ประเพณี แห่เรือพนมพระ หรือ ประเพณีลากพระ นั้น เป็นประเพณีที่พุทธศาสนิกชนพร้อมใจกันอาราธนาพระพุทธรูป ที่ประดิษฐานอยู่ในวิหาร มาประดิษฐานบนบุษบกอันประกอบอยู่บนยานพานะชนิดต่าง ๆ เช่น เกวียน รถ หรือเรือที่ประกอบไว้เพื่อลากพระ ในสมัยก่อนการเดินทางส่วนใหญ่ใช้เรือเป็นหลัก เลยเรียก เรือพนมพระ แม้ปัจจุบันจะนิยมลากพระไปตามถนน แต่ยังนิยมประดิษฐ์เป็นรูปเรือเหมือนเดิม เพียงแต่ดัดแปลงเป็นยานที่มีล้อเพื่อให้ลากไปตามถนนได้สะดวก แม้ประเพณีการลากพระจะจัดขึ้นทั่วทุกภาคของประเทศไทย แต่ก็มีรายละเอียดข้อปลีกย่อยแตกต่างกันของแต่ละท้องถิ่น เช่นท้องถิ่นภาคใต้เป็นต้น รูปหัวพญานาคที่บุษบกเรือพนมพระ ปัจจุบันลากเรือพนมพระไปทางถนน วันนี้ผู้เขียนขอนำท่านผู้อ่านมามาสัมผัสกับรายละเอียด และบรรยากาศของการลากเรือพนมพระของภาคใต้กันนะครับ การลากพระของภาคใต้นิยมทำตัวยานที่เคลื่อนด้วยแรงคนชักลากประกอบด้วยล้อ ส่วน บุษบก หรือ ฐานรองนมพระ (พนมพระ) นิยมประดิษฐ์เป็น รูปพญานาค ตามความเชื่อที่ว่า พญานาคเป็นตัวแทนของความอุดมสมบูรณ์ด้วยน้ำและพืชพรรณธัญญาหาร ประเพณีการลากพระของภาคใต้นิยมจัดใน วันออกพรรษา คือวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 การทำเหนียวต้มในเทศกาลแห่เรือพนมพระ ต้นกำเนิดของประเพณีลากพระ สันนิษฐานว่าเกิดจากลัทธิของพราหมณ์ที่นิยมนำ เทวรูป มาแห่ตามเทศกาล เมื่อหันมานับถือพระพุทธศาสนาก็เปลี่ยนมาเป็นแห่รับเสด็จองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในคราวเสด็จกลับจากการอยู่จำพรรษาเพื่อเทศน์โปรดพระพุทธมารดา ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ในพรรษาที่ 7 นับจากตรัสรู้ (พระพุทธมารดา จุติเป็น เทพธิดา ประทับอยู่บน สวรรค์ชั้นดุสิต แต่เสด็จลงมาเฝ้าพระพุทธเจ้าที่ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์) ในคราวที่เสด็จกลับ พระองค์เสด็จลงทางบันไดแก้ว (บันไดตรงกลาง) เมื่อถึงประตูเมืองสังกัสสะเป็นเวลาเช้าตรู่ของวันออกพรรษาพอดี พุทธศาสนิกชนจำนวนมากได้มารอใส่บาตรแต่เข้าไม่ถึงพระองค์ จึงเอาอาหารห่อใบไม้โยนไปถวาย ในกาลต่อมาจึงเกิดธรรมเนียมการ ห่อต้มในเทศกาลวันออกพรรษา สำนวนใต้ใช้คำว่า เข้าตอก ออกต้ม (เข้าพรรษาถวายข้าวตอก ออกพรรษาถวายข้าวเหนียวห่อต้ม) แต่ผู้รู้บางท่านอธิบายว่า ธรรมเนียมการ ห่อต้ม เกิดจากความกันดารข้าวปลาไม่บริบูรณ์ของชาวเมืองสังกัสสะ เลยเอาข้าวสุกคลุกน้ำมันเนยและเกลือห่อใบไม้เรียกว่า สัตตุ มาถวายแทน การปรุง ข้าวเหนียวต้ม ที่ทางใต้เรียกว่า ต้ม นั้นปรุงด้วยข้าวเหนียวล้างสะอาดใส่ลงในน้ำกะทิ ตั้งไฟ เติมเกลือปรุงรสเล็กน้อย บางคนอาจเติม ถั่วขาวหรือถั่วดำ ลงไปด้วยก็ได้ค่อย ๆ คนให้น้ำกะทิแห้ง ประมาณว่ากึ่งดิบกึ่งสุก นำข้าวเหนียวมาห่อด้วย ใบกะพ้อ ขนมต้มนี้นิยมนำมาแขวนไว้ตามราวรอบ ๆ บุษบกของเรือพนมพระ จัดว่าเป็นขนมประจำเทศกาลที่สำคัญอย่างหนึ่ง ชาวบ้านมาช่วยกันประดับตบแต่งเรือพนมพระที่วัด สรงน้ำและทำความสะอาด ให้เนื้อโลหะแห่งองค์พระสุกปลั่งเป็นเงา ก่อนอัญเชิญขึ้นบนบุษบก อัญเชิญพระพุทธรูปปางอุ้มบาตรขึ้นประทับบนบุษบก การประดิษฐ์เรือพนมพระของภาคใต้นั้น กระทำเป็น พุทธบูชา ด้วยการอัญเชิญ พระพุทธรูปปางอุ้มบาตร ขึ้นประทับบน บุษบก ที่เตรียมไว้ โดยชาวบ้านจะมาร่วมมือกันช่วยประดิษฐ์ตกแต่งเรือพนมพระกันในวัด เป็นความสามัคคีของชุมชนเรียกว่าทำกันสุดฝีมือเพื่อนำไปประกวดในระดับอำเภอ โดยเกือบทุกอำเภอจะจัดงานนี้ขึ้น เมื่อตกแต่งเรือพนมพระได้สวยงามวิจิตรแล้ว ก็จะอัญเชิญ พระพุทธรูปปางอุ้มบาตร มาสรงน้ำและทำความสะอาดให้เนื้อโลหะสุกปลั่งเป็นเงาแวบวับ เมื่อสรงน้ำเสร็จก็จัดแจงเปลี่ยนผ้าทรงให้เรียบร้อย ขั้นตอนนี้จะต้องเสร็จเรียบร้อยก่อนวันลากพระ พระสงฆ์ขึ้นนั่งประจำที่ก่อนแห่เรือพนมพระ แห่รอบพระอุโบสถก่อนออกจากวัด รถนำขบวนแห่พร้อม คณะประโคมขบวนแห่ พอเช้าตรู่วันรุ่งขึ้นชาวบ้านจะมาจัดสำรับคาวหวานมาถวายพระสงฆ์รวมทั้ง ขนมต้ม ด้วย เมื่อพระฉันเสร็จก็นิมนต์พระภิกษุประจำวัดนั้นขึ้นนั่งประจำเรือพระจัดขบวนให้เรียบร้อย โห่เอาฤกษ์เอาชัยก่อนลากเรือพนมพระออกจากวัดจะแห่รอบพระอุโบสถก่อนเพื่อความเป็นสิริมงคล ผู้ที่มีโอกาสได้ลากพระถือว่าเป็นสร้างกุศลร่วมกันในชาตินี้ เพราะได้จับเชือกลากพระเส้นเดียวกัน อนึ่ง เรือพระเป็นของหนักต้องใช้กำลังคนมากช่วยกันลาก การ ประโคมดนตรี ให้จังหวะถือว่าสำคัญมาก ผู้นำประโคมจะต้องผ่านการฝึกฝนมาอย่างดี และต้องคอยสังเกตรวมถึงการให้จังหวะประโคมเป็นทอด ๆ มีคำร้องที่สนุกสนานช่วยร้องรับกันทำให้เกิดความสนุกสนาน เช่นอิสาระพา เฮโลเฮโลสาวสาวไม่มา ลากพระไม่ไปสาวสาวพุงใหญ่ (สาวท้องแก่) เกิดลูกตามทางลากพระขึ้นควน (ภูเขาเตี้ย ๆ ) สีนวลพลับ ๆอิสาระพา เฮโลเฮโล มีเรื่องเล่าว่าที่อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช ในขณะที่แห่เรือพนมพระ คนที่นั่งประจำเครื่องประโคมซึ่งประกอบด้วย กลอง ตะโพน ฆ้อง ประโคมจังหวะ แล้วร้องเพลงเข้าจังหวะว่า แทงต้ม แทงต้ม พระอยากต้มกินต้มทั้งเปลือก พระตาเหลือกขี้ออกเปลือกต้ม เป็นความสนุกสนานที่ไม่ถือสากันแต่ประการใด เรือแห่พนมพระในเวลากลางคืน ใบเกียรติบัตรรางวัลที่ได้รับ เมื่อลากพระถึงอำเภอก็จะลากไปยังจุดที่เตรียมไว้เรียบร้อย ชาวบ้านก็จะร่วมกันถวายอาหารเพลแด่พระสงฆ์ในพิธี หลังจากนั้นก็จะมีการละเล่นในงานตลอดวัน ในคืนนั้นเรือพนมพระก็จะมีประดับไฟอย่างสวยงาม กรรมการจัดงานประกวดเรือพนมพระก็จะมาให้คะแนนเรือพนมพระ ในวันรุ่งขึ้นถึงจะประกาศผลการประกวดเรือพระซึ่งส่วนใหญ่จะมี 2 ประเภทคือ ประเภทสวยงามและความคิดสร้างสรรค์ ก่อนจะลากพระกลับวัด แม้ว่าประเพณีแห่เรือพนมพระจะมีการจัดขึ้นทุกภาคของประเทศไทย แต่ขั้นตอนและรายละเอียดของประเพณีทางภาคใต้ ก็ยังคงความสนุกสนานและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวดังที่กล่าวมา ถึงกระนั้นก็มีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือ จัดขึ้นเพื่อเป็นพุทธบูชาโดยอัญเชิญพระพุทธรูปซึ่งเป็นองค์แทนพระสัมมาสัมพุทธเจ้าขึ้นประทับบนบุษบก แล้วลากแห่ไปเป็นการจำลองเหตุการณ์สมัยที่พระองค์เสร็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ในวันออกพรรษานั่นเอง ภาพประกอบทั้งหมดโดยผู้เขียน