รีเซต

Exotic food หนอน-แมลงเพื่อสัตว์เลี้ยงหายาก

Exotic food หนอน-แมลงเพื่อสัตว์เลี้ยงหายาก
เทคโนโลยีชาวบ้าน
30 พฤศจิกายน 2564 ( 12:05 )
264
Exotic food หนอน-แมลงเพื่อสัตว์เลี้ยงหายาก

ถ้าใครเคยเลี้ยงงูที่เพาะเลี้ยงจากฟาร์มทั้งแบบมีพิษและไม่มีพิษ หรือสนใจด้านการเลี้ยงงูเป็นพิเศษ จะทราบว่า ‘อาหาร’ สำหรับงูเป็นกลุ่มสินค้าเฉพาะกลุ่มที่ขายดีและเป็นที่ต้องการของตลาดสูง ในวงการเรียก ‘หนูไมค์’ ที่เพาะเลี้ยงง่าย ขายได้ตั้งแต่ตัวอ่อนแรกเกิด การขายแบ่งตามขนาดของหนู ราคาตั้งแต่ตัวละ 10-50 บาท ขายทั้งแบบเป็นๆ หรือแบบแช่แข็ง แถมการเพาะเลี้ยงก็ทำได้ง่าย พ่อแม่พันธุ์หนูไมค์ตัวผู้ 1 ตัวต่อตัวเมีย 5 ตัว หนูไมค์จะสามารถขยายพันธุ์ได้เร็วมาก โดย 1 เดือน ก็สามารถออกลูกครั้งละ 10-15 ตัวต่อแม่พันธุ์ นี่จึงเป็นอาชีพยอดนิยมที่เคยเป็นกระแสอยู่ช่วงหนึ่ง

 

ที่หยิบยกหัวข้อการเลี้ยง ‘หนูไมค์’ มาก็เพื่อจะเท้าความถึงอาหารเพื่อสัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษ สัตว์แปลก สัตว์หายาก (Exotic Pet) อาทิ เม่นแคระ, กิ้งก่า, อีกัวน่า, มังกรเครา, poison frog Salamander, นกคอคคาเทล, นกแก้วมาคอร์, กระรอกบิน, ชูการ์ไกรเดอร์, เฟอเรท, เต่าซัลคาตา, กระต่าย, แฮมสเตอร์ และแมงมุม ซึ่งสัตว์เหล่านี้จะได้รับอนุญาตให้สามารถเลี้ยงได้ เพาะพันธุ์และซื้อขายได้

 


ขณะที่อาหารที่สัตว์เหล่านี้กินคือแมลงต่างๆ ทำให้ธุรกิจการเลี้ยงแมลงเป็นอาหารเพื่อสัตว์พิเศษ จึงเป็นธุรกิจแปลกใหม่ที่คนให้ความสนใจในขณะนี้ ซึ่งโดยทั่วไปวัตถุประสงค์การเพาะเลี้ยงแมลงในโรงเรือนแบ่งเป็น 2 ประเภท

 

  1. คือการเพาะเลี้ยงเพื่อเป็นอาหารซึ่งการบริโภคแมลงเป็นอาหาร มีคำศัพท์เฉพาะในทางวิชาการเรียกว่า‘Entomophagy’ โดยองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nation หรือ FAO) ระบุว่า มีแมลงที่เหมาะนำมาเป็นอาหารเพื่อการบริโภคของมนุษย์จำนวนมากกว่า 1,900 สายพันธ์ทั่วโลก ซึ่งเกือบ 500 สายพันธุ์ เป็นแมลงที่มีการบริโภคเป็นอาหารในหลายประเทศอยู่แล้ว เช่น ตั๊กแตน มด ผึ้ง หนอน ผีเสื้อ และจิ้งหรีด ประมาณว่าประชากร 2 พันล้านคนทั่วโลกเคยบริโภคแมลง และถูกจัดเป็นอาหารใหม่ (Novel Food )ในสหภาพยุโรป ควบคู่กับเทรนด์ความยั่งยืนอาหารโลก ซึ่งมีการพัฒนาไปในรูปแบบของโปรตีน (ทางเลือก) แบบผง
  2. การเพาะเลี้ยงเพื่อธุรกิจอาหารสัตว์โดยเฉพาะอาหาร ไก่ ปลา และสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะอาหารสุนัข ปัจจุบันมีการนำโปรตีนจากแมลงมาทดแทนปลาป่นซึ่งมีต้นทุนที่ต่ำกว่า ตัวอย่างเช่น ในยุโรปมีการเพาะเลี้ยงตัวอ่อนแมลงวัน (Hermetia illucens) ซึ่งต่างจากแมลงวันบ้าน โดยมีขนาดตัวใหญ่กว่า ไม่เป็นพาหะหรือตัวนำเชื้อโรคให้กับมนุษย์ ไม่เป็นศัตรูพืช รวมถึงเป็นผู้ย่อยสลายตามธรรมชาติที่มีประสิทธิภาพ หนอนแมลงวันลายในระยะตัวเต็มวัยไม่จำเป็นต้องกินอาหารใดๆ ช่วงที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้มากที่สุด คือช่วงที่ยังเป็นตัวหนอน(Larvae) ซึ่งสามารถทำให้แห้งแล้วป่นเป็นอาหารสัตว์
  3.  

ส่วนกลุ่มที่ 3 ที่เราหยิบยกมาเป็นกลุ่มพิเศษ คือ การเพราะเลี้ยงแมลงแบบโรงเรือนแบบปิดเพื่อสัตว์เลี้ยงพิเศษ หรือที่เรียกว่า Exotic food ตามที่ระบุไว้ในข้างต้น และกลุ่มนี้นับเป็นตลาด Niche Market ที่น่าสนใจมาก อาทิ Exofood Thailand ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัพด้าน Agritech ที่มีการทำฟาร์มแมลงระบบปิด ผสานการเลี้ยงแมลงด้วยการใช้เทคโนโลยี ทำให้สามารถเคลมได้ว่า เป็นแมลงที่มีการเพาะเลี้ยงจากกระบวนการที่สะอาด ถูกสุขอนามัย และมีมาตรฐาน โดยต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์หนอน-แมลงอบแห้งสำเร็จรูป พร้อมให้สัตว์เลี้ยงรับประทาน

 

รวมทั้งมีไอเดียต่อยอดไปถึงการผลิตอาหารแห่งอนาคตสำหรับมนุษย์ ซึ่งนับได้ว่าเป็นกลุ่มสตาร์ทอัพรายแรกๆ ที่มีการนำความรู้ด้านงานวิจัย เทคโนโลยีการเกษตร และเมกะเทรนด์ของโลกมาปรับใช้สำหรับการทำธุรกิจ อาทิ Uncleree Farm ที่มีการเลี้ยงแมลงเพื่อทำเป็นอาหารอย่างจริงจัง เรียกได้ว่าเป็นที่สนอกสนใจของสังคมในขณะนี้เป็นอย่างมาก โดยหนอนและแมลงที่นิยมเลี้ยงเพื่อเป็นอาหารสัตว์ อาทิ

 

หนอนแหลงวันลาย (Hermetia Illucens) ที่มีโปรตีนสูง มีส่วนผสมของกรดอะมิโนที่จำเป็น มีความสามารถในการย่อยสูง เหมาะใช้สำหรับการเลี้ยงสัตว์ทางการเกษตร สัตว์น้ำ และนก

 

ตัวอ่อนหนอน BSFL (LIVE Black Soldier Fly Larvae) เป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง เหมาะสำหรับสัตว์เลี้ยง เช่น สัตว์ปีก สัตว์เลื้อยคลาน ปลา หรือแบบหนอน BSFL อบแห้ง (FLASH-DRIED Black Soldier Fly Larvae) ที่เป็นอาหารสำหรับสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข แมว สัตว์ปีก สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก และสัตว์กินแมลงอื่นๆ

 

หนอนนก (Tenebrio molitor) ปัจจุบันนิยมเพาะเลี้ยงเป็นสัตว์เศรษฐกิจ มีโปรตีน ไขมัน เยื่อ ใย เถ้า ไลซีน และเมทไธโอนีน โดยมีความสำคัญใช้เป็นอาหารสำหรับสัตว์เลี้ยงชนิดต่างๆ จากการวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการพบว่า หนอนนกมีคุณค่าทางโภชนาการใกล้เคียงกับปลาป่นที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์

 

หนอนด้วงควาย (Alphitobius diaperinus) ที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ในต่างประเทศนิยมเพาะเลี้ยงเพื่ออุตสาหกรรมอาหารสัตว์ หรือแม้แต่อาหารเพื่อมนุษย์ก็มีการนำหนอนด้วงควายมาเพาะเลี้ยงซึ่งทำได้ง่าย สะดวก ต้นทุนต่ำ

 

หลายคนอาจสงสัยว่า ข่าวก่อนหน้านี้ ‘จิ้งหรีด’ (Cricket) ก็ได้รับความนิยมนำมาเป็นอาหารมนุษย์ หรือแม้แต่ในอาหารสัตว์เช่นกัน ทว่าเมื่อดูจากต้นทุนภาคการผลิตที่เปรียบเทียบว่า จิ้งหรีดเลี้ยงยากกว่าและมีราคาแพงกว่าหนอนนั่นเอง

 

อย่างไรก็ตาม เทรนด์แมลงที่เราหยิบยกมากล่าวถึงบ่อยๆ นี้ จะเป็นเทรนด์สำหรับธุรกิจที่กำลังมองหา New Business Model อาจจะสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดได้ เพราะตามที่ระบุไว้ในข้างต้น นอกจากจะสามารถเป็นอาหารมนุษย์ได้แล้ว ยังสามารถนำมาเป็นอาหารสัตว์ได้อีกด้วย

 

ที่สำคัญในอนาคตอันใกล้นี้ การเลี้ยงปศุสัตว์อาจจะต้องมีการทบทวนเรื่องการปล่อยก๊าซมีเทนสู่ชั้นบรรยากาศ เป็นหนึ่งในตัวการที่ทำให้โลกร้อนขึ้น ขณะที่การเพาะเลี้ยงแมลงในระบบปิดไม่เพียงมีต้นทุนที่ต่ำกว่า ยังมีส่วนช่วยลดการปล่อยก๊าซมีเทนและก๊าซ

 

คาร์บอนไดออกไซด์ได้อีกด้วย ดังนั้น หนอน และแมลงจึงเป็นทางเลือกสำหรับโปรตีนในอนาคตอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นสำหรับคนหรือสัตว์ก็ตาม

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม