รีเซต

'อนุทิน' ยันเลือก บ.ผลิตวัคซีน โควิด-19 ศึกษาดีแล้ว โวไทยจะเป็นฐานผลิตในอาเซียน

'อนุทิน' ยันเลือก บ.ผลิตวัคซีน โควิด-19 ศึกษาดีแล้ว โวไทยจะเป็นฐานผลิตในอาเซียน
ข่าวสด
27 พฤศจิกายน 2563 ( 19:08 )
54
'อนุทิน' ยันเลือก บ.ผลิตวัคซีน โควิด-19 ศึกษาดีแล้ว โวไทยจะเป็นฐานผลิตในอาเซียน

'อนุทิน' ยันเลือก “แอสตร้า เซเนก้า” ผลิตวัคซีน โควิด-19 ศึกษาละเอียดแล้ว โวไทยจะเป็นฐานผลิตในอาเซียน นักลงทุน-นักท่องเที่ยว เชื่อมั่น

 

เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2563 นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข กล่าวถึงการลงนามจัดหาวัคซีนโควิด-19 โดยเป็นการจองล่วงหน้ากับบริษัท แอสตร้า เซเนก้า จำกัด มูลค่ากว่า 6,000 ล้านบาท ว่า ยืนยันว่าก่อนเลือกบริษัทดังกล่าว ใช้เวลาและมีกระบวนการศึกษาข้อมูลอย่างละเอียด ทั้งราคา การขนส่ง การเก็บรักษา ฯลฯ ที่จะเป็นประโยชน์กับประเทศ และหากการทดลองหรือวัคซีนได้ประสบความสำเร็จจะได้แลกเปลี่ยนเทคโนโลยีในการผลิตวัคซีน ถ้ามีความบกพร่องระหว่างการทดลอง บริษัทต้องกลับไปพัฒนาให้วัคซีนใช้ได้ เมื่อการทดลองวัคซีนสำเร็จ เราจะเป็นฐานการผลิตไปยังประเทศอาเซียน จะทำให้สถานะของไทยได้รับการยอมรับมากขึ้น สร้างความเชื่อมั่นกับนักลงทุน และนักท่องเที่ยว

 

 

ด้าน นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า สาเหตุที่เลือกบริษัท แอสตร้า เซเนก้า เพราะการจองซื้อครั้งนี้มีเรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้วย ซึ่งไทยไม่ได้เป็นเพียงผู้ซื้อ แต่มีบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ เป็นผู้รับถ่ายถอดเทคโนยีร่วมผลิตด้วย แม้จะซื้อกับบริษัท แอสตร้า เซเนก้า แต่ผู้ผลิตคือบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ อีกทั้ง วัคซีนที่เป็นเทคโนโลยีที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดกับบริษัท แอสตร้า เซเนก้า ผลิต ถือเป็นเทคโนโลยีชั้นนำที่ทั้งโลกใช้ในการพัฒนาวัคซีน และเป็นงานวิจัยที่อยู่ในเฟส 3 ระดับแนวหน้า

 

 

นพ.นคร กล่าวต่อว่า ขั้นตอนหลังจากนี้ หากได้ลงมือทำจริงจะถือว่าวัคซีนดังกล่าวเป็นทรัพยากรสำคัญของประเทศ ทั้งการผลิตวัคซีนโควิด-19 และวัคซีนอื่นๆ เพื่อตอบสนองต่อโรคอุบัติใหม่ ทันทีที่มีวัคซีน จะต้องนำไปขึ้นทะเบียนกับองค์การอาหารและยา (อย.) และกรมควบคุมโรคจะนำวัคซีนไปใช้ โดยวัคซีนเข็มแรกที่คนไทยจะได้ใช้ คาดว่าไม่เกินกลางปี 2564 หากทุอย่างเป็นไปตามแผน

 

 

ส่วน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมควบคุมโรค ที่ต้องฉีดวัคซีนให้กับคนไทย ซึ่ง 1 คน ต้องได้รับ 2 โด๊ส รวมเป็นจำนวนมหาศาล วัคซีนของบริษัทดังกล่าวสามารถเก็บได้ในอุณหภูมิตู้เย็นปกติ ง่ายต่อการดูแลรักษากว่าบางบริษัท ที่ต้องเก็บวัคซีนในออุณหภูมิ -70 องศา ซึ่งเราไม่มีที่จัดเก็บได้มากขนาดนั้น และยังประหยัดค่าโลจิสติกส์ได้อีกหลายล้านบาท

 

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากวัคซีนได้ผลจะนำมาใช้กับกลุ่มใดก่อน นพ.โอภาส กล่าวว่า ต้องกำหนดกลุ่มเป้าหมายประชาชน โดยคณะวิชาการจะประชุมในต้นเดือนหน้า มีหลักการคือ จะฉีดในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ก่อน เพราะเน้นเรื่องความมั่นคงทางการแพทย์และสาธารณสุข หากแพทย์ป่วย ก็ไม่มีคนดูแลคนไข้ กลุ่มที่ 2 กลุ่มที่ติดเชื้อ และมีโอกาสเสียชีวิตสูง และกลุ่มที่ 3 กลุ่มที่ติดเชื้อ และมีโอกาสแพร่กระจายเชื้อสูง คือกลุ่มวัยรุ่น ซึ่งวัคซีนดังกล่าว มีทั้งคนอยากฉีดและไม่อยากฉีด หากให้ข้อมูลถูกต้องถึงข้อดี ข้อเสีย ผลข้างเคียง ให้คนไข้ตัดสินใจ จะทำให้การฉีดราบรื่น

 

นอกจากนี้ ยังมีการพิจารณาสถานที่จะใช้ฉีด เบื้องต้นพิจารณาใช้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล (รพ.สต.) ทั่วประเทศกว่า 10,000 แห่ง ซึ่งเป็นจุดที่อยู่ใกล้กับประชาชน หลังจากนี้ ต้องเตรียมอุปกรณ์ในการเก็บรักษา การฉีด พร้อให้ความรู้กับบุคลากรทางการแพทย์ และประชาชน

 

ขณะที่ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า ประสิทธิภาพของวัคซีนของบริษัท แอสตร้า เซเนก้า อยู่ที่ประมาณ 60-90% แต่เมื่อเปรียบเทียบกับบริษัทอื่นอยู่ที่ 90% ขึ้นไป ซึ่งธรรมชาติของวัคซีนต้องมีภูมิคุ้มกันในตัวอย่างน้อยเป็นปี จึงจะสรุปได้ว่า วัคซีนนั้นมีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน รวมถึงผลข้างเคียงจะเป็นอย่างไร ขณะนี้ 3-4 บริษัทที่เป็นคู่แข่งขันที่ประกาศออกมา ทดลองได้เพียง 2-3 เดือนเท่านั้น จึงเร็วเกินไปที่จะนำข้อมูลมาเปรียบเทียบกัน

 

"ความหวังของทั่วโลกในวันนี้ คือวัคซีนมาเร็วเท่าไร ยิ่งดีกับประชาชนในประเทศ ไทยจึงเลือกแนวทางเดียวกับทั่วโลก ไม่รอที่จะให้ได้ผลที่ชัดเจนแล้วค่อยซื้อ เมื่อเราลงนามในสัญญาแล้ว ก็จะเริ่มกระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยีและผลิตเลย และประเทศที่ซื้อวัคซีนกับบริษัทดังกล่าวมี 95 ประเทศ รวมสหรัฐฯ ยอดรวมทุกประเทศที่สั่งซื้อ 3,000 ล้านโดส และวัคซีนของบริษัทนี้ยังมีราคาถูกกว่าบริษัทอื่น" นพ.ศุภกิจ กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง