แลกนักโทษ ? ไทยปล่อยตัวชาวอิหร่าน 3 คน หลังรัฐบาลอิหร่านปล่อยตัวนักวิชาการออสเตรเลีย
ทางการไทยปล่อยตัวชายอิหร่าน 3 คนที่ถูกจำคุกจากแผนวางระเบิดในกทม. เมื่อ 8 ปีก่อน หลังอิหร่านปล่อยตัว ไคลี มัวร์-กิลเบิร์ต นักวิชาการชาวออสเตรเลียเชื้อสายอังกฤษ
สื่ออิหร่านรายงานว่า การปล่อยตัวนักโทษอิหร่านเป็นส่วนหนึ่งของการแลกตัวกับนักวิชาการสาวที่ถูกควบคุมตัวในข้อหาว่าเป็นสายลับ ซึ่งเธอให้การปฏิเสธ
อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ของไทยบอกกับบีบีซีไทยว่า ชาวอิหร่าน 2 คน ไม่ได้ถูกปล่อยตัวเพื่อแลกกับใคร แต่เป็นการส่งตัวกลับไปรับโทษในประเทศบ้านเกิด ที่นักโทษต่างชาติมีสิทธิขอ และเป็นการลดความแออัดในเรือนจำไทย ส่วนอีกคนได้รับพระราชทานอภัยโทษ
ต่อมา นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ แถลงว่า ไทยมีสนธิสัญญาโอนตัวนักโทษเด็ดขาดระหว่างประเทศ รวมทั้งหมด 38 ประเทศ ซึ่งรวมถึงอิหร่านด้วย โดยหลักการโอนตัวจะต้องเป็นความยินยอมของทั้ง 3 ฝ่าย ได้แก่ ผู้ต้องโทษ ประเทศผู้รับโอน และประเทศผู้โอน ภายใต้พ.ร.บ.การปฏิบัติเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศในการดําเนินการตามคําพิพากษาคดีอาญา
ในกรณีนี้ ผู้ต้องโทษได้แจ้งต่อสถานทูตว่าขอให้ช่วยดำเนินเรื่องการโอนตัวกลับไปรับโทษที่ประเทศอิหร่าน ทางสถานทูตก็จะกลับไปสอบถามกับรัฐบาลของเขาว่ายอมรับโอนตัวผู้ต้องขังหรือไม่ เพราะการโอนตัวจะมีค่าขนส่งที่ผู้ต้องขังหรือประเทศผู้รับโอนจะต้องรับผิดชอบเอง หากประเทศรับโอนยินยอมก็จะส่งเรื่องมาที่กรมราชทัณฑ์โดนผ่านกระทรวงการต่างประเทศ
- อิหร่านเตือนสหราชอาณาจักรอย่าถลำตัวเล่น "เกมอันตราย"
- ความตึงเครียดสหรัฐฯ-อิหร่าน: ช่องแคบฮอร์มุซ มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์อย่างไร
- นิวเคลียร์: อิหร่านจะเริ่มไม่ทำตามข้อตกลงนิวเคลียร์แล้ว
ชาวอิหร่าน 2 คน คือ มาซูด เซดากัตซาเดห์ และซาเอด โมราดี ถูกส่งตัวกลับประเทศ ขณะที่โมฮัมหมัด คาซาเอ ได้รับพระราชทานอภัยโทษเมื่อเดือนสิงหาคม
ทางการไทยและอิสราเอลเชื่อว่าแผนวางระเบิดที่ล้มเหลวครั้งนั้น มุ่งโจมตีนักการทูตอิสราเอลในไทย
ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า เหตุเกิดเมื่อช่วงบ่ายของ 14 ก.พ. 2555 เมื่อจู่ๆ เกิดเสียงตูมสนั่น บริเวณตึกแถวเลขที่ 66 ภายในซอยปรีดีพนมยงค์ 31 ถนนสุขุมวิท 71 เวลาผ่านไปไม่นาน อีกหนึ่งตูมก็ตามมา ที่หน้าบ้านเลขที่ 144 และอีกชั่วอึดใจ ตูมสุดท้ายก็เกิดขึ้นหน้าโรงเรียนเกษมพิทยา ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในเวลาห่างกันไม่กี่นาที และจุดระเบิดอยู่ภายในซอยเดียวกันทั้งหมด หลังเสียงระเบิดครั้งล่าสุดจางหายไป
โมราดี ถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิตด้วยข้อหาพยายามฆ่าคนตายหลังจากโยนระเบิดใส่ตำรวจขณะพยายามหลบหนี และเสียขาไปหนึ่งข้างจากระเบิดในครั้งนั้น ส่วน คาซาเอ ถูกจับกุมตัวที่สนามบินและถูกตัดสินจำคุก 15 ปี
ด้าน เซดากัตซาเดห์ เดินทางหลบหนีไปมาเลเซีย แล้วถูกจับส่งตัวมาดำเนินคดีในไทย
ข่าวเรื่องการแลกเปลี่ยนนี้ถูกเผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์ข่าวสโมสรนักข่าวรุ่นเยาว์ ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่เชื่อมโยงกับช่องโทรทัศน์ของรัฐ
เว็บไซต์นี้ระบุว่า "นักธุรกิจชาวอิหร่าน และพลเมืองอิหร่านอีก 2 คน ที่ถูกควบคุมตัวอยู่ต่างประเทศโดยข้อหาที่ปราศจากหลักฐาน ถูกปล่อยตัวแลกกับสายลับ 2 สัญชาติที่ชื่อไคลี มัวร์-กิลเบิร์ต ผู้ซึ่งทำงานให้กับขบวนการไซออนิสต์"
วิดีโอที่บันทึกการแลกตัวถูกเผยแพร่โดยสถานีโทรทัศน์รัฐไออาร์ไอบี และเว็บไซต์ทาสนิม โดยข่าวนี้ไม่มีเสียงบรรยาย แต่เป็นแค่ภาพมัวร์-กิลเบิร์ต ซึ่งเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ที่สวมฮิญาบสีเทาและมีรถตู้มารับไป ขณะที่ชาวอิหร่านสามคนได้รับการต้อนรับอย่างดีจากเจ้าหน้าที่ทางการ
https://twitter.com/yjc___agency/status/1331630521361772545
"ไม่เคยเป็นสายลับ"
มัวร์-กิลเบิร์ต บอกว่า การได้ออกจากอิหร่านหลังเวลาผ่านไปสองปีทำให้เกิดความรู้สึก "หวานอมขมกลืน" โดยเธอบอกว่าประสบการณ์ถูกคุมขังทั้ง "ยาวนานและสร้างความบอบช้ำทางจิตใจ"
สกอตต์ มอร์ริสัน นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นว่ามีการแลกตัวนักโทษเกิดขึ้นหรือไม่ แต่บอกว่าไม่มีใครได้รับการปล่อยตัวจากออสเตรเลีย
รัฐบาลออสเตรเลียเองก็ไม่ได้ออกมาชี้แจงถึงบริบทของการปล่อยตัว และมีบางฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่ารัฐบาลออสเตรเลียอาจเป็นผู้โน้มน้าวอิหร่าน ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า "ใช้ตัวประกันเพื่อกลยุทธ์ทางการทูต"
มาริส เพย์น รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ ออสเตรเลีย บอกว่า เธอ "พอใจและโล่งใจมาก" สำหรับการปล่อยตัวในครั้งนี้ซึ่ง "บรรลุผลจากการเจรจาทางการทูตกับรัฐบาลอิหร่าน" แต่ไม่ได้ถูกถึงการแลกเปลี่ยนตัวกับนักโทษทั้ง 3 คนแต่อย่างใด
มัวร์-กิลเบิร์ต เดินทางไปอิหร่านในปี 2018โดยใช้พาสปอร์ตออสเตรเลียก่อนที่จะโดนควบคุมตัวที่สนามบินกรุงเตหะราน หลังเสร็จจากการเข้าร่วมการสัมมนา
ในจดหมายที่ถูกแอบนำออกมาจากเรือนจำ อาจารย์ผู้เรียนจบจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ผู้นี้บอกว่า "เธอไม่เคยเป็นสายลับ" และก็กังวลเรื่องสุขภาพจิตใจตัวเอง เธอบอกว่าเธอปฏิเสธข้อเสนอของอิหร่านที่ต้องการให้เธอเป็นสายลับ
"ฉันไม่ใช่สายลับ ฉันไม่เคยเป็นสายลับ และไม่คิดสนใจจะทำงานให้องค์กรลับของประเทศใด" จดหมายเธอระบุ
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ มีชาวต่างชาติ และชาวอิหร่านที่ถือสองสัญชาติ หลายคนที่ถูกควบคุมตัว หลายคนถูกกล่าวหาว่าเป็นสายลับ กลุ่มเพื่อสิทธิมนุษยชนหลายกลุ่มกล่าวหาว่าอิหร่านใช้วิธีนี้เป็นการต่อรองเรื่องต่าง ๆ กับประเทศอื่น ๆ
ในจำนวนนี้ มี นางนาซานิน ซาการี-แรตคลิฟฟ์ เจ้าหน้าที่องค์กรการกุศลชาวอังกฤษเชื้อสายอิหร่าน ที่ถูกคุมขังด้วยข้อกล่าวหาว่าเป็นสายลับในปี 2016 ซึ่งเธอก็ปฏิเสธมาโดยตลอด