ไขข้อข้องใจ! ทำไมต้องจ่ายค่าขยะตามบ้าน เก็บขนขยะใครรับผิดชอบขยะเวลาเกิดขึ้นก็ไม่ค่อยมีใครอยากจะอยู่ใกล้ แถมยังอยากให้ขยะไปที่ชอบๆ ไกลๆ ที่ไหนก็ได้ที่ไม่ใช่ที่บ้านตัวเอง! สถานการณ์นี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตจริงๆ ค่ะ และแน่นอนว่าพอมีขยะแล้วมีคนมารับผิดชอบเก็บขนขยะให้เราแน่ๆ แต่ว่าต้องจ่ายค่าขยะมาก่อน "จ่ายค่าขยะ" แค่ประโยคนี้ประโยคเดียวทำให้หลายคนงงและไม่เข้าใจ แถมยังมองภาพไม่ออกด้วยว่าทำไมฉันต้องจ่ายค่าขยะ! อยากรู้ไหมคะ!? งั้นอ่านต่อกันเลยดีกว่าค่ะขยะคือมลพิษชนิดหนึ่งที่แทบจะทุกคนบนโลกนี้สร้างขึ้น เพราะอย่าลืมว่าขยะไม่ใช่มีเพียงขยะทั่วไปเท่านั้น เพราะบางคนอาจบอกว่าตัวเองไม่ได้ซื้อของ ไม่ได้ไปตลาดหรือไม่ได้ใช้ถุงพลาสติกหรืออะไรในทำนองนั้น แต่! ในความเป็นจริงนั้นขยะเปียกที่เป็นขยะอินทรีย์ก็คือขยะชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นค่ะ เพราะเรามีการหุงหาประกอบอาหารจึงมีเศษอาหารต่างๆ ด้วย พอมีขยะเราต้องรวบรวมขยะไปจัดการในพื้นที่ๆ เหมาะสม เพราะการจัดการขยะที่ไม่เหมาะสมก็มีปัญหาใหม่เกิดขึ้นได้และต้องยุ่งยากจัดการอีกค่ะโดยการจัดการขยะตามบ้านเรือนทั่วไปเป็นหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบ ซึ่งส่วนมากที่คุ้นหูกันเรามักได้ยินว่าเทศบาลเป็นคนจัดการเรื่องขยะ ตั้งแต่การเก็บขนขยะ การกำจัดขยะ การเก็บค่าขยะและอื่นๆ ทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับขยะค่ะ ขยะเกิดขึ้นแล้วมีค่าใช้จ่ายและกลายเป็นต้นทุนที่เกิดขึ้นเพื่อจัดการด้านสิ่งแวดล้อมในชุมชนๆ หนึ่ง การที่ต้องจัดการจึงมีเรื่องของการใช้งบประมาณของประเทศตามมา แต่ที่เราต้องได้จ่ายเงินในรูปของค่าขยะนั้น จริงๆ คำว่าค่าขยะนี้เราไม่ได้จ่ายค่าขยะที่เกิดขึ้นนะคะ แต่เราจ่ายค่าเก็บขนขยะและจ่ายค่านำขยะไปกำจัดให้เราค่ะทุกคนเพราะตามหลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย (Polluter Pays Principle;PPP) นั้น ทำให้เราปฏิเสธได้ยากที่จะไม่จ่ายค่าขยะค่ะ โดยเฉพาะห้างร้านต่างๆ เพราะเราเป็นคนทำให้มีขยะเกิดขึ้น! ดังนั้นเราจึงต้องมีส่วมร่วมในการจัดการขยะ และในเมื่อเรากำจัดขยะเองไม่ได้ที่บ้าน เราก็ต้องจ่ายเพื่อให้คนอื่นนำไปกำจัดแทนก็เท่านั้นเองค่ะ พอจะมองเห็นภาพไหมคะ? ประกอบกับการจัดการขยะมีต้นทุนที่สูงหากต้องใช้พื้นที่ในการฝังกลบขยะ ราคาที่ดินก็แพงแถมยังมีขั้นตอนอื่นๆ อีกหลายขั้นตอนที่ทำให้มีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นค่ะ ยิ่งต้องซื้อเตาเผายิ่งแพงมากขึ้นไปอีกค่ะ จึงถือว่าเป็นการร่วมด้วยช่วยกันคนละไม้คนละมือในการจัดการมลพิษในประเทศของเราค่ะ เพราะถามว่าค่าขยะแพงไหม!? ต้องบอกว่าในบ้านเราถือว่าถูกมากค่ะเมื่อเทียบกับต่างประเทศค่ะ เพราะจากที่ผู้เขียนเคยจ่ายค่าขยะมานั้น สำหรับบ้านเรือนทั่วไปเคยจ่ายเดือนละ 10-30 บาทค่ะ เพราะที่อเมริกาเพื่อนผู้เขียนเล่าให้ฟังว่าตามบ้านทั่วไปค่าขยะ 5 ดอลล่าร์ นี่เฉพาะขยะทั่วไปนะคะ ซึ่งถ้าบ้านไหนมีขยะชนิดอื่นอีกก็ต้องจ่ายเพิ่มอีกค่ะดังนั้นพอเข้าใจแล้วว่าทำไมเราต้องจ่ายค่าขยะ สิ่งที่ตามมาที่ต้องร่วมด้วยช่วยกันอีก คือ ต้องช่วยกันลดปริมาณขยะลงค่ะ ซึ่งอาจเริ่มจากการหันมาคัดแยกขยะในบ้านเรือนของตัวเองก่อน และยังต้องช่วยกันจัดการขยะที่มีอยู่ให้เหมาะสมก่อนนำมาทิ้งด้วย ควรวางขยะในจุดที่เตรียมไว้และวางขยะในเวลาที่กำหนด เพราะบางพื้นที่ไม่มีถังขยะรวมหน้าบ้านแล้ว แต่ให้นำขยะมาวางไว้หน้าบ้านตามวันและเวลาที่รถเก็บขนขยะจะมาเก็บค่ะ อย่างในกรณีของผู้เขียนที่ต้องนำขยะมาวางไว้หน้าบ้านทุกเช้าก่อน 06.30 น. ทุกวันจันทร์ วันพุธและวันศุกร์ ซึ่งก็ไม่ได้เป็นภาระอะไรค่ะ และเตรียมถังมารวบรวมขยะเองในบ้านด้วยค่ะ นอกจากนี้ตัวเองยังได้คัดแยกขยะที่สามารถรีไซเคิลได้ให้มากที่สุดด้วยค่ะอย่างไรก็ตามการจัดการขยะควรมีแนวทางที่เหมาะสมตั้งแต่ต้นทาง และเด็กๆ ควรได้รับการปลูกจิตสำนึกและให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดการขยะที่ถูกต้องค่ะ เพราะไม่ใช่ว่าเราจ่ายค่ายขยะแล้วก็แล้วแต่ว่าใครจะกำจัดยังไงนะคะ ใช่อยู่ว่าตอนขยะเกิดที่บ้านเป็นปัญหาแค่ในบ้าน แต่คุณผู้อ่านรู้ไหมคะว่า? เวลาขยะไปรวมอยู่ที่จุดกำจัดขยะและมีมลพิษเกิดขึ้น ปัญหาขยะจะกลายเป็นปัญหาส่วนรวมทันทีค่ะ เหมือนกับที่เราได้ยินตามข่าวเวลามีไฟไหม้บ่อขยะและเกิดควันพิษนั้น คนจำนวนมากได้รับผลกระทบและขนาดบ่อขยะอยู่คนละจังหวัดๆ ใกล้เคียงยังได้รับผลกระทบด้วยเลยค่ะจึงอยากเชิญชวนให้ทุกคนหันมาตระหนักมาขึ้นเกี่ยวกับการจัดการขยะในบ้านของตัวเองกันค่ะ และหวังว่าบทความจะเป็นประโยชน์และช่วยไขข้อข้องใจของคุณผู้อ่าน ที่พากันสงสัยว่าทำไมต้องจ่ายค่าขยะนะคะ หากชอบบทความเกี่ยวกับอนามัยสิ่งแวดล้อมแบบนี้อีก อย่าลืมกดติดตามหรือกดบุ๊กมาร์กโปรไฟล์ไว้นะคะ เพราะจะได้ไม่พลาดบทความใหม่ๆ ที่กำลังจะนำมาเผยแพร่ในเร็วๆ นี้ค่ะ เพราะเรื่องขยะ เรื่องน้ำเสียและอื่นๆ ในด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมคือประเด็นที่ผู้เขียนมีความสนใจและมีประสบการณ์มาค่ะ โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับการจัดการน้ำเสียและสิ่งปฏิกูลเครดิตภาพประกอบบทความภาพหน้าปก โดย Pchalisa จาก Pixabayภาพประกอบเนื้อหา: ภาพที่ 1, 3-4 ถ่ายภาพโดย ผู้เขียน และ ภาพที่ 2 โดย Pchalisa จาก Pixabayออกแบบภาพหน้าใน Canvaบทความอื่นที่น่าสนใจ10 ข้อเสียของการไม่คัดแยกขยะ ปัญหามลพิษในชีวิตประจำวัน10 ข้อเสียของขยะต่อสุขภาพ จากการจัดการที่ไม่เหมาะสมตามหลักวิชาการ10 แนวทางลดการใช้กระดาษในชีวิตประจำวัน แนวทางลดมลพิษง่ายๆ จากเรื่องใกล้ตัวเปิดประสบการณ์ความบันเทิงที่หลากหลายสุดปัง บน App TrueID โหลดเลย ฟรี !