่อเนื่องต่อไป


 

ด้านความร่วมมือกับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย นายณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์ กรรมการบริหาร บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า จากการทำงานร่วมกับคุณหมอ ทำให้ได้ทราบปัญหาคือมีประชาชนมาตรวจเป็นจำนวนมาก ทรูจึงพัฒนาแพลตฟอร์มร่วมกับทีมแพทย์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ฯ ทำระบบคัดกรองคนไข้โควิด และ ระบบสื่อสารผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ แพลตฟอร์มนี้เข้าใช้งานง่ายๆ ผ่านแอพพลิเคชั่น Chula Teleclinic เมื่อคนไข้เข้ามาตอบคำถาม ระบบจะพิจารณาประเมินความเสี่ยง แพทย์จะเห็นผลประเมินผ่าน Dashboard ถ้ามีความเสี่ยงถึงระดับที่ควรเข้ามา คุณหมอจะแชตคุยให้เข้ามาโรงพยาบาล ตรวจแล้วคนไข้กลับบ้าน และคุณหมอสามารถเยี่ยมไข้ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ได้ด้วย


 

นายพิชิต ธันโยดม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านธุรกิจองค์กร บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า “แพลตฟอร์ม Teleclinic เป็นนวัตกรรมที่ทรูเร่งสร้างสรรค์ เพื่อช่วยเพิ่มศักยภาพด้านการสาธารณสุข สนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ และช่วยให้คนไทยสามารถก้าวผ่านวิกฤตในครั้งนี้ไปด้วยกัน

 

ซึ่งจะเป็นช่องทางให้คนไทยสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้มากขึ้น และยังสามารถปรึกษาแพทย์ได้ผ่านระบบแชตและวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ จึงช่วยลดความเสี่ยงติดเชื้อจากการเดินทางไปโรงพยาบาล อีกทั้งยังเป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยเพิ่มศักยภาพการทำงานสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ให้สามารถบริหารจัดการบุคลากรทางการแพทย์ที่มีจำกัดได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย สำหรับแอพพลิเคชั่น Chula Teleclinic เปิดให้ดาวน์โหลดฟรีแล้วที่ แอพพ์สโตร์ (App Store) และเพลย์สโตร์ (Play Store)

 

ทั้งนี้ ทรูได้ขยายความร่วมมือกับโรงพยาบาลชั้นนำทั่วประเทศอีกหลายแห่ง อาทิ แอพพลิเคชั่นตรวจคัดกรองความเสี่ยงโควิด-19 Vachira Phuket Teleclinic จากความร่วมมือกับโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต และแอพพลิเคชั่นจากโรงพยาบาลอื่นๆ ที่จะทยอยเปิดให้ดาวน์โหลดใช้บริการได้เร็วๆ นี้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง