รีเซต

มติเอกฉันท์ สภากทม. ฉลุยงบวาระแรก 7.9 หมื่นล้าน ตั้ง 62 กมธ.-ขีดเส้นส.ค.ต้องเสร็จ

มติเอกฉันท์ สภากทม. ฉลุยงบวาระแรก 7.9 หมื่นล้าน ตั้ง 62 กมธ.-ขีดเส้นส.ค.ต้องเสร็จ
มติชน
7 กรกฎาคม 2565 ( 17:43 )
85
มติเอกฉันท์ สภากทม. ฉลุยงบวาระแรก 7.9 หมื่นล้าน ตั้ง 62 กมธ.-ขีดเส้นส.ค.ต้องเสร็จ

เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 7 กรกฎาคม ที่ อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง น.ส.นฤนันมนต์ ห่วงทรัพย์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (สก.) เขตคลองสามวา ในฐานะโฆษกสภากทม. แถลงข่าวภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมสภากทม.สามัญ สมัยที่ 3 (ครั้งที่ 1) ประจำปี 2565 ว่า ตลอดการประชุมตั้งแต่เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคมที่ผ่านมา รวมระยะเวลาการอภิปรายกว่า 14 ชั่วโมง ซึ่งตลอดการประชุมได้การตอบรับจากนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ให้ความสนใจนโยบายเส้นเลือดใหญ่ และเส้นเลือดฝอย เพื่อจะดูแลภาคประชาชนได้อย่างเต็มที่ รวมถึงชี้แจงเรื่องงบประมาณในสำนักเขตทั้ง 50 เขต รวมถึงสำนักงานต่างๆ ของ กทม. และยังมีงบประมาณที่รัฐบาลจัดสรรมาให้ด้วย

 

น.ส.นฤนันมนต์ กล่าวว่า นอกจากนี้ ส.ก.จำนวน 36 คน ได้อภิปรายการตั้งงบประมาณของหน่วนงานทั้งด้านสาธารณสุข ความปลอดภัย การศึกษา น้ำท่วมขัง จัดเก็บภาษี การติดตั้งกล้อง CCTV ประบปรุงคุณภาพถนนตามตรอกซอกซอย โดยสก. ทุกคนได้อภิปรายภายใต้ความระมัดระวังและความรอบคอบ โดยคำนึงข้อจำกัดการไม่มีเอกสิทธิ์คุ้มครองสมาชิก จึงได้เน้นการอภิปรายตามหลักข้อเท็จจริง มีหลักฐานประกอบ ซึ่งทางผู้ว่าฯ กทม.ได้ตอบประเด็นข้อซักถาม และสรุปประเด็นปัญหาได้อย่างต่อเนื่อง

 

จนเวลา 15.30 น. สภากทม.ได้ลงมติเห็นชอบรับหลักการ ตามวาระที่ 1 ร่างข้อบัญญัตติกทม. เรื่อง งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 วงเงิน 79,000 ล้านบาทด้วยมติเห็นชอบ 46 เสียง ไม่เห็นชอบ 0 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 1 เสียง และมีมติตั้งคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัตติดังกล่าว จำนวน 62 ราย แบ่งเป็นฝ่ายสภากทม. 47 ราย และฝ่ายบริหาร 15 ราย กำหนดการพิจารณาแปรญัตติภายใน 15 วัน และจะนำเข้าสู่ที่ประชุมสภากทม. ให้ความเห็นชอบ ก่อนการประกาศใช้ข้อบัญญัติในวันที่ 18 สิงหาคม 2565 เพื่อทันให้หน่วยงานนำไปใช้ดูแลทุกข์สุขของพี่น้องประชาชนต่อไป

 

“ในการบริหารราชการกรุงเทพมหานคร แบ่งการทำงานออกเป็น 2 ส่วนหลัก คือ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ทำหน้าที่ในส่วนของฝ่ายบริหาร กำหนดนโยบาย และ สภากรุงเทพมหานคร ทำหน้าที่ในส่วนของฝ่ายนิติบัญญัติ ตรวจสอบ ติดตามการบริหารราชการของฝ่ายบริหาร เสนอและพิจารณาให้ความเห็นชอบข้อบัญญัติของกรุงเทพมหานคร รวมถึงการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีของกทม.ให้เกิดความคุ้มค่าและโปร่งใส โดยทั้งสองส่วนเป็นผู้ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ทำหน้าที่คนละมิติ แต่มีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือเพื่อประโยชน์และคุณภาพชีวิตที่ดีของชาวกรุงเทพฯ” โฆษก สภากทม. กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง