สำหรับคนรักสัตว์เลี้ยง ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรถ้าความรักดังกล่าวจะดึงดูดใจให้คุณคอยถ่ายภาพของเหล่าสัตว์เลี้ยงของตัวเองอยู่สม่ำเสมอ จะด้วยเหตุผลกลใดก็แล้วแต่ เช่น ถ่ายเก็บเอาไว้เองดูเล่น หรือถ่ายเพื่อจะเอามาลงโซเซี่ยลอวดเพื่อนอวดญาติ แต่ว่าแน่นอน พอเป็นสัตว์เลี้ยง ไม่ว่าเราจะให้ข้าวให้น้ำ คอยดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างดี นั่นไม่ได้หมายความว่าสัตว์เลี้ยงทั้งหลายเช่นหมาและแมวจะยอมเป็นแบบให้เราถ่ายรูปได้โดยดี ไม่เกี่ยวว่าเราจะใช้กล้องมิลเลอร์เลส หรือกล้องจากมือถือถ่าย ภาพที่ได้หากเจ้าเหมียวเจ้าตูบไม่ยอมให้ความร่วมมือ ก็มักจะลงเอยด้วยการเป็นภาพที่ไม่ถูกใจคนถ่ายอยู่เสมอ เช่น แมวขยับตอนลั่นไกกดชัตเตอร์บ้าง ทำให้กลายเป็นเจ้าเหมียวเคลื่อนไหววูบวาบรวดเร็วไปในภาพนั้น หรือกำลังจะถ่ายอยู่แล้ว ดันหันหน้าหนีไปอีกทางแทนที่จะหันหน้ามองกล้องหรือมองในทิศทางที่เราต้องการ และการไปพยายามบังคับจัดระเบียบยิ่งจะกลายเป็นเรื่องราววุ่นวายเข้าไปใหญ่ ในฐานะที่ผู้เขียนมีประสบการณ์ถ่ายรูปสัตว์เลี้ยงเพื่อเอาไปอวดชาวบ้านและเป็นงานอดิเรกที่ดูเหมือนจะทำได้น่าพอใจ (เพราะได้เสียงชม) ก็ขอเอาประสบการณ์เล็กน้อยมาบอกเล่าบอกต่อ เพื่อหวังว่าจะช่วยให้ช่างภาพจำเป็นทำงานได้ง่ายขึ้นเมื่ออยากจะถ่ายภาพสัตว์เลี้ยงแสนรักนะครับ และแน่นอนว่าหลักการที่จะเขียนนี้ ไม่อิงกับรุ่นหรือประเภทของกล้องแบบใดทั้งสิ้น ใครจะใช้กล้องแบบไหนถ่ายก็ได้หมด 1. การเข้าใจกิจวัตรประจำวัน หมายถึงการรู้ว่าปกติสัตว์เลี้ยงของคุณนั้นจะชอบไปอยู่ตรงไหน นอนตรงไหน เล่นตรงไหนบ้างในแต่ล่ะช่วงของวัน ดูแล้วเหมือนเป็นเรื่องไร้สาระที่ไม่ค่อยจำเป็นเท่าไหร่ แต่การใส่ใจเรื่องพวกนี้จะทำให้คุณรู้ว่า สัตว์จะวางตัวอย่างไรในแต่ล่ะจุดที่คุณไปถ่าย เช่น มันมีความสบายใจเมื่ออยู่หน้าบ้านหรือเปล่า เพราะถ้าหากว่าคุณพยายามถ่ายรูปตรงหน้าบ้าน แล้วสัตว์เลี้ยงของคุณอาจจะมีคู่อริที่พันธุ์เดียวกันหรือคนล่ะพันธุ์ผ่านมา ทำให้หงุดหงิดวุ่นวายหัวใจ การถ่ายภาพก็จะเป็นไปได้ยาก สัตว์เลี้ยงควรอยู่ในจุดที่สบายและปลอดภัย ถ้าเป็นจุดที่ชอบอยู่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลที่ว่าลมตรงนี้เย็นสบาย หรืออะไรก็แล้วแต่ ขอแค่เป็นจุดที่สัตว์เลี้ยงของคุณชอบ การถ่ายภาพก็จะเป็นไปได้โดยง่ายมากขึ้นครับ 2. จัดวางองค์ประกอบภาพ การถ่ายภาพสัตว์เลี้ยงก็เหมือนคน ที่จะมีมุมที่หันมาทางซ้ายที่ดูดี หรือมุมที่หันทางขวาเข้าหากล้องแล้วดูอ้วนหรือดูหน้ากลม เราต้องเข้าใจรูปร่างหน้าตาของสัตว์เลี้ยงของเราด้วยประมาณหนึ่งว่าถ่ายมุมไหนถึงจะดูดีหรือถ่ายมุมไหนแล้วดูไม่ดี นอกจากนั้น โดยภาพรวมของการจัดวางองค์ประกอบภาพนั้น จะต้องวางตำแหน่งจุดสนใจของวัตถุหรือบุคคลที่เราถ่ายให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมในภาพ ซึ่งโดยทั่วไปคือจุดศูนย์กลางของภาพ รวมไปถึงความต้องการของคนถ่ายว่าอยากเน้นแค่หน้าของสัตว์เลี้ยง หรือถ่ายให้เห็นทั้งตัว ซึ่งความต้องการดังกล่าวนี้จะมีผลกับเรื่องขององค์ประกอบภาพที่เปลี่ยนไปด้วย ถ้าจัดองค์ประกอบภาพได้ดี ภาพก็จะออกมาน่าสนใจ 3. ความอดทน ไม่มีการถ่ายรูปสัตว์เลี้ยงรูปไหนที่ได้มาง่ายๆ เพราะอย่างที่บอกตอนต้นว่าบางครั้งเราก็ไม่ได้รับความร่วมมือ การต้องหลอกล่อหรือการอดทนรอคอยเพื่อให้สัตว์เลี้ยงของเราอยู่ในท่าที่เหมาะสมสวยงามก็เลยเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และอาจจะต้องยอมรับว่าในบางวัน ด้วยเหตุผลอะไรสักอย่าง เราอาจจะไม่ได้รูปที่ได้เรื่องเลยก็เป็นได้ แต่ในบางวัน เราก็อาจจะได้รูปที่สวยๆ หลายรูปก็เป็นได้ จะว่าไปก็ไม่ต่างอะไรกับการออกเรือไปบนทะเลเหมือนกัน ที่บางครั้งคลื่นก็แรงไปแล่นเรือออกไปไม่ได้ แต่บางครั้งลมก็สงบอย่างน่าประหลาด 4. ความรวดเร็วช่างสังเกตุ ในจังหวะที่ถ่ายภาพสัตว์เลี้ยง ตัวเราในฐานะคนถ่ายก็ต้องมีสมาธิเหมือนกัน เพราะบางครั้ง เพียงเสี้ยววินาทีเราก็อาจจะได้ภาพที่ใช่ แต่เพียงพริบตาเดียวภาพนั้นก็อาจจะหายไปเลยเพราะเราถ่ายไม่ทัน ดังนั้นช่างภาพจำเป็นเลยต้องมีสายตาของความเป็นเหยี่ยวพอสมควรครับ 5. การแต่งรูป เมื่อได้รูปมาแล้วบางครั้งอาจจะถ่ายในจังหวะชุลมุนที่ตำแหน่งและท่าทางของแมวออกมาดีเลย แต่แสงอาจจะสว่างไปหน่อย หรือเราอยากให้มีสีสันที่สดใสมากขึ้น เราก็ลองแต่งรูปเอาอีกทีก็ได้ ซึ่งโปรแกรมที่ใช้แต่งภาพก็มีหลากหลายโปรแกรมแล้วแต่ความถนัดของแต่ล่ะคน นี่คือเคล็บลับการถ่ายภาพสัตว์เลี้ยงที่ขอเอามาแบ่งปันให้ทุกคนได้อ่านกันนะครับ ขอให้สนุกกับการถ่ายภาพสัตว์เลี้ยงนะครับ