รีเซต

สธ.แนะเปิดเทอมติดโควิด 1-2 ห้อง ไม่ต้องปิด ร.ร. เว้นมีคลัสเตอร์

สธ.แนะเปิดเทอมติดโควิด 1-2 ห้อง ไม่ต้องปิด ร.ร. เว้นมีคลัสเตอร์
มติชน
19 มกราคม 2565 ( 15:30 )
47
สธ.แนะเปิดเทอมติดโควิด 1-2 ห้อง ไม่ต้องปิด ร.ร. เว้นมีคลัสเตอร์

เมื่อวันที่ 19 มกราคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย แถลงถึงมาตรการความปลอดภัยจากโรคโควิด-19 ในโรงเรียน ว่า สถานการณ์โรคโควิด-19 ในช่วงเดือนมกราคม 2565 พบว่า มีการติดเชื้อเพิ่มขึ้น โดยเด็กอายุ 13-19 ปี จะมีอัตราการติดเชื้อมากกว่าเด็กกลุ่มอื่น ส่วนความรุนแรงของโรคพบว่า ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2564 – วันที่ 18 มกราคม 2565 มีเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เสียชีวิต 1 คน ถือเป็นอัตราที่ค่อนข้างต่ำ ส่วนการรับวัคซีนของเด็กนั้น พบว่า เด็กนักเรียนอายุ 12-18 ปี จำนวน 5 ล้านคน ได้รับเข็มที่ 1 จำนวน 4.5 ล้านคน คิดเป็น ร้อยละ 88.44 เข็มที่ 2 จำนวน 4.09 ล้านคน คิดเป็น ร้อยละ 79.66 และมีการขอรับวัคซีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนเด็กนักเรียนอายุ 5-11 ปี นั้น วัคซีนเด็กจะเข้ามาปลายเดือนมกราคม 2565

 

 

นพ.สราวุฒิ กล่าวว่า เมื่อโรงเรียนเปิดให้เด็กกลับมาเรียนในโรงเรียนแล้ว จะต้องมีมาตรการที่เข้มข้นในการคัดกรอง ป้องกันโรค มีแผนเผชิญเหตุ เช่น สวมหน้ากาก ล้างมือ คัดกรองอุณหภูมิก่อนเข้าเรียน ลดความแออัดในห้องเรียน ทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วมบ่อยๆ ครู นักเรียน ฉีดวัคซีน การรับประทานอาหาร ต้องมีช้อนกลางส่วนตัว เป็นต้น โดยขณะนี้ศูนย์บริหารสถานการณ์โรคโควิด-19 (ศบค.) ชุดเล็ก ได้อนุมัติให้เด็กกลับมาเรียนในโรงเรียนได้หรือ การเรียนแบบออนไซด์ เกือบทุกพื้นที่แล้ว ขอให้โรงเรียนปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเข้มข้น เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับพ่อแม่ ผู้ปกครองและชุมชน

นพ.สราวุฒิ กล่าวว่า สำหรับแผนเผชิญเหตุเมื่อโรงเรียนพบการติดเชื้อ ควรปฏิบัติดังนี้ กรณีพบการติดเชื้อ 1 ห้องเรียน จำนวน 1-2 คน ให้ปิดห้องเรียนนั้น 3 วัน และทำความสะอาด นำผู้ติดเชื้อเข้าระบบการรักษา ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ให้หยุดเรียนและเรียนออนไลน์ ผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำให้เรียนออนไซด์ต่อไปและต้องสังเกตอาการ ไม่ต้องหยุดเรียนทั้งโรงเรียน กรณีติดเชื้อมากกว่า 2 คนและมากกว่า 1 ห้องเรียน ให้ปิดห้องเรียนนั้น 3 วัน และทำความสะอาด ไม่ปิดทั้งโรงเรียน งดกิจกรรมรวมกลุ่มทุกกิจกรรม ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงให้หยุดเรียนและเรียนออนไลน์ ผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำให้เรียนออนไซด์ต่อไปและต้องสังเกตอาการ ทั้งนี้ กรณีพบเด็กติดเชื้อเป็นคลัสเตอร์ ให้จัดศูนย์กักตัวในโรงเรียน การพิจารณาปิดโรงเรียนให้ทำโดยคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด

“เรามีข้อมูลที่ชัดเจนว่า ส่วนใหญ่เด็กนักเรียนจะติดเชื้อจากคนในครอบครัว ดังนั้น จะต้องทำให้ครอบครัวมีความเสี่ยงต่ำที่สุด และมีภูมิคุ้มกันสูงสุด โดยจัดสิ่งแวดล้อมในบ้านให้สะอาด ทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วมในบ้านบ่อยๆ และปฏิบัติตนเองให้ปลอดภัย ด้วยการล้างมือบ่อยๆ ถ้าไปพื้นที่เสี่ยงมา ขอให้สวมหน้ากากอนามัยในบ้าน ไม่รวมกลุ่มกับเด็ก ผู้สูงอายุ ทั้งนี้เราพบว่า ยังมีเด็กนักเรียน ร้อยละ 10 ที่ยังไม่รับวัคซีน ขณะที่ผู้ปกครอง ก็ยังไม่รับวัคซีนอีก ร้อยละ 10 เช่นกัน กรณีเด็กซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงและจำเป็นต้องไปโรงเรียน ขอให้ผู้ปกครองติดต่อขอรับวัคซีน ซึ่งกระทรวงจัดเตรียมไว้อย่างเพียงพอ” นพ.สราวุฒิ กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง