รีเซต

ระบบนิเวศมหาสมุทรเขตร้อน ใกล้ถึงภาวะล่มสลายในอีกสิบปีข้างหน้า

ระบบนิเวศมหาสมุทรเขตร้อน ใกล้ถึงภาวะล่มสลายในอีกสิบปีข้างหน้า
ข่าวสด
10 เมษายน 2563 ( 21:23 )
157
ระบบนิเวศมหาสมุทรเขตร้อน ใกล้ถึงภาวะล่มสลายในอีกสิบปีข้างหน้า

 

ระบบนิเวศมหาสมุทรเขตร้อน ใกล้ถึงภาวะล่มสลายในอีกสิบปีข้างหน้า

แม้จะทราบกันดีว่าภาวะโลกร้อนกำลังทำให้เกิดหายนะต่อความหลากหลายทางชีวภาพไปทั่วโลก แต่ในบางพื้นที่ซึ่งมีสภาพภูมิอากาศและลักษณะทางภูมิศาสตร์ต่างออกไป ผลกระทบจากปรากฏการณ์นี้อาจรุนแรงขึ้นและมาถึงอย่างรวดเร็วกว่าภูมิภาคอื่น ๆ

ทีมนักวิทยาศาสตร์จากสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และแอฟริกาใต้ รายงานถึงผลการศึกษาล่าสุดในวารสาร Nature ว่าสิ่งมีชีวิตในมหาสมุทรของเขตร้อนอาจต้องล้มตายลงอย่างมหาศาล หรือเกิดการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ภายในปี 2030 จนระบบนิเวศแถบนั้นต้องถึงคราวล่มสลาย เนื่องจากไม่อาจทนต่ออุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นหลายองศาเซลเซียสได้

Getty Images

เหตุการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นภายในเวลาราวหนึ่งทศวรรษข้างหน้า หากมนุษย์ไม่สามารถตัดลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศได้เลยแม้แต่น้อย ซึ่งเป็นสภาพการณ์ที่เรียกว่า RCP8.5 หมายถึงมนุษย์ไม่พยายามหยุดยั้งภาวะโลกร้อน และปล่อยให้แนวโน้มของปรากฏการณ์ดังกล่าวดำเนินไปดังเช่นในปัจจุบัน จนโลกมีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงขึ้นถึง 4 องศาเซลเซียส ภายในปี 2100

มีการนำข้อมูลความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกตลอดช่วง 150 ปีที่ผ่านมา สร้างเป็นแบบจำลองคอมพิวเตอร์ที่สามารถคำนวณถึงแนวโน้มในอนาคต แล้วนำข้อมูลที่ได้ไปวิเคราะห์เปรียบเทียบกับข้อมูลการกระจายตัวของสิ่งมีชีวิตกว่า 30,000 ชนิดพันธุ์ เช่นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นก ปลา ที่ดำรงชีวิตอยู่ในบริเวณต่าง ๆ โดยแบ่งพื้นที่ทั่วโลกออกเป็นส่วนละ 100 ตารางกิโลเมตร

GETTY CREATIVE STOCK

ดร. อเล็กซ์ ปิโกต์ ผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์ความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม ยูนิเวอร์ซิตี คอลเลจ ลอนดอน (UCL) หนึ่งในทีมผู้วิจัยบอกว่า "แบบจำลองของเราคาดการณ์ว่า อุณหภูมิโลกจะพุ่งสูงขึ้นจนถึงระดับที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ซึ่งจะก่อให้เกิดหายนะใหญ่หลวงต่อประชากรส่วนใหญ่ของสิ่งมีชีวิตในแถบมหาสมุทรเขตร้อนเป็นอันดับแรก"

"ถ้าอุณหภูมิสูงเกินขีดจำกัดที่เหล่าสัตว์จะรับได้ อัตราความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ในภูมิภาคดังกล่าวก็จะเพิ่มขึ้นอย่างมาก" ดร. ปิโกต์กล่าว

อย่างไรก็ตาม สภาพการณ์ในอนาคตจะเลวร้ายดังเช่นที่งานวิจัยได้ทำนายไว้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับความพยายามของมนุษย์ในการหยุดยั้งภาวะโลกร้อนในปัจจุบัน

AFP / GETTY IMAGES
การสร้างเขื่อนทำให้ตะกอนทรายถูกพัดพามายังพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำลดลง

หากปล่อยให้ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นไปตามยถากรรม จนอุณหภูมิโลกสูงขึ้นอีก 4 องศาเซลเซียส ประชากร 15% ของสัตว์ทุกชนิดบนโลกจะตายลง และเกิดความเสียหายถาวรต่อระบบนิเวศในหลายพื้นที่ โดยไม่อาจจะแก้ไขฟื้นฟูให้กลับคืนมาเป็นดังเดิมได้

แต่ถ้ามนุษย์สามารถชะลอความรุนแรงของภาวะโลกร้อนสำเร็จ โดยทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นไม่เกิน 2 องศาเซลเซียสได้ ตลอดช่วงหลายสิบปีข้างหน้า จำนวนของประชากรสัตว์โลกที่ต้องตายจะลดลงเหลือเพียง 2% เท่านั้น

ทีมผู้วิจัยยังระบุว่า ขณะนี้ผลกระทบรุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในเขตร้อนก็ได้เริ่มปรากฏให้เห็นแล้ว เช่นการฟอกขาวครั้งใหญ่ของแนวปะการังเกรตแบร์ริเออร์รีฟนอกชายฝั่งออสเตรเลีย ส่วนภูมิภาคอื่น ๆ ของโลกในละติจูดที่สูงขึ้นไปกว่าเขตร้อนนั้น จะเกิดปรากฎการณ์นี้เช่นกันภายในปี 2050 หรืออีก 30 ปีข้างหน้า