วิธีกำจัดเศษอาหารเหลือทิ้ง ให้เป็นปุ๋ยบำรุงดิน ในสวนยางพารา | บทความโดย Pchalisaสืบเนื่องจากว่าผู้เขียนได้มีโอกาสลงทุนในสวนยางพารา และโดยส่วนตัวมีความสนใจเกี่ยวกับการกำจัดขยะจำพวกเศษอาหารอยู่แล้ว เลยนำสองอย่างนี้มารวมกันค่ะ จนค้นพบว่าจริงๆ แล้วเราสามารถได้ปุ๋ยบำรุงดินในสวนยางพาราได้ จากการกองหมักเศษอาหารเหลือทิ้งตามบ้านเรือน ซึ่งนอกจากจะเป็นวิธีการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแล้ว วิธีนี้ยังปลอดภัย ช่วยลดขยะ ลดการใช้ปุ๋ยเคมีลงได้ และยังสามารถเป็นตัวอย่างของการกำจัดของเสีย ที่สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติด้วยและจากที่ผู้เขียนได้มีประสบการณ์มาโดยตรงก็อยากส่งต่อข้อมูลดีๆ เอาไว้ในบทความนี้ค่ะ ด้วยวิธีเปลี่ยนเศษอาหารเป็นปุ๋ย ที่จะว่าไปก็สามารถใช้ได้กับพื้นที่สวนอย่างอื่นก็ได้นะคะ เช่น สวนกล้วยน้ำว้า สวนผลไม้ สวนมันสับปะหลัง เป็นต้น ส่วนจะต้องทำยังไงดีนั้น ต้องลองอ่านให้จบค่ะ แล้วจะพบว่าแบบนี้ก็ดีเหมือนกันนะ งั้นอย่าช้าค่ะอ่านต่อกันเลยดีกว่าก่อนที่เราจะมีเศษอาหารไปกองหมักเป็นปุ๋ยที่สวนยางพารานั้น อย่างแรกเลยเราต้องรวบรวมเศษอาหาร โดยผู้เขียนก็ได้ลงทุนซื้อถังพลาสติกพร้อมฝาปิดขนาดไม่ใหญ่มาก เพราะต้องการรวบรวมเศษอาหารเพียงแค่วันละถังถ้าเป็นไปได้ จากนั้นถ้ามีเศษอาหารเกินมาตัวเองจะนำเศษอาหารส่วนนั้นไปหมักใต้ดินในสวนผักหน้าบ้านค่ะ เลยกลายเป็นว่าตอนนี้ที่บ้านเศษอาหารทุกชิ้นมีค่าขึ้นมา ถ้าเศษอาหารในส่วนที่สัตว์เลี้ยงกินได้จะแยกไว้อีกต่างหากค่ะโดยเศษอาหารหมักปุ๋ยเน้นพวกเปลือกผลไม้ เศษผักและเศษอาหารที่สัตว์เลี้ยงกินไม่ได้นะคะ ดังนั้นเศษอาหารจะมีความชื้นสูงพอสมควร มีอะไรก็รวบรวมอันนั้นค่ะ ซึ่งในทุกวันที่ผู้เขียนได้ไปสวนยางพารา จะพกถังเศษอาหารนี้ไปด้วย 100 วันก็ 100 ถังแล้ว และตั้งแต่รวบรวมเศษอาหารไปหมักปุ๋ย ก็พบว่า ถังขยะหน้าบ้านแทบจะไม่มีขยะเปียกถูกทิ้งปนไปกับขยะทั่วไปเลยค่ะ ซึ่งดีมากๆ ต่อจากนั้นเมื่อไปถึงที่สวนยางพารา อย่างแรกที่ผู้เขียนจะทำก็คือมองหาพื้นที่ที่ต้องการเทเศษอาหารเพื่อกองหมักค่ะ โดยก็จะสุ่มเทเป็นจุดในแต่ละครั้งไป และไม่ได้มีกฏเกณฑ์อะไรมากนักสำหรับการเทกอง และการหมักเศษอาหารที่ผู้เขียนทำ จะเป็นวิธีการจัดการขยะที่ทำแบบง่ายๆ นะคะ โดยที่ไม่ได้ขุดเปิดหน้าดินเลย แต่จะอาศัยการเทกองลงบนดินแทน โดยการทำแบบนี้ก็ยังสามารถเกิดการย่อยสลายได้ดี จากที่มีจุลินทรีย์ในเศษอาหารและจุลินทรีย์ในดิน เร่งการย่อยสลายแบบใช้อากาศ (Aerobic digestion) ค่ะ ที่ยังได้ปุ๋ยคุณภาพดีมาใช้ในการปลูกพืชอีกด้วยสำหรับปัจจัยที่ส่งผลต่อการย่อยสลายเศษอาหารเหลือทิ้งตามบ้านนั้น อย่างแรกเลยคือชนิดของเศษอาหารค่ะ เศษอาหารที่มีความชื้นสูงและมีปริมาณคาร์บอนต่อไนโตรเจน (C:N ratio) เหมาะสมจะย่อยสลายได้เร็วขึ้น โดยผู้เขียนมักเทน้ำจากเศษอาหารเหลือทิ้งรวบรวมในถังด้วย จึงอยากแนะนำให้คุณผู้อ่านลองหาถังที่ไม่รั่วและมีฝาปิดค่ะ เพราะการรวบรวมเศษอาหารของเราจะง่ายขึ้นพอผู้เขียนเทกองเศษอาหารที่สวนแล้วนะคะ ต่อมาจะเขี่ยใบยางพารามากลบกองเศษอาหาร โดยอุณหภูมิที่สวนยางพาราที่ร้อนชื้นยังเหมาะสมต่อการย่อยสลายด้วย เพราะจะช่วยกระตุ้นการทำงานของจุลินทรีย์ ทำให้การย่อยสลายเกิดขึ้นเร็วขึ้นค่ะ ความชื้นที่พอเหมาะจะช่วยให้จุลินทรีย์เจริญเติบโตได้ดี การกองหมักปุ๋ยแบบที่ผู้เขียนทำถือว่า เป็นแนวทางที่มีอากาศถ่ายเทที่ดีนะคะ เพราะยังไม่ได้ขาดอากาศ จึงช่วยให้จุลินทรีย์ที่ใช้ออกซิเจนเจริญเติบโตได้ดีค่ะโดยภาพรวมการหมักเศษอาหารที่สวนยางพาราสามารถเกิดขึ้นได้ดี กระดาษชิ้นเล็กชิ้นน้อยก็ยังสามารถเกิดการย่อยสลายได้ นี่ล่ะค่ะคือข้อดีของธรรมชาติที่เลียนแบบได้ยาก เพราะเป็นกระบวนการทางธรรมชาติที่จุลินทรีย์ต่างๆ เข้ามามีบทบาทสำคัญในการย่อยสลายสารอินทรีย์ในเศษอาหาร ให้กลายเป็นปุ๋ยหมักที่มีคุณค่าทางอาหารสูงและถึงแม้ว่ากระบวนการนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมก็ตาม แต่ผู้เขียนพบว่าสภาพแวดล้อมในการกองหมักก็ไม่ได้ควบคุมยากอะไร เพราะนอกจากจะได้ปุ๋ยหมักจากเศษอาหารมาช่วยปรับปรุงคุณภาพดินให้ดีขึ้นแล้ว ปุ๋ยหมักยังอุดมไปด้วยธาตุอาหารที่จำเป็นต่อพืช ช่วยให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การปลูกพืช ที่ดูเหมือนว่าจะเกิดแบบค่อยเป็นค่อยไปก็ตามค่ะ และผู้เขียนก็ยังมองว่าคุ้มค่าหากสนใจหมักปุ๋ยจากเศษอาหารที่สวนยางพาราการหมักปุ๋ยจากเศษอาหารมีประโยชน์ค่ะ ทำให้ดินร่วนซุย อุ้มน้ำได้ดี เพิ่มปริมาณอินทรีย์วัตถุในดิน ทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์เพิ่มปริมาณจุลินทรีย์ในดิน ช่วยให้พืชดูดซับธาตุอาหารได้ดีขึ้น ลดการใช้ปุ๋ยเคมี ช่วยลดต้นทุนการผลิต และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จะเห็นได้ว่าการกองหมักเศษอาหารนั้นมีประโยชน์มากมายต่อทั้งตัวเราและสิ่งแวดล้อม ช่วยลดการปนเปื้อนของสารเคมีในดินและน้ำ ส่งเสริมการเกษตรแบบยั่งยืน เพราะการทำปุ๋ยหมักจากเศษอาหารเป็นส่วนหนึ่งของการเกษตรแบบยั่งยืน ช่วยให้ระบบนิเวศมีความสมดุลค่ะและหลังจากที่ผู้เขียนได้ทดลองนำเศษอาหารไปกองหมักเป็นเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ ได้เดินกลับไปดูจุดแรกที่นำเศษอาหารไปเทกองหมักค่ะ พบว่า โดยส่วนมากเศษอาหารถูกย่อยสลายไปหมดแล้ว จะเหลือก็เพียงส่วนที่ย่อยยากและต้องอาศัยเวลามากกว่าปกติ เช่น เปลือกไข่ไก่ สภาพแวดล้อมโดยรอบจุดนี้ไม่มีกลิ่นเหม็นรบกวนค่ะ แถมยังพบว่ามีพืชบางชนิดเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติด้วย จากที่มีเมล็ดพันธุ์ติดมาด้วยตอนเรานำเศษอาหารมาเท เช่น ต้นพริก ต้นมะเขือเทศ เป็นต้น ดังนั้นจึงอยากเชิญชวนให้คุณผู้อ่านลองมากำจัดเศษอาหารเหลือทิ้งกันค่ะ โดยให้ลองนำมาเทกองเพื่อทำปุ๋ยหมักที่ได้จากการหมักเศษอาหาร เพราะสามารถนำไปใช้บำรุงพืชผลทางการเกษตรหรือพืชผักสวนครัวที่ปลูกเองได้นอกจากนี้ยังสร้างความภูมิใจให้ตัวเองด้วย ยิ่งใครเป็นสายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมยิ่งดีเลยค่ะ เพราะการได้เห็นเศษอาหารที่เคยทิ้งกลายมาเป็นปุ๋ยที่มีประโยชน์ ทำให้เกิดความภูมิใจและความสุขในการทำสิ่งดีๆ ให้กับสิ่งแวดล้อมได้ อย่างไรก็ดีการกองหมักเศษอาหารเป็นกิจกรรมง่ายๆ ที่ทุกคนสามารถทำได้ที่บ้าน เพื่อช่วยลดปัญหาขยะ และสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับโลกของเรา นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมการใช้ชีวิตแบบยั่งยืนอีกด้วย ซึ่งผู้เขียนหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับคุณผู้อ่านไม่มากก็น้อย และถ้าชอบบทความแบบนี้อีก ก็อย่าลืมกดติดตามหรือกดบุ๊กมาร์กหน้าโปรไฟล์ไว้นะคะ เพราะจะได้ไม่พลาดบทความใหม่ๆที่จะได้นำมาเผยแพร่ในเร็วๆ นี้ค่ะ😀เครดิตภาพประกอบบทความภาพหน้าปกและภาพประกอบเนื้อหาโดยผู้เขียนออกแบบภาพหน้าปกใน Canvaเกี่ยวกับผู้เขียนภัคฒ์ชาลิสา จำปามูลศึกษาเกี่ยวกับ: พยาบาลศาสตรบัณฑิต (B.N.S.) จากวิทยาลัยพยาบาลศรีมหาสารคาม กระทรวงสาธารณสุข และสาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต (อนามัยสิ่งแวดล้อม); M.P.H. (Environmental Health) จากมหาวิทยาลัยขอนแก่นมีความสนใจและประสบการณ์เกี่ยวกับ: สุขภาพ จิตวิทยาเชิงบวก การจัดการน้ำเสียและสิ่งปฏิกูล บทความอื่นที่น่าสนใจโดย Pchalisa https://intrend.trueid.net/post/449755 https://intrend.trueid.net/post/414055 https://intrend.trueid.net/post/403204 เปิดประสบการณ์ความบันเทิงที่หลากหลายสุดปัง บน App TrueID โหลดเลย ฟรี !