Cover photo : ถ่ายภาพด้วยตนเอง หากคุณกำลังมองหาแหล่งเรียนรู้ธรรมชาติ วันนี้เรามีสถานที่แห่งหนึ่งมาแนะนำสำหรับชาวโคราช นั่นคือ สวนพฤกษศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี ซึ่งเป็นเสมือน “ห้องสมุดพรรณไม้ที่มีชีวิต” ให้กับนักศึกษาภายในมหาวิทยาลัยได้ศึกษา และนอกจากนี้บุคคลภายนอกยังสามารถที่จะเข้าเยี่ยมชมได้ด้วย สวนพฤกษศาสตร์ มทส ตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี อ.เมือง จ.นครราชสีมา ซึ่งดำเนินงานในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพฯ สร้างขึ้นเพื่อศึกษาความหลากหลายของพรรณไม้ในพื้นที่นี้ ซึ่งมีพรรณไม้ที่เป็นตัวบ่งบอกให้ทราบว่าผืนป่าแห่งนี้เคยเป็นป่าเต็งรังมาก่อน โดยทางมหาวิทยาลัยได้รวบรวมพันธุ์ไม้ พบว่ามีพรรณพืช 81 วงศ์ 195 สกุล 421 ชนิด ทั้งยังมีการอนุรักษ์พรรณไม้อีกหลายชนิด เช่น กุหลาบเหลืองโคราช หรือที่เรียกกันว่า “กล้วยไม้เหลืองโคราช” เป็นกล้วยไม้ที่พบได้เฉพาะในจังหวัดโคราชเท่านั้น ซึ่งมีกลิ่นที่หอมคล้ายกับกลิ่นตะไคร้ โดยจะออกดอกในช่วง เมษายน-พฤษภาคม ซึ่งจะให้ดอกเพียงปีละครั้งเท่านั้น ถ้าหากใครพลาดช่วงนี้ไปอาจจะต้องรอกันอีกนานเลยทีเดียว และนี่คือความพิเศษของมัน ถ้าหากนักท่องเที่ยวเข้ามาชมในช่วงมีกิจกรรมปล่อยกล้วยไม้ ทางสวนพฤกษศาสตร์จะมีกิจกรรมให้ร่วมด้วย Credit photo : เพจสวนพฤกษศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ภายในสวนพฤกษศาสตร์ แบ่งออกเป็นหลายโซน ไม่ว่าจะเป็น โซนพืชโบราณ ว่าน สวนแคคตัส พืชสมุนไพร พืชที่มีพิษ อุโมงค์พืชเถาว์ แนะนอกจากนี้ยังมีห้องจัดนิทรรศการเล็กที่รวบรวมข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับสวนแห่งนี้ โดยมีการบอกเล่าเรื่องราวและความเป็นมา ทั้งยังมีกิจกรรมเล็ก ๆ โดยโหลด Application ที่สามารถจะสแกนภาพสัตว์และทำให้มันเคลื่อนไหวได้เป็น 3D และที่สำคัญมีเส้นทางศึกษาธรรมชาติอยู่ทางด้านหลังของสวนพฤกษศาสตร์อีกด้วย ในขณะเดินป่าสามารถที่จะส่องนกได้ด้วย และถ้าหากอยากเห็นแบบชัด ๆ ข้างในมีหอดูนกที่จะสามารถขึ้น ไปส่องดูได้ และนอกจากนี้ยังมีกิจกรรมเก็บตัวอย่างพรรณไม้ โดยจะมีไกด์ คอยให้ความรู้ตลอดการเดินป่า Credit photo : เพจสวนพฤกษศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี โซนที่น่าสนใจอีกโซนก็จะเป็น พืชโบราณและว่าน ซึ่งพืชเหล่านี้ถูกเลี้ยงอยู่ในโรงเรือน ระหว่างทางเดินจะมีแนวกุหลาบกั้นขนาบข้างเรา และเดินไปอีกนิด จะมีอุโมงค์ม่อน ซึ่งเป็นอุโมงค์ที่ไม่ยาวมากนัก แต่ถ้าถ่ายรูปรับรองว่าใช้ได้เลยทีเดียว เมื่อเข้าไปถึงโรงเรือน จะเห็นว่าพรรณไม้จะถูกแยกเป็น 2 ฝั่ง โดยฝั่งแรกจะประกอบไปด้วยพืชโบราณ ได้แก่ พวกเฟิร์น มอส ลิเวอร์เวิร์ต ฮอนเวิร์ต ข้าหลวงหลังลาย เฟิร์นสไบนาง หญ้าถอดปล้อง กนกนารีแดง หญ้าถอดปล้อง เป็นต้น Credit photo : ถ่ายภาพด้วยตนเอง เมื่อหันไปอีกฝั่งจะเป็นพวกพืชที่มีหัวอยู่ใต้ดิน หรือพวกว่าน และมีโซนของต้นแคคตัส (Cactus) พืชอวบน้ำ (Succulent plants) หรือพืชชนิดต่างที่สามารถทนสภาพความแห้งแล้ง โดยมีวิวัฒนาการเปลี่ยนจากใบไปเป็นหนนามเพื่อลดการคายน้ำ และเพื่อป้องกันตัวมันเอง และที่น่าสนใจในบริเวณใกล้ ๆ จะพบว่า มีพืชกินแมลง Carnivorous Plant ซึ่งพืชเหล่านี้วิวัฒนาการเพื่อความอยู่รอดในดินที่มีสารอาหารน้อย มันจึงหาสารอาหารด้วยวิธีการดักกินแมลงตัวเล็ก ๆ เก็บเข้ากระเปาะ พืชในกลุ่มนี้ เช่น หม้อข้าวหม้อแกงลิง Credit photo : ถ่ายภาพด้วยตนเอง เมื่อเดินออกจากโรงเรือนแล้วเลี้ยวไปทางขวา จะมีสะพานไม้เล็กใหเราข้ามไป เมื่อก้าวเข้าไปบริเวณตรงนั้นจะเป็นวงกลม ซึ่งจะมีพรรณไม้อยู่มากมาย บริเวณตรงนี้เป็นสวนสมุนไพร ซึ่งจะรวบรวมสมุนไพรไว้หลายชนิด พร้อมทั้งมีการบรรยายสรรพคุณของแต่ละชนิดไว้ ไม่ว่าจะเป็น ตะไคร้หอม ข่า มะลิ อัญชัน ทองพันชั่ง ส้มป่อยไหลแดง ประทัดจีน และอีกมากมาย Credit photo : ถ่ายภาพด้วยตนเอง หลังจากชมสวนสมุนไพรเสร็จแล้ว สามารถที่จะเดินไปพักที่ศาลาเล็ก ๆ ซึ่งเรียกว่าเป็น ศาลาอโรคยา ที่จะมีน้ำดื่มสมุนไพรเย็น ๆ ให้ดื่มดับกระหาย คลายร้อนได้ และที่บริเวณเดียวกัน รอบ ๆ จะเป็นไม้ยืนต้นสูงประมาณ 4-5 เมตร จะพบว่าแต่ละต้นจะมีกล้วยไม้พรรณต่างๆติดอยู่ รวมทั้งเหลืองโคราชด้วย ซึ่งร่วมรื่นและมีบรรยากาศปลอดโปร่ง ทั้งยังมีสระน้ำเล็ก ๆอยู่ทางด้านหน้าศาลาเวลาที่ลมพัดมาจะทำให้เย็นสบาย และนี่ก็เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจที่เราอยากจะแนะนำ เราเชื่อว่าถ้ามีโอกาสอยากให้ลองขับรถมาสัมผัสสักครั้ง ท่านจะได้ทั้งความรู้ และได้สัมผัสกับบรรยากาศแบบ minimal กลับบ้านอย่างอิ่มเอมใจ และยังได้ภาพถ่ายสวยๆกลับบ้านอีกด้วยแน่นอน Credit photo : เพจสวนพฤกษศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี