ส่งออกฟื้น! 6 หุ้นรับอานิสงส์
#ทันหุ้น - บล.ดาโอ ระบุ ส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงเดือน ต.ค.2566 กลับมาโต YoY ในรอบ 1 ปีกระทรวงพาณิชย์เปิดเผยตัวเลขส่งออกสำคัญ ดังนี้ 1) ส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงอยู่ที่ 220 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (+1% YoY, +2% MoM) และตัวเลข 10M23 อยู่ที่ 2,020 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (-17% YoY) 2) ส่งออกอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปอยู่ที่ 289 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (-6% YoY, -5% MoM) และตัวเลข 10M23 อยู่ที่ 2,869 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (-10% YoY) 3) ส่งออกไก่สดแช่เย็นแช่แข็งและไก่แปรรูปอยู่ที่ 362 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (+1% YoY, -1% MoM) และตัวเลข 10M23 อยู่ที่ 3,423 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (+0.4% YoY) (Source: กระทรวงพาณิชย์)
ฝ่ายวิจัย มีมุมมองเป็นบวกต่อส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงที่กลับมาขยายตัว YoY เป็นครั้งแรกในรอบ 1 ปี โดยหากดูเฉพาะตัวเลขอาหารสัตว์เลี้ยงสุนัขและแมวกลับมาขยายตัวถึง +6% YoY, +5% MoM เป็นไปตามสถานการณ์ inventory destocking ที่เริ่มคลี่คลาย
ด้านส่งออกอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปและส่งออกไก่ยังลดลงใกล้เคียงคาด อย่างไรก็ตาม ส่งออกทูน่ากระป๋องมีทิศทางดีขื้น เพราะหดตัวเพียง -1% MoM ขณะที่ตลาดใหญ่สหรัฐฯ ยังโต +4% YoY, +3% MoM
แนวโน้ม Q4/66E/2567E ประเมินส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงและอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป จะทยอยปรับตัวดีขึ้นจากการกลับมาเติมสต็อกของลูกค้าต่อเนื่อง รวมถึงอานิสงส์ต้นทุนทูน่าอ่อนตัว ทำให้ลูกค้าบางส่วนที่มีการ wait & see ก่อนหน้านี้กลับมาส่งคำสั่งซื้อ สำหรับกลุ่มส่งออกไก่ใน Q4/66E มีโอกาสดีขึ้นเล็กน้อย QoQ หลังมีลูกค้าเลื่อนคำสั่งซื้อบางส่วนจาก Q3/66 ต่อคาดการณ์ปี 2567E อาจยังมีแรงกดดันจากตลาดหลักญี่ปุ่นที่ได้รับผลกระทบจากค่าเงินเยนอ่อน
ทั้งนี้ คงน้ำหนักกลุ่ม Agri & Food “Neutral” แต่มีโอกาสปรับน้ำหนักขึ้น และ Top pick ได้แก่ 1) TU (ซื้อ/เป้า 18.50 บาท) จากกำไรปกติ Q4/66E จะเป็นจุด peak ของปีและมี catalyst จากต้นทุนหลักทูน่าอ่อนตัวมากขึ้น ขณะที่ valuation ปัจจุบันเทรดที่ 2567E PER เพียง 11x เทียบเท่า -1SD และ 2) AAI (ซื้อ/เป้า 5.00 บาท) จากกำไรปกติปี 2567E มี upside จากลูกค้ารายใหม่ 2 ราย รวมถึงปัจจุบันเทรดที่ 2567E PER 15x ต่ำกว่า ITC ที่ 21x
ด้าน บล.กสิกรไทย คาดส่งออกฟื้นตัวต่อเนื่องจากฝ่ายวิจัยคาดว่าผลกระทบจากฐานที่ต่ำ และแนวโน้มการเติมสินค้าคงคลัง ประกอบกับอุปสงค์ข้าวแข็งแกร่ง น่าจะช่วยหนุนการส่งออกของไทยให้ฟื้นตัวชัดเจนขึ้นในช่วงปลายปี 2566 โดยเฉพาะเมื่อฝ่ายวิจัยเห็นว่า ดัชนี PMI ภาคการผลิตจากสถาบันไอเอสเอ็ม (ISM) สหรัฐฯ ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วตั้งแต่กลางปี 2566 มองไปข้างหน้าเชื่อว่าการส่งออกของไทยมีแนวโน้มที่จะ ฟื้นตัวตอ่ YoY ในเดือน พ.ย. และ ธ.ค. 2566
อย่างไรก็ตาม การส่งออกรวมในปี FY2566 อาจยังคงปรับตัวลดลงประมาณ 1-2% เชื่อมโยงมายังภาพการลงทุน โดยเชื่อว่าการส่งออกข้าวที่แข็งแกร่งจะเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มการค้าปลีก (DOHOME, GLOBAL) และภาคการเงิน (TIDLOR) จากการเพิ่มกำลังซื้อในพื้นที่ชนบท ขณะเดียวกันกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์น่าจะได้แรงหนุนจากการฟื้นตัวของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมและการส่งออกอาหารสัตวเลี้ยง(AAI, ITC) ที่เติบโต YoY เป็นครั้งแรกในรอบ 12 เดือน ซึ่งสะท้อนถึงแนวโน้มการฟื้นตัว