รีเซต

ย้ำ! รักษา โควิด อาการเล็กน้อยไม่จำเป็นต้องรับ ฟาวิพิราเวียร์ ทุกราย

ย้ำ! รักษา โควิด อาการเล็กน้อยไม่จำเป็นต้องรับ ฟาวิพิราเวียร์ ทุกราย
ข่าวสด
29 มีนาคม 2565 ( 12:45 )
73

กรมการแพทย์ ย้ำ ให้ยารักษาโควิด ตามแนวเวชปฏิบัติ หากไม่มีอาการหรืออาการเล็กน้อย ไม่ควรให้ ฟาวิพิราเวียร์ เพราะหายเองได้ แต่อาจให้ยาฟ้าทะลายโจร

 

วันที่ 29 มี.ค.2565 นพ.มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงแนวทางการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ ว่า กรมการแพทย์ร่วมกับภาคีเครือข่าย ทั้งสมาคม ราชวิทยาลัยที่เกี่ยวข้อง กรมวิชาการในกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) อาจารย์แพทย์และผู้ทรงคุณวุฒิ ในการจัดทำแนวทางเวชปฏิบัติการรักษาโรคโควิด 19 ซึ่งมีการปรับให้เหมาะสมกับสถานกาณ์และหลักฐานเชิงประจักษ์ โดยล่าสุดคือครั้งที่ 21 ออกมาเมื่อวันที่ 22 มี.ค.ที่ผ่านมา

 

นพ.มานัส กล่าวต่อว่า ซึ่งสถานการณ์ขณะนี้เราพบว่า เชื้อโอมิครอนสามารถติดเชื้อได้ง่าย แต่อาการไม่รุนแรง ก็ต้องปรับแนวทางการรักษาให้สอดคล้องกับตัวเชื้อและโรคที่ดำเนินไป โดยการปรับครั้งล่าสุดนั้น มีประเด็นสำคัญในกลุ่มที่ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย และข้อบ่งชี้การใช้ยาต้านไวรัสที่มีการพัฒนา คือ

 

1.กลุ่มที่ไม่มีอาการหรือสบายดี จะรักษาแบบผู้ป่วยนอกและแยกกักที่บ้าน (OPSI) ไม่จำเป็นต้องรับยาต้านไวรัส เนื่องจากสามารถหายได้เอง แต่อาจพิจารณาให้รับประทานยาฟ้าทะลายโจรตามดุลยพินิจของแพทย์ แต่ไม่ควรใช้ฟ้าทะลายโจรร่วมกับยาต้านไวรัสพร้อมกัน เพราะมีผลต่อตับ อาจทำให้ตับทำงานมากขึ้น

กรมการแพทย์ ย้ำ ให้ยารักษาโควิด ตามแนวเวชปฏิบัติ หากไม่มีอาการหรืออาการเล็กน้อย ไม่ควรให้ ฟาวิพิราเวียร์

 

2.กลุ่มที่มีอาการไม่มากหรือเล็กน้อย ไม่มีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง ยืนยันว่าไม่จำเป็นต้องรับยาทุกราย เพราะสามารถหายเองได้ โดยแพทย์อาจพิจารณาให้ยาฟาวิพิราเวียร์ได้ตามความเหมาะสม โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยง ซึ่งยาจะมีประสิทธิภาพประสิทธิผลเต็มที่คือการให้ภายใน 5 วัน ถ้าเลยเวลาที่กำหนดพบว่าไม่ได้ประโยชน์

 

"การให้ยาฟาวิพิราเวียร์มีข้อควรระวังในหญิงตั้งครรภ์ โดยเฉพาะช่วงไตรมาสแรกที่กระทบพัฒนาการของเด็กทารกในครรภ์ได้ กลุ่มที่มีปัญหาตับ ยาฟาวิพิราเวียร์มีผลข้างเคียงได้ และยังมีผลต่อการระคายเคืองทางเดินอาหาร รวมถึงทำให้กรดยูริกสูงขึ้น ทำให้คนที่มีปัญหากรดยูริกทำให้ตับและไตมีผลและตัวยูริกในร่างกายเพิ่มขึ้นได้ จึงต้องพิจารณาข้อดีข้อเสียก่อนรับประทานยา และผลข้งเคียงด้วย" นพ.มานัส กล่าว

 

นพ.มานัส กล่าวว่า ต้องทำความเข้าใจว่า เชื้อโควิดเป็นไวรัส ถ้าเราฉีดวัคซีนครบก็มีภูมิ ยิ่งดูแลสุขภาพพักผ่อนเพียงพอ ช่วยให้สุขภาพแข็งแรงมีภูมิมากขึ้น ส่วนกลุ่มที่เสี่ยงไวรัสลงปอด เกิดปอดอักเสบ และเสียชีวิตได้ คือ กลุ่ม 608 ได้แก่ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป มีโรคประจำตัว และหญิงตั้งครรภ์ แพทย์ก็จะพิจารณาให้ยา โดยเฉพาะถ้ารับวัคซีนไม่ครบ แต่ต้องพิจารณาเรื่องผลข้างเคียงของตับ

นพ.มานัส กล่าวอีกว่า ยิ่งหากมีการรับประทานยาประจำอยู่ ต้องปรึกษาแพทย์ เพราะยาอาจเสริมกันทำให้ตับทำงานมากขึ้น หรือหญิงตั้งครรภ์ต้องให้ข้อมูลแพทย์ เพราะจะไม่ให้ยาในไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ ที่สำคัญคือเราต้องใช้ยาอย่างสมเหตุสมผลเพื่อลดความเสี่ยงเชื้อดื้อยา ซึ่งหากดื้อยาก็ต้องไปใช้ยาที่แรงขึ้นเรื่อย ๆ

"สำหรับยาแพกซ์โลวิดนั้น เราเพิ่งลงนามไป มีการดำเนินการเตรียมพร้อมคลังยา โดยจะเร่งรัดให้มียาเข้ามาก่อนสงกรานต์ ส่วนการกระจายในเขตสุขภาพและหน่วยบริการ จะมีคณะกรรมการมาหารืออีกครั้ง แนวทางการให้ยาก็จะเป็นกลุ่มเสี่ยงคล้ายกับยาโมลนูพิราเวียร์" นพ.มานัส กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง