รีเซต

สภากทม.คาใจสำนักระบายน้ำ ผู้เชี่ยวชาญเยอะ ทำไมต้องจ้างที่ปรึกษา ปลัดฯ แจงปมอุโมงค์ระบายน้ำ

สภากทม.คาใจสำนักระบายน้ำ ผู้เชี่ยวชาญเยอะ ทำไมต้องจ้างที่ปรึกษา ปลัดฯ แจงปมอุโมงค์ระบายน้ำ
มติชน
8 สิงหาคม 2565 ( 18:51 )
102
สภากทม.คาใจสำนักระบายน้ำ ผู้เชี่ยวชาญเยอะ ทำไมต้องจ้างที่ปรึกษา ปลัดฯ แจงปมอุโมงค์ระบายน้ำ

ข่าววันนี้ 8 สิงหาคม ที่ห้องบางกอก อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร ประธานคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการวิสามัญฯ โดยมี ผู้บริหารสำนักการระบายน้ำ สำนักสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมและชี้แจงรายละเอียดงบประมาณ

 

ในที่ประชุม นายอภิวัฒน์ ด่านศรีชาญชัย ประธานอนุกรรมการพิจารณางบประมาณสำนักการระบายน้ำ ได้รายงานภาพรวมการปรับลดงบประมาณและข้อสังเกตของคณะอนุกรรมการกับโครงการต่าง ๆ ของสำนักการระบายน้ำ

 

จากนั้น นายสมศักดิ์ มีอุดมศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ และผู้บริหารสำนัก ได้ตอบข้อซักถามของคณะกรรมการวิสามัญฯ ในประเด็นเกี่ยวกับเหตุผลความจำเป็นของการจ้างโครงการที่ปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ เนื่องจากคณะกรรมการวิสามัญฯ เห็นว่า เวลาที่เกิดปัญหาการก่อสร้าง ที่ปรึกษาจะไม่มีความรับผิดชอบในส่วนนี้ และเห็นว่าสำนักการระบายน้ำมีผู้เชี่ยวชาญเป็นจำนวนมาก มีประสบการณ์สูง จึงไม่จำเป็นในการจ้างที่ปรึกษา รวมถึงที่ประชุมได้ตั้งข้อสังเกต การลงเสาเข็มเขื่อนริมแม่น้ำเจ้าพระยา อยากให้พิจารณาความเหมาะสมในเรื่องความยาวของเสาเข็มในแต่ละพื้นที่ตลอดแนวก่อสร้าง ซึ่งในด้านความแข็งแรงของโครงสร้างสำนักการระบายน้ำได้ชี้แจงต่อผู้ร่วมประชุมว่า ได้มีการกำหนดรูปแบบและความยาวของเสาเข็มและมีการเสียบแผงคอนกรีต และเสริมกำแพงเหล็กด้านนอก (Steel Sheet Piles) เพื่อป้องกันแรงดันจากน้ำและดิน ป้องกันดินสไลด์ลงแม่น้ำ โดยปรับใช้ตามสภาพของพื้นที่แล้ว อย่างไรก็ตามจะนำข้อสังเกตของคณะกรรมการวิสามัญฯ ไปประกอบการพิจารณาดำเนินโครงการต่อไป

 

 

ในส่วนของการบริหารจัดการน้ำท่วม สำนักการระบายน้ำได้ร่วมกับกรมชลประทานติดตามและบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ เพื่อลดผลกระทบเมื่อเกิดฝนตกหนัก โดยคำนึงถึงสภาพของพื้นที่เป็นหลัก ทั้งนี้ ปัจจุบันได้เร่งระบายน้ำออกเพื่อรองรับน้ำฝนที่ตกหนักในช่วงนี้แล้ว สำหรับการแก้ไขปัญหาบ้านรุกล้ำริมคลอง โครงการก่อสร้างเขื่อน ค.ส.ล. คลองเปรมประชากร ช่วงที่ 4 จากถนนแจ้งวัฒนะถึงเทศบาลสงเคราะห์ สำนักการระบายน้ำได้ร่วมกับหลายหน่วยงานภาครัฐเข้าพื้นที่เพื่อเจรจาให้ผู้รุกล้ำย้ายออกอย่างต่อเนื่อง แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้การเจรจาและการรื้อย้ายล่าช้ากว่าแผนงานประมาณ 1 ปี อย่างไรก็ตามสำนักการระบายน้ำจะเร่งเข้าพื้นที่เพื่อดำเนินการในส่วนที่ประชาชนยินยอมรื้อย้ายและใช้ขั้นตอนของกฎหมายในส่วนที่ไม่สามารถเจรจาได้ พร้อมปรับลดงบประมาณให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงที่ล่าช้า

 

นอกจากนี้ที่ประชุมได้ติดตามความคืบหน้าโครงการก่อสร้างเขื่อน ค.ส.ล. คลองเปรมประชากร ช่วงที่ 2 จากสุดเขตกรุงเทพมหานครถึงคลองบ้านใหม่ และจากหมู่บ้านแกรนด์คาแนลถึงถนนสรงประภา โครงการก่อสร้างเขื่อน ค.ส.ล. คลองเปรมประชากร ช่วงที่ 3 จากถนนสรงประภาถึงถนนแจ้งวัฒนะ และโครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบจากอุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบคลองลาดพร้าว ถึงบริเวณซอยลาดพร้าวซอย 130

 

 

นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร ประธานคณะกรรมการวิสามัญฯ กล่าวว่า การรุกล้ำที่สาธารณะควรต้องดำเนินคดีกับผู้รุกล้ำตามกฎหมาย เพื่อไม่ให้งานก่อสร้างล่าช้ากว่าแผนงานที่กำหนดไว้ โดยนำโครงการที่มีแผนการก่อสร้างในอีก 3-4 ปีข้างหน้า ขอความร่วมมือเขตพื้นที่เข้าดำเนินการรื้อย้ายบ้านเรือน เพื่อให้การทำงานเป็นไปด้วยความรวดเร็ว

 

ทั้งนี้ ที่ประชุมยังได้ขอให้สำนักการระบายน้ำประเมินความคุ้มค่าโครงการเดินระบบบำรุงรักษาและบริหารจัดการอุโมงค์ระบายน้ำจากบึงมักกะสันลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ระยะที่ 3 โครงการเดินระบบบำรุงรักษาและบริหารจัดการอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อจากคลองลาดพร้าวถึงแม่น้ำเจ้าพระยา กับประโยชน์ที่ได้รับ ทั้งนี้ เห็นว่าการใช้เงินไม่สำคัญเท่ากับวัตถุประสงค์การใช้ ที่สำคัญควรมีการบูรณาการการใช้งบสำหรับอุโมงค์ระบายน้ำทั้งหมดเพื่อให้การใช้จ่ายงบประมาณมีประสิทธิภาพ

 

นายณรงค์ เรืองศรี รองปลัดกรุงเทพมหานคร ในฐานะคณะกรรมการวิสามัญฯ กล่าวว่า เคารพในความคิดเห็นของคณะกรรมการวิสามัญฯ แต่เครื่องมือที่นำมาใช้ในการแก้ไขปัญหามีหลายส่วน กทม.พยายามใช้เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูงสุด อุโมงค์ระบายน้ำเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญในการแก้ไขปัญหาพื้นที่ลุ่มต่ำ เนื่องจากคูคลองไม่สามารถพร่องน้ำได้มาก บางแห่งเมื่อพร่องน้ำแล้วแต่เมื่อเกิดฝนตกระดับน้ำจะขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่หากมีอุโมงค์น้ำจะทำให้ระดับน้ำลดลงอย่างรวดเร็วได้

 

“อุโมงค์ระบายน้ำถือเป็นเครื่องมือแก้ไขปัญหาน้ำที่มีเทคโนโลยีชั้นสูง ภายในอุโมงค์มีเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ จึงจำเป็นต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญ และบุคลากรที่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุดและรวดเร็ว การ Outsource หาบริษัทผู้รับจ้างดูแล จะทำให้เกิดความคล่องตัว และแก้ไขปัญหา ซึ่งหากอุโมงค์เสียหายและไม่ได้รับการแก้ไขโดยเร็วจะทำให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง” รองปลัดฯ กทม. กล่าวเพิ่มเติม

 

ทั้งนี้ คณะกรรมการวิสามัญฯได้ร่วมกันอภิปราย และให้คำแนะนำกับโครงการต่าง ๆ ของสำนักการระบายน้ำ รวมถึงชื่นชมการทำงานของสำนักการระบายน้ำ เนื่องจากบางพื้นที่เดิมเมื่อเกิดเหตุน้ำท่วมต้องใช้เวลาระบายน้ำ 2 วัน ตอนนี้ใช้เวลาระบายน้ำไม่ถึง 2 ชั่วโมง อย่างไรก็ดีงบประมาณที่ปรับลด เพื่อให้ผู้บริหารชุดปัจจุบันนำไปใช้ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาในพื้นที่กรุงเทพมหานครในด้านอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาน้ำท่วม ซึ่งส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนโดยตรงต่อไป