วิธีแก้ส้วมตันด้วยตัวเอง ปัญหาสิ่งปฏิกูลใกล้ตัว / บทความโดย Pchalisaเคยสงสัยไหมคะว่าทำไมส้วมถึงตัน? และจะมีวิธีแก้ไขปัญหานี้อย่างไรบ้าง? ซึ่งปัญหานี้ถ้าจะพูดว่าในทุกบ้านจะเจอ ก็คงจะไ่ผิดค่ะ เพียงแต่ว่าจะเจอช้าหรือเร็วกว่ากันเท่านั้นเอง ส้วมตัน ส้วมเต็ม ส้วมราดไม่ลง ไม่ว่าจะพูดคำไหนก็ตามแต่ โดยความหมายของสถานการณ์เหล่านี้ เราหมายถึงการที่ส้วมแบบนั่งยองหรือแบบชักโครก ไม่สามารถทำหน้าที่กำจัดสิ่งปฏิกูลจากที่เราไปขับถ่ายได้ ต่อจากนั้นไม่นานเหตุการณ์นี้จะกลายเป็นปัญหาส่วนตัว เพราะเราต้องยืนเฝ้าและคิดจนปวดหัวว่าจะทำยังไงต่อดี? เพื่อจัดการกับปัญหาส้วมตันที่กำลังเกิดขึ้น และถ้าปัญหานี้แก้ไขไม่ได้ ก็จะกลายมาเป็นปัญหาส่วนรวมขึ้นมาหลังจากนั้น ที่อาจเป็นปัญหาของบ้านเรา ปัญหาส้วมตันของสำนักงานเรา ปัญหาของร้านเรา จริงไหมคะ!? และยิ่งหนักไปอีกถ้าส้วมดันมาตันตอนหน้าฝน เพราะความยากในการแก้ไขก็จะซับซ้อนมากขึ้น จนบางคนรู้สึกรำคาญใจกับส้วมตัน จนต้องส่ายหัว!แต่คุณผู้อ่านรู้ไหมคะว่า ส้วมตันเราสามารถแก้ไขได้ด้วยตัวเอง ที่ไม่ได้หมายความว่าโทรไปหาคนอื่นให้มาแก้ไขให้นะคะ แต่เจ้าของบ้านสามารถจัดการปัญหาได้ เพราะผู้เขียนก็ทำมาแล้ว และยังได้มีประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องส้วมต้นส้วมเต็มมาพอสมควร ดังนั้นในบทความนี้จะมาไขข้อข้องใจและเปิดเผยเคล็ดลับเด็ดๆ ในการแก้ไขปัญหาส้วมตันด้วยตัวเองค่ะ ที่คุณผู้อ่านสามารถนำไปใช้ได้ทันที แต่ก่อนจะลงลึกไปในส่วนของการแก้ไขส้วมตันนั้น คุณผู้อ่านควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับถังเกรอะ หรือที่บางคนเรียกว่าถังส้วมก่อนสักนิด เพราะมันจะทำให้เรามองภาพออกมากขึ้น จากนั้นเราถึงจะเลือกแนวทางมาแก้ไขส้วมต้นด้วยตัวเองได้แบบเป็นขั้นเป็นตอนมากขึ้น งั้นอ่านต่อกันเลยดีกว่่า ทำไมส้วมจึงตันและเต็ม!?จริงๆ แล้ว ปัญหาส้วมตันสามารถเกิดขึ้นได้กับ 3 ตำแหน่งของถังเกรอะค่ะ อย่างแรกคือ ส่วนของท่อน้ำเข้าถังเกรอะ จุดที่ 2 คือ ท่อระบายอากาศ และสุดท้ายคือจุดทางน้ำออก โดยทั้งสามจุดนี้เมื่อเกิดปัญหาแล้วเราจะไม่เห็นสามารถมองเห็นด้วยตาว่าเกิดอะไรขึ้นในสามจุดนี้ แต่เราจะเจอส้วมตันหรือส้วมเต็มก่อนเสมอ จากนั้นถ้าเป็นคนที่มีความรู้เรื่องนี้ เมื่อเห็นส้วมตันเกิดขึ้น เขาจะคาดการณ์ไปที่จุดสามจุดนี้ว่าน่าจะเป็นส่วนไหนที่กำลังมีปัญหาเกิดขึ้น และอะไรน่าจะเป็นต้นเหตุในระหว่างนั้นค่ะ1. ปัญหาที่ท่อน้ำเข้าถังเกรอะ โดยส่วนมากแล้วปัญหาที่เกิดขึ้นในจุดนี้ ต้องขอบอกก่อนค่ะว่า ส่วนใหญ่แล้วเป็นเรื่องของขยะค่ะ โดยธรรมชาติสิ่งปฏิกูลสามารถย่อยสลายได้ จึงยากที่จะพูดว่าที่ท่อน้ำเข้าถังเกรอะตันเพราะสิ่งปฏิกูลค่ะ และจริงค่ะที่ผ่านมานั้น ผู้เขียนพบว่าขยะที่เราสามารถหยิบติดมือทั้งนั้น โดยเฉพาะผ้าอนามัย ขยะกับน้ำเสียต้องแยกออกจากกันค่ะ ที่ขยะจะต้องนำไปกำจัดแบบขยะ แต่ถ้าเป็นน้ำเสียและสิ่งปฏิกูล ก็ให้จัดการแบบน้ำเสียและสิ่งปฏิกูล แต่พอเรานำขยะมารวมกับของเสียในถังเกรอะ จึงทำให้ส้วมตันขึ้นมานั่นเอง2. ปัญหาที่ท่อระบายอากาศหลายคนยังไม่เคยรู้ว่า การที่มีสูญญากาศเกิดขึ้นในชักโครกนั้น มักเกิดจากที่เมื่อเราใช้น้ำชำระล้างในชักโครก อากาศภายในท่อจะถูกดันออกไป ทำให้เกิดความดันลดลง หากระบบระบายอากาศทำงานได้ไม่ดี อากาศจะเข้ามาแทนที่ไม่ทันนะคะ จากนั้นจะทำให้เกิดสุญญากาศขึ้นในท่อ และเมื่อเกิดสูญญากาศแรงดันอากาศภายนอกจะดันลงบนผิวน้ำในโถชักโครก ทำให้กดชักโครกไม่ลง ทำให้เกิดแรงดันต้าน เราจึงพบว่าส้วมตัน ที่อาจเกิดจากการที่มีท่ออากาศอุดตัน ที่อาจมีเศษขยะหรือสิ่งสกปรกไปอุดตันท่ออากาศมีขนาดเล็กเกินไป จนทำให้อากาศไหลเวียนไม่สะดวกท่ออากาศติดตั้งไม่ถูกต้อง เช่น ท่ออากาศสั้นเกินไปหรือมีข้อต่อมากเกินไป3. ปัญหาเกิดกับทางน้ำออกของถังเกรอะสำหรับข้อนี้ผู้เขียนขอขยายความออกเป็นสองส่วนย่อยๆ เพื่อทำให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น ดังนี้ความสามารถในการซึมได้ของดินลดลง ปกติดินมีความสามารถในการซึมได้ แต่เมื่อถึงจุดๆ หนึ่งความสามารถนี้จะลดลงและเต็ม โดยเราจะพบได้มากในช่วงหน้าฝนค่ะ เพราะระดับน้ำใต้ดินค่อนข้างสูง จึงทำให้ดินอิ่มตัวด้วยความชื้นและไม่สามารถรับการซึมใหม่ได้อีกแล้ว เราจึงพบว่าส้วมเต็มนะคะเกิดจากความแตกต่างของระดับน้ำ ในบางที่ปลายท่อทางออกของถังเกรอะจะถูกเชื่อมต่อเข้ากับระบบรวบรวมน้ำเสีย ที่ไม่ว่าจะเป็นระบบรวบรวมน้ำเสียของเทศบาลหรือของหน่วยงานก็ตามแต่ หากระดับน้ำภายนอกในระบบรวบรวมน้ำเสียสูงกว่าระดับของท่อทางออกจากถังเกรอะ แบบนี้เราก็สามารถพบว่ามีส้วมราดไม่ลงได้ โดยจะพบได้มากในกรณีที่มีน้ำท่วม หรือแม้แต่ระบบรวบรวมน้ำเสียของชุมชนอุดตันจากขยะ แล้วทำให้น้ำเสียในระบบรวบรวมน้ำเสียไหลไม่ทัน จนเกิดการเอ่อล้นและท่วมในชุมชน จากนั้นเมื่อระดับน้ำภายนอกสูงกว่าระดับน้ำที่จะไหลออกจากปลายท่อของถังเกรอะ ปัญหาที่ตามมาก็คือส้วมตันค่ะ แนวทางแก้ไขปัญหาส้วมตันด้วยตัวเอง1. แนวทางเบื้องต้นใช้ที่ปั๊มส้วม เคยเห็นไหมค่ะ ที่มีด้ามจับยาวทำด้วยไม้ และมีที่ครอบเป็นพลาสติกหนาสีดำ มีรูปร่างคล้ายถ้วยที่คว่ำ ซึ่งเป็นอุปกรณ์ราคาถูกที่หาซื้อได้ตามร้านค้าทั่วไปค่ะ โดยเฉพาะร้านที่ขายของเบ็ดเตล็ดที่เป็นของใช้ในบ้านในครัว เราจะใช้ส่วนที่ครอบของปั๊มนี้เพื่อสร้างแรงดันดันในท่อค่ะ โดยให้เอาไปครอบที่ส่วนต้นของระบบกำจัดสิ่งปฏิกูลเลยตรงส่วนต้นขิงหอห่าน ซึ่งปั๊มส้วมนี้ใช้งานด้วยมือในการเพิ่มแรงดันจากที่ต้องโยกขึ้นลง แรงดันจะไปทำให้สิ่งอุดตันออกไปได้ค่ะ ให้กดย้ำๆ หลายๆ รอบ ซึ่งปั๊มส้วมนี้ผู้เขียนเคยใช้มาก่อนเหมือนกันค่ะ ได้ผลจริงและทำให้การอุดต้นหายไปได้ง่าย การจัดการก็ง่ายๆไม้แขวนเสื้อที่มีเหล็กด้านใน เราต้องแกะไม้แขวนเสื้อออกส่วนที่พันกันเอาไว้ออก จากนั้นเราก็จะได้ลวดยาวที่มีความแข็งพอสมควร ให้ใช้อุปกรณ์นี้ใส่เข้าในชักโครกค่ะ การทำแบบนี้ก็เพื่อไปช่วยดันหรือดึงสิ่งอุดตันออกจากท่อได้เพราะแนวทางนี้เป็นการแก้ไขเบื้องต้นกรณีที่มีสิ่งอุดตันที่จับต้องได้ เช่น กระดาษชำระจำนวนมาก แต่ต้องดัดไม้แขวนเสื้อให้เป็นรูปตะขอดีๆ ก่อนนะคะ แล้วค่อยๆ ดึงเอาสิ่งอุดตันออกมา ใช้ปั๊มลม สำหรับการอุดตันที่หนักหน่วงแน่นปึ๊กแบบดึงก็ยังยากนั้น มีจำเป็นต้องใช้ลมจากปั๊มลมมาช่วยค่ะ โดยลมที่ออกจากปั๊มจะไปทำให้สิ่งที่กำลังอุดตันท่อน้ำเข้าถังเกรอะหลุดออกไปได้ ซึ่งกรณีนี้ก็อาจจะใช้ได้เฉพาะคนที่มีปั๊มลมนะคะ ซึ่งได้ผล ทะลุทะลวงพอสมควร จนทำให้การอุดตันหายไปเลยค่ะ2. วิธีแก้ไขขั้นสูงต้องตรวจสอบและแก้ไขที่ท่อระบายอากาศ ให้ตรวจสอบและทำความสะอาดท่ออากาศ โดยตรวจสอบว่าท่ออากาศมีสิ่งอุดตันหรือไม่ และทำความสะอาดให้สะอาด ตรวจสอบการติดตั้ง ตรวจสอบว่าท่ออากาศติดตั้งถูกต้องตามหลักวิศวกรรมหรือไม่ นอกจากนี้ในทางด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวกับการจัดการน้ำเสียและสิ่งปฏิกูลนั้น ยังแนะนำไว้อีกว่า ปลายท่อของท่อระบายกลิ่นไม่พึงประสงค์นี้ จะต้องอยู่สูงกว่าระดับที่คนเราหายใจ เพราะไม่อย่างนั้นจะมีกลิ่นเหม็นรบกวน จากที่ภายในถังเกรอะมีการย่อยสลายแบบไม่ใช้อากาศ (Anaerobic digestion) และต้องลองเปลี่ยนท่ออากาศใหม่ หากท่ออากาศมีขนาดเล็กเกินไปหรือชำรุด ก็ควรเปลี่ยนท่ออากาศใหม่ให้มีขนาดที่เหมาะสม ซึ่งปัจจุบันท่อพีวีซีสามารถหาซื้อได้ง่ายแล้ว ใช้เพียงท่อพีวีซีชั้น 5 ก็พอค่ะ โดยคำนี้หมายความว่า ท่อพีวีซีของเรามีความสามารถทนแรงดันได้ 5 เมกะปาสกาล ที่ถือเป็นท่อที่มีระดับการรับแรงดันได้น้อยที่สุด แต่ในการจัดการปัญหาส้วมตันนั้นเท่านี้ก็เพียงพอแล้ว เพราะเป็นเพียงก๊าซจากการย่อยสลายสารอินทรีย์แบบไม่ใช้ออกซิเจนเท่านั้นนะคะสูบส้วม เมื่อเราพบว่าส้วมเต็ม จากที่การซึมได้ของดินเกิดการอิ่มตัว และเกิดการสะสมของตะกอนที่ก้นถังจำนวนมาก จนทำให้พื้นที่ภายในถังเกรอะลดลง เพราะตะกอนดังกล่าวไม่สามารถย่อยสลายไปต่อได้แล้ว เช่น การมีดิน ทรายและกรวดไปสะสม ซึ่งในกรณีแรกจะพบได้มากกว่า จากที่น้ำในดินจะรักษาระดับของตัวเอง จนไม่สามารถซึมไปต่อได้แล้ว และความจำเป็นที่ตามมาก็คือต้องมีการสูบส้วมค่ะ โดยในปีนี้ผู้เขียนต้องสูบส้วมไปแล้วถึงสองครั้ง โดยทั้งหมดเกิดขึ้นในช่วงหน้าฝนนี้ วิธีป้องกันส้วมตันด้วยตัวเองในส่วนท้ายของบทความนี้ขอทิ้งไว้เกี่ยวกับการป้องกันส้วมตันค่ะ เพราะแนวทางนี้คือแนวทางที่ดีที่สุด เนื่องจากว่าถ้าเราป้องกันได้ดี โอกาสเกิดส้วมตันก็จะมีน้อยลง เพราะอย่าลืมว่าต่อให้เราสามารถแก้ไขปัญหาได้ด้วยตัวเอง แต่บางวิธียังต้องมีค่าใช้จ่ายแอบแฝงมา ดังนั้นลองปรับใช้วิธีการดังต่อไปนี้ก่อนในทุกๆ วัน และถ้าเกิดส้วมตันจริงๆ ก็ค่อยไปแก้ควบคู่กันไปค่ะอย่าทิ้งสิ่งแปลกปลอมลงในชักโครก เช่น ผ้าอนามัย ขนสัตว์ น้ำมัน ไขมันทำความสะอาดชักโครกเป็นประจำ เพื่อช่วยป้องกันการอุดตันจากคราบสกปรกหากท่อระบายน้ำเสียอยู่ใกล้กับต้นไม้ รากไม้สามารถแทรกซึมเข้าไปในท่อและอุดตันได้ ดังนั้นต้องหลีกเลี่ยงการติดตั้งถังเกอะใกล้ต้นไม้อย่าทิ้งตะกอนและสิ่งสกปรกที่ไม่เกี่ยวข้องลงไป เพราะการใช้งานส้วมเป็นระยะเวลานาน ทำให้เกิดตะกอนและสิ่งสกปรกสะสมนั้น โดยเฉพาะสิ่งที่ย่อยสลายไม่ได้ จำพวกกรวด ทราย หิน เป็นต้นหลีกเลี่ยงการใช้ส้วมมากเกินไปในคราวเดียว เพราะการใช้ส้วมมากเกินไปในคราวเดียวนั้น อาจทำให้ท่อระบายน้ำไม่สามารถรับน้ำได้ทัน รวมไปถึงการซึมได้ของดินจะอิ่มตัวเร็วกว่ปกติ ซึ่งในกรณีนี้เราอาจพบว่ามีการใช้บริการส้วมเคลื่อนมาบริการประชาชนในกรณีที่มีคนจำนวนมาก ซึ่งก็สามารถลดปัญหาการเกิดส้วมตันและส้วมเต็มได้ค่ะและทั้งหมดนั้นคือวิธีดูแลจัดการส้วมในบ้านของในกรณีเกิดการตันขึ้นมาค่ะ โดยทุกวิธีการในนี้ผู้เขียนเป็นคนที่ได้มีประสบการณ์มาหมดแล้ว เนื่องจากได้ศึกษาด้านนี้มาโดยตรง ประกอบกับทำงานเกี่ยวกับด้านนี้มาด้วย แถมในบางวิธีการก็ต้องนำมาใช้เองที่บ้านเองด้วยค่ะ หากคุณผู้อ่านได้อ่านดีๆ นั้น จะเห็นได้ว่าวิธีการข้างต้นผู้เขียนจะไม่ได้พูดถึงการใช้สารเคมีเลย เนื่องจากว่าเป็นการแก้ไขปัญหาส้วมตันที่ชักโครกและถังเกรอะนะคะ ที่จะแตกต่างจากการอุดตันในท่อรวบรวมน้ำเสียหรืออ่างล้างหน้า ที่โดยส่วนมากแล้วในกรณีนี้มักมีคราบจุลินทรีย์จำนวนมาก พอเราไปใช้พวกโซดาไฟก็จะได้ผลดี อีกทั้งในถังเกรอะนั้นยังเกี่ยวข้องกับการย่อยสลายสารอินทรีย์แบบไม่ใช้อากาศ ที่ต้องอาศัยกลุ่มของจุลินทรีย์ที่ไม่ใช้อากาศโดยเฉพาะแบคทีเรีย ดังนั้นเรายังต้องให้ความสำคัญกับการควบคุมสภาวะภายในถังให้ทำงานได้ตามปกติให้มากที่สุดค่ะซึ่งตั้งแต่ผู้เขียนได้เรียนรู้มานั้น เราจะไม่ใช้สารเคมีมาแก้ไขเรื่องส้วมตันที่ถังเกรอะเลย เพราะปกติสภาวะในถังใบนี้ก็ค่อนข้างเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จากที่เราใช้ส้วมและใช้พวกน้ำยาล้างห้องน้ำจำนวนมาก พอจะมองภาพออกแล้วใช่ไหมคะ? ซึ่งผู้เขียนหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับคุณผู้อ่านไม่มากก็น้อย และถ้าชอบบทความแบบนี้อีก ก็อย่าลืมกดติดตามหรือกดบุ๊กมาร์กหน้าโปรไฟล์ไว้นะคะ เพราะจะได้ไม่พลาดบทความใหม่ๆที่จะได้นำมาเผยแพร่ในเร็วๆ นี้ค่ะ 😁เครดิตภาพประกอบบทความภาพหน้าปกและภาพประกอบเนื้อหาจากผู้เขียน โดยภาพที่ 1 ออกแบบใน Canvaออกแบบภาพหน้าปกใน Canvaเกี่ยวกับผู้เขียนภัคฒ์ชาลิสา จำปามูลศึกษาเกี่ยวกับ: พยาบาลศาสตรบัณฑิต (B.N.S.) จากวิทยาลัยพยาบาลศรีมหาสารคาม กระทรวงสาธารณสุข และสาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต (อนามัยสิ่งแวดล้อม); M.P.H. (Environmental Health) จากมหาวิทยาลัยขอนแก่นมีความสนใจและประสบการณ์เกี่ยวกับ: สุขภาพ จิตวิทยาเชิงบวก การจัดการน้ำเสียและสิ่งปฏิกูล บทความอื่นที่น่าสนใจโดย Pchalisa https://intrend.trueid.net/post/357000 https://news.trueid.net/detail/A1jbVVJl5b61 https://intrend.trueid.net/post/388025เปิดประสบการณ์ความบันเทิงที่หลากหลายสดปัง บน App TrueID โหลดเลย ฟรี !