พอลูกสุนัขมีอายุพ้น 3 เดือนแล้ว คุณนุดผู้ปกครองก็คงพอจะหายใจโล่งขึ้นนะคะ เพราะเลยช่วง "3 เดือนอันตราย" ซึ่งเป็นช่วงที่ลูกสุนัขยังอ่อนแอและภูมิต้านทานโรคต่ำ มาแล้ว...อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายเรื่องสำคัญและแปลกใหม่ ที่คุณนุดจะได้พบ...ช่วงอายุ 4 - 6 เดือน ก็นับเป็นอีกช่วงวัยสำคัญของลูกสุนัข เพราะจะเป็นช่วงเปลี่ยนจากวัยเด็กตอนปลายสู่วัยรุ่นตอนต้น...ผู้เขียนจึงขอนำประสบการณ์การเลี้ยงลูกสุนัขในช่วงวัยนี้มาแบ่งปัน เพื่อช่วยคุณนุดเตรียมความพร้อม ให้เด็ก ๆ อันเป็นที่รักเติบโตและเปิดตัวสู่โลกภายนอกได้อย่างปลอดภัยและมีคุณภาพค่ะ1. ความเปลี่ยนแปลงทางร่างกายจากลูกสุนัขตัวกลม ๆ หน้ากลม ๆ ที่คล้ายกันทุก ๆ พันธุ์ น้องก็จะมีพัฒนาการทางร่างกายอย่างรวดเร็ว เป็นไปตามลักษณะของสายพันธุ์ ทั้งหน้าตา ลำตัว ขน หู หาง เป็นต้น น้ำหนักก็จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว...ลูกสุนัขตัวเล็กน่าทะนุถนอมหายไป กลายเป็นสุนัขวัยรุ่นมาแทนที่ บางรายก็ตัวใหญ่และหนักเกินที่จะอุ้มได้แล้วนะคะผ่านจากเดือนที่ 3 สู่เดือนที่ 4 กระดูกลูกสุนัขจะแข็งแรงขึ้นมาก...สังเกตเห็นได้จาก หูจะแข็ง ลูกสุนัขที่เป็นพันธุ์หูตั้ง ถ้าหูยังไม่ตั้งก่อนหน้านี้ ก็จะมาตั้งขึ้นในช่วงนี้ การเดินการวิ่งก็จะมั่นคงขึ้น...คุณนุดก็จะเล่นกับน้อง ๆ แบบปล่อยพลังได้มากขึ้น ในขณะที่ น้องก็จะเล่นได้รุนแรงมากขึ้นเช่นเดียวกันค่ะฟันแท้ซี่ใหญ่ จะขึ้นแทนฟันน้ำนมเล็ก ๆ คม ๆ ในช่วงอายุ 4 - ุ6 เดือน...คุณนุดจะเห็นฟันน้องหลุดหรือไม่นั้น อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยค่ะ...ใครที่เล่นกับลูกสุนัขและถูกเขางับ ก็จะรู้สึกได้เลยว่า ฟันของน้องจะเปลี่ยนจากฟันเล็ก ๆ คม ๆ กลายเป็นฟันใหญ่ ๆ ถึงไม่คมเท่า แต่แรงงับก็มากขึ้นมาก ๆ ค่ะ2. ความเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมและอารมณ์พอพ้น 3 เดือน ที่ร่างกายเจริญเติบโตและมีกำลังมากขึ้น ประสาทสัมผัสก็จะทำงานได้ดีขึ้น ทั้งการมองเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น น้องจะเริ่มสนอกสนใจต่อความเป็นไปของสิ่งต่าง ๆ รอบตัวมากขึ้น...พูดง่าย ๆ คือ น้อง (มีแนวโน้มที่จะ) ซนมากขึ้น เพราะมีโลกใหม่กับสิ่งมากมายรอบตัวให้น้องได้สำรวจและเรียนรู้ค่ะน้องมีความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น รู้ว่าอะไรที่ตัวเองชอบหรือไม่ชอบ...แม้น้องจะไม่ใช่เด็กที่พร้อมทำตามที่เราจับอุ้มจับวางเหมือนเดิม แต่น้องก็จะผูกพันกับคนรอบตัวมากขึ้น...น้องจึงแสดงอาการขัดใจ โกรธ โมโห งอน เบื่อ ฟ้อง เถียง ฯลฯ ได้ชัดเจนพอ ๆ กับการแสดงความรัก ชอบ ดีใจ ขอโทษ ขอ ชวน ฯลฯ ค่ะการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย เช่น ฟันน้ำนมโยก/หลุด ฟันแท้ขึ้นแทน ประสาทสัมผัสที่ทำงานดีขึ้น ร่างกายที่เพิ่มขนาดและน้ำหนักอย่างรวดเร็ว เป็นต้น อาจทำให้น้องต้องปรับตัวปรับใจสักระยะ...เราอาจได้พบว่า น้องไม่ยอมกินอะไรที่เคยกินตอนเด็ก ๆ แล้ว น้องอยากทดลองกินของใหม่ ๆ ที่คุณนุดกิน น้องชอบแทะชอบดึงนู่นนี่ (เช่น เบาะ ขาโต๊ะ พรมเช็ดเท้า รองเท้า กิ่งไม้ใบไม้)...บางทีเราก็อาจได้เห็นว่า น้องเหมือนเด็กวัยรุ่นที่งง ๆ ทำตัวไม่ถูกว่า จะอยู่ตรงไหนแบบไหนดี จะทำอะไรดี คุณนุดก็มีหน้าที่ให้ความเข้าใจและช่วยน้องในการปรับตัวค่ะผลจากพัฒนาการทางร่างกายและอารมณ์ เราจะเริ่มเห็นน้องแสดงพฤติกรรมและอารมณ์ตามสัญชาตญาณของสุนัข...การแสดงอาการปกป้องตนเอง - เจ้าของ - ทรัพย์สิน เช่น เห่า ขู่ แยกเขี้ยว และการไล่ล่าหรือต่อสู้กับสัตว์อื่น จะรุนแรงมากจะน้อยก็ขึ้นกับนิสัยและสายพันธุ์ค่ะคงจะเป็นเพราะน้องมีปากและฟันที่ใหญ่ขึ้น รวมทั้งประสาทสัมผัสต่าง ๆ ทำงานดีขึ้น จึงสังเกตได้ว่า น้องจะไม่ชอบอาหารที่เละ ๆ ชิ้นเล็ก ๆ เหมือนเดิมแล้ว...นอกจะเปลี่ยนสูตรอาหารตามช่วงวัยและสายพันธุ์แล้ว ถ้าคุณนุดเตรียมอาหารให้น้องเอง ก็อาจทำชิ้นใหญ่ขึ้นอีกนิด และมีความกรุบกรอบขึ้น เพื่อให้น้องกินได้ดี...เพราะเด็กวัยนี้เป็นเหมือนวัยรุ่นเบื่อข้าว กินแต่ขนมหรือของชอบ และบางรายก็ประท้วงไม่กินถ้าไม่ชอบใจค่ะ3. พัฒนาการด้านความฉลาดจากที่เป็นเด็กไม่ค่อยรู้เรื่องรู้ราวอะไร พอขึ้นเดือนที่ 4 ลูกสุนัขก็จะสามารถจดจำสมาชิกในครอบครัว รวมทั้งชื่อหรือคำเรียกสำหรับแต่ละคน และรับรู้อารมณ์ของเราได้ค่ะ...ความผูกพันกับเจ้าของจะเพิ่มขึ้นมาก ๆ โดยสามารถแบ่งแยกได้ด้วยว่าเขาสามารถทำตัวอย่างไร (อ้อน เล่นซน ดื้อ เชื่อฟัง เป็นต้น) กับคนไหนได้ค่ะจากที่น้องเรียนรู้และเข้าใจคำสั่งหรือคำพูดง่าย ๆ (เช่น "สวัสดี" "ขอมือ" "มาแล้ว" "ไม่" "อย่า" "รอ" เป็นต้น) ได้ตั้งแต่ช่วงอายุ 2 - 3 เดือน พอขึ้นเดือนที่ 4 การทำตามคำสั่ง ดูเหมือนเป็นเพราะน้องเข้าใจคำสั่ง มากกว่าเพียงแค่จดจำได้ และเข้าใจมากขึ้นในรายละเอียด (เช่น จำชื่อของเล่น เป็นต้น) จนบางครั้งเราก็รู้สึกว่า น้องโตเร็วเกินไปรึเปล่า เชียวนะคะ...แต่ข่าวร้ายก็คือ ความดื้อไม่ยอมทำตามคำสั่ง ก็จะมากขึ้นเช่นกันค่ะจากสิ่งที่น้องทำตามที่คุณนุดฝึกให้ทำตอนเด็ก ๆ (เช่น การขับถ่าย ที่กินที่นอน ที่เก็บของเล่น เป็นต้น) มาถึงตอนนี้ ก็กลายเป็นนิสัยไปโดยปริยาย...คุณนุดก็จะได้ชื่นใจเมื่อเห็นผลของการฝึกน้องตั้งแต่เด็ก ในช่วงนี้แหละค่ะน้องจะสามารถสื่อสารกับเราด้วยเสียงหรือท่าทางได้ชัดเจนขึ้น...แต่ก็ยังเป็นช่วงที่ต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจกันทั้งสองฝ่ายค่ะ4. ความต้องการด้านสุขภาพถ้าคุณนุดพาน้องไปฉีดวัคซีนและรับยาต่าง ๆ ตั้งแต่ในช่วงอายุ 2 - 3 เดือน พอขึ้นเดือนที่ 4 น้องก็จะเหลือวัคซีนพิษสุนัขบ้าที่ต้องฉีด (เข็มที่ 2 หรือทั้ง 2 เข็ม) เท่านั้น...ปีต่อไปถึงจะพาน้องกลับไปฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นสำหรับโรคต่าง ๆ อีกค่ะควรฉีดยาหรือให้น้องกินยาถ่ายพยาธิชนิดต่าง ๆ และป้องกันเห็บหมัด เป็นประจำ เช่น ทุก 3 เดือน หรือตามรอบที่คุณหมอแนะนำค่ะ5. การเปลี่ยนแปลงอื่น ๆเครื่องนอน ผ้าเน่าของน้องที่น้องนอนกอดนอนดูดตั้งแต่เด็ก ๆ มาถึงตอนนี้คงห่มหรือใช้อะไรไม่ได้มาก นอกจากเป็นของเล่น เพราะมันก็ย่อมเยินไปตามกาลเวลา แถมมีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับขนาดตัวน้อง...ก็ถึงเวลาที่คุณนุดควรหาเบาะรองและผ้าห่มที่หนาขึ้น ขนาดใหญ่เพียงพอ และเป็นไปตามที่น้องชอบค่ะจานชาม ขนาดตัวที่ใหญ่ขึ้น และเรี่ยวแรงที่มากขึ้น ทำให้จานชามบอบบาง ๆ น่ารัก ๆ น้ำหนักเบา ๆ ที่น้องใช้มาแต่เด็ก อาจไม่เหมาะกับน้องแล้ว...ก็ถึงเวลาที่คุณนุดควรเปลี่ยนจานชามให้ใหญ่ หนัก แข็งแรงขึ้น ทั้งเหมาะกับขนาดและความสูงของน้อง และป้องกันไม่ให้น้องเอาไปเล่นเป็นของเล่นด้วยค่ะของเล่น น้องจะเล่นรุนแรงขึ้น แถมยังชอบแทะ ลิ้มรส เคี้ยว และกลืนวัสดุต่าง ๆ โดยเฉพาะอะไรที่คุณนุดห้าม...ดังนั้น ของเล่นที่เหมาะสมสำหรับลูกสุนัขในช่วงวัยนี้ ควรมีความแข็งแรง ไม่แตกหักเป็นชิ้นเล็ก ๆ ง่าย ๆ...และนอกจากให้ของเล่นแล้ว คุณนุดก็ควรดูแลสอดส่องพฤติกรรมของน้องเวลาเล่นของเล่นอยู่เสมอ เพื่อป้องกันเหตุไม่พึงประสงค์ เช่นกินของเล่นค่ะโดยภาพรวม ลูกสุนัขเมื่อพ้นช่วงอายุ 3 เดือนแล้ว ร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและชัดเจน แม้การที่ต้องดูแลประคบประหงมกันเหมือนตอนเป็นเด็กเล็ก ๆ จะน้อยลง แต่ต้องการการสอดส่องพฤติกรรมอย่างใกล้ชิดแทนค่ะ เพราะมีเรื่องใหม่ ๆ มากมายที่เราต้องสอนให้น้องเรียนรู้...การเอาใจใส่ต่อความเป็นอยู่และพฤติกรรมต่าง ๆ ของลูกสุนัขในช่วงวัยนี้ มีส่วนอย่างมากต่อการเสริมสร้างพัฒนาการทางร่างกายและสมองอย่างต่อเนื่องจากช่วงวัยเด็กเล็ก และส่งผลมากต่อสุขภาพกายใจ ความฉลาด และนิสัยตลอดชีวิตของน้องค่ะแล้วพบกันใหม่ในตอนต่อไปนะคะ...ด้วยความปรารถนาดีจาก มรรษยวรินทร์(ภาพประกอบทั้งหมด โดย มรรษยวรินทร์) เปิดประสบการณ์ความบันเทิงที่หลากหลายสุดปัง บน App TrueID โหลดเลย ฟรี !