รีเซต

กทม. เปิดแคมเปญ “1 เขต พิชิต 2 จุดเสี่ยง เลี่ยงอุบัติเหตุ” ตั้งเป้าลด 118 จุดเสี่ยง

กทม. เปิดแคมเปญ “1 เขต พิชิต 2 จุดเสี่ยง เลี่ยงอุบัติเหตุ” ตั้งเป้าลด 118 จุดเสี่ยง
ข่าวสด
26 มกราคม 2565 ( 13:33 )
61

ข่าววันนี้ 26 ม.ค. ที่ศาลาว่าการกทม. นายชาตรี วัฒนเขจร รองปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กทม. ได้ขับเคลื่อนการบังคับใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ.การจราจรทางบก พ.ศ.2522 ผ่านศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนกรุงเทพมหานคร (ศปถ.กทม.) และศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนเขต (ศปถ.เขต) 50 เขต

 

โดยเมื่อปี พ.ศ. 2563-2564 ได้มีการสำรวจจุดนำร่อง 1 เขต 1 โซน ซึ่งสามารถลดอุบัติเหตุในเขตต่างๆ ได้ร้อยละ 10 จากจำนวน 174 จุด ดำเนินการแก้ไขแล้ว 152 จุด และตั้งเป้าหมายแก้ไขให้ครบทุกจุดภายในเดือน ก.ย. 65

 

 

นอกจากนี้ในปี 2565 ได้กำหนดตัวชี้วัดตามนโยบายของ ศปถ.เขต ลดจุดเสี่ยง จำนวนอย่างน้อย 118 จุด ภายใต้แนวคิด 1 เขต พิชิต 2 จุดเสี่ยง เลี่ยงอุบัติเหตุ พร้อมทั้งการสร้างเยาวชนเป็นผู้นำลดอุบัติเหตุ เด็กเริ่ม ผู้ใหญ่ร่วม ดำเนินการสร้างชุมชน รักษ์ความปลอดภัย ห่วงใยลูกหลานต้านอุบัติเหตุ โดยมีคู่มือสืบสวนอุบัติเหตุฉบับประชาชนในการขับเคลื่อนกิจกรรมดังกล่าว

 

 

นอกจากนี้ยังได้บรรจุหลักสูตรการเรียนการสอนเกี่ยวกับกฎและวินัยการจราจร ในกลุ่มวิชาเสริมสร้างประสบการณ์ชีวิต โดยเนื้อหาประกอบด้วยเรื่องกฎจราจรกฎแห่งความปลอดภัย การเสริมสร้างน้ำใจรักษาวินัยจราจร และชีวิตปลอดภัยกับวินัยจราจร เพื่อ ให้สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อตนเองและสังคม เพื่อเป็นการเสริมสร้างความรู้ภาคทฤษฎี และฝึกทักษะในภาคปฏิบัติให้สอดคล้องกับการเรียนการสอนด้านการจราจร จึงได้จัดการอบรมให้ความรู้ในโครงการเสริมสร้างวินัยจราจร ด้วย

 

 

แต่จากสถานการณ์โควิดในปี 2564 ทำให้ไม่สามารถจัดการอบรมได้ ในอนาคตสำนักการจราจรและขนส่ง จึงวางแผนฝึกอบรมในรูปแบบบทเรียนออนไลน์ ออกแบบการอบรมและกิจกรรมให้ความรู้โดยใช้เทคโนโลยี AR (Augmented Reality) ฝึกอบรมในรูปแบบเมืองจราจรจำลอง (ต้นแบบถนนสีขาว) โดยออกแบบและสร้างเมืองจราจรจำลองให้ครบทั้ง 6 กลุ่มเขต และจัดทำศูนย์บริหารจัดการเรียนรู้สำหรับเด็กและเยาวชน เพื่อจัดกิจกรรมการมีส่วนร่วม ร่วมคิด ร่วมทำปลุกพลังเยาวชน

 

 

พร้อมทั้งกำหนดให้โรงเรียนดำเนินการเรื่องความปลอดภัยในโรงเรียนสังกัดกทม. 9 มาตรการ ในการป้องกันจากอุบัติเหตุ อุบัติภัย รวมทั้งภัยที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ โดยมาตรการที่ 7 ได้กำหนดการเดินทางไป – กลับ โรงเรียนอย่างถูกวิธี มีความปลอดภัยจากการจราจร

 

สถานศึกษาต้องตระหนักและดูแลความปลอดภัยบนท้องถนนระหว่างนักเรียนเดินทางไป-กลับ โดยมีเจ้าหน้าที่เทศกิจ รวมทั้งขอความร่วมมือเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในการดูแลนักเรียนบริเวณหน้าโรงเรียนในขณะเดินทางไป – กลับ

 

 

ตลอดจนมีการอบรมเรื่องความปลอดภัยทางถนนให้กับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ในการจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้เรื่องความปลอดภัยบนท้องถนน ใน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน เพื่อสร้างความปลอดภัยและวินัยจราจรให้กับนักเรียน และร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ในการส่งเสริมและจัดกิจกรรมรณรงค์เรื่องความปลอดภัยบนท้องถนนอย่างต่อเนื่อง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง