นอนโรงพยาบาล เตรียมอะไรบ้าง ห้องพิเศษโรงพยาบาลชุมชน คืนละกี่บาทเป็นความสงสัยและกังวลใจมาตลอดของใครหลายคนค่ะว่า "ตอนไปนอนโรงพยาบาลต้องเตรียมอะไรบ้างโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่เป็นญาติของผู้ป่วย" และประเด็นนี้ก็ทำให้หลายๆ คนคิดว่าต้องเป็นปัญหาแน่ๆ ถ้าได้นอนโรงพยาบาล เพราะเราต่างก็รู้กันว่าการนอนโรงพยาบาลของคนๆ หนึ่งนั้นไม่ใช่สถานการณ์ปกติในชีวิตประจำวันของเราทุกคนที่เกิดขึ้นได้บ่อยนัก และปกตินั้นการนอนโรงพยาบาลจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อผู้ป่วยมีความจำเป็นต้องนอนเพื่อทำการรักษาตามแผนการรักษาที่มีความต่อเนื่องจนกว่าอาการหรือโรคต่างๆ จะหายเป็นปกติ หรือนอนโรงพยาบาลเพื่อทำการรักษาความเจ็บป่วยนั้นให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ตามสิทธิของมนุษย์คนหนึ่งพึงจะได้รับ ที่สอดคล้องกับคำประกาศสิทธิและข้อพึงปฏิบัติของผู้ป่วยข้อหนึ่งที่พูดไว้ว่า "ผู้ป่วยทุกคนมีสิทธิขั้นพื้นฐานที่จะได้รับการรักษาพยาบาลและการดูแลด้านสุขภาพตามมาตรฐานวิชาชีพจากผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ" ดังนั้นเราจึงพบว่า ไม่ว่าจะยากดีมีจนก็ต้องมีการนอนโรงพยาบาลเพื่อการรักษาในกรณีจำเป็นค่ะ โดยเฉพาะโรงพยาบาลของรัฐบาลตามสิทธิการรักษาของแต่ละคนที่มีอยู่ที่ผ่านมาโดยส่วนตัวผู้เขียนไม่เคยนอนโรงพยาบาลในฐานะผู้ป่วยค่ะ แต่มีประสบการณ์ตรงจากการไปนอนโรงพยาบาลในฐานะญาติ จึงมีข้อมูลดีๆ อยากมาเล่าสู่กันฟังในบทความนี้ค่ะ เพราะเชื่อว่าหลายคนต้องการข้อมูลที่เป็นประโยชน์ที่สามารถนำมาใช้ได้ในสถานการณ์จริงๆ เพื่อลดความวิตกกังวลและเพื่อทำให้ตัวเองมีความพร้อมมากขึ้นหากจำเป็นต้องนอนโรงพยาบาลค่ะ ดังนั้นต้องอ่านต่อให้จบค่ะเพราะในบทความนี้ผู้เขียนจะได้เล่าถึงการเตรียมตัวนอนโรงพยาบาลทั้งในส่วนของผู้ป่วยและญาติค่ะ อ่านต่อกันเลยดีกว่าค่ะว่ามีรายละเอียดยังไงบ้างการนอนโรงพยาบาลสำหรับผู้ป่วยปกตินั้นผู้ป่วยทุกคนที่ต้องนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลจำเป็นต้องใช้เอกสารส่วนตัวค่ะ ดังนั้นต้องเตรียมบัตรประชาชนของผู้ป่วย ควรถ่ายสำเนาเอกสารมาไว้เลยค่ะกรณีแนบในกรณีอื่นๆ เช่น ใช้สิทธิห้องพิเศษ ผู้ป่วยทุกคนที่นอนโรงพยาบาลจำเป็นต้องใส่เสื้อผ้าของโรงพยาบาล และผู้ป่วยจะไม่ได้ใส่กางเกงใน ประเด็นนี้ไม่ได้ทะลึ่งนะคะ‼️ เพื่อความสะดวกในระหว่างทำการรักษาที่โรงพยาบาลค่ะ กิจกรรมที่ต้องทำอื่นๆ จะเป็นไปตามแผนการรักษาของแต่ละคนค่ะ ซึ่งผู้เขียนมองว่าในส่วนของผู้ป่วยนั้นไม่มีอะไรยาก แต่ผู้ป่วยมักเจอปัญหาว่ามีความวิตกกังวลเกี่ยวกับความเจ็บป่วยของตัวเองเป็นหลักหากมีสติรับรู้ได้ค่ะการนอนโรงพยาบาลสำหรับญาติในส่วนของญาตินี้ผู้เขียนมองว่ามีอะไรต้องทำเยอะค่ะ‼️ โดยขอพูดไว้เป็นข้อๆ ดังนี้- ญาติต้องลงลายมือชื่อในฐานะญาติที่รู้เห็นและยินยอมในเอกสารเพื่อนอนและทำการรักษาโรคในโรงพยาบาลค่ะ- ญาติต้องเก็บทรัพย์สินของมีค่าต่างๆ ของผู้ป่วย รวมทั้งเสื้อผ้าของผู้ป่วยค่ะ- ญาติต้องติดต่อเพื่อตรวจสอบสิทธิการรักษาพยาบาลของผู้ป่วยว่าเป็นนอกเขต ในเขต ประกันสังคมหรืออื่นๆ ค่ะ- หากมีการตรวจพิเศษ เช่น เอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์ ญาติต้องไปยื่นเอกสารคำร้องขอตรวจพิเศษนี้ ส่วนใหญ่จะพบได้นอกเวลาราชการค่ะ เพราะผู้เขียนได้ไปยื่นขอคิวตรวจเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์ตอนเกือบเที่ยงคืน แต่พบว่าเจ้าหน้าที่ไม่สะดวกจึงเลื่อนมาตรวจในเวลาราชการแทนค่ะ- ในวันที่ออกจากโรงพยาบาลญาติต้องไปรับยากลับบ้านและจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลค่ะ โดยรับเฉพาะเงินสดเท่านั้น- ญาติต้องนำอาหารไปให้ผู้ป่วยและเมื่อกินเสร็จแล้วญาติต้องนำถาดอาหารไปวางไว้ในจุดที่ทางตึกระบุไว้เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยค่ะ- หากผู้ป่วยไม่สามารถลุกไปเข้าห้องน้ำเองได้ ญาติต้องจัดการทั้งหมดเวลาผู้ป่วยต้องการอุจจาระและปัสสาวะค่ะ หากต้องจดบันทึกจำนวนปัสสาวะและอุจจาระก็ให้จำไว้ค่ะว่าลักษณะเป็นอย่างไร จำนวนกี่ครั้ง - หากผู้ป่วยมีไข้ในระหว่างนอนทำการรักษา ญาติจะเป็นคนแรกที่ต้องเช็ดตัวลดไข้ให้กับผู้ป่วยค่ะ รวมไปถึงกิจวัตรประจำวันอื่นๆ หากผู้ป่วยไม่ได้ถูกจำกัดการเคลื่อนไหวหรือมีข้อบ่งชี้ที่จำเพาะเจาะจงในการรักษาค่ะ ที่ผู้เขียนได้ทำนั้น มีตั้งแต่เช็ดตัวลดไข้ สระผม เปลี่ยนเสื้อผ้าให้ผู้ป่วย นำแปรงสีฟัน ยาสีฟันมาให้แปรงฟันที่เตียง เปลี่ยนผ้าปูเตียงและปอกหมอนใหม่หากพบว่าดูสกปรกค่ะ ตอนที่ย้ายไปอยู่ห้องพิเศษพยาบาลเวรเช้าจะมาเปลี่ยนผ้าปูเตียง ปอกหมอนให้ แต่ในส่วนนี้ผู้เขียนได้ทำเองค่ะ ซึ่งญาติสามารถทำเองได้ง่ายๆ ค่ะ- หากผู้ป่วยมีอาการปวดหรืออาการอื่นๆ ที่ญาติพบเห็น ญาติจะต้องไปบอกพยาบาลให้ทราบค่ะ หากสายน้ำเกลือไม่ไหล น้ำเกลือหมดก็ต้องไปบอกพยาบาลเพื่อทำการเปลี่ยนใหม่ค่ะ หากอยู่ในพิเศษให้กดกริ่งเรียกพยาบาลได้ค่ะ ยาที่ให้ทางหลอดเลือดหมดก็กดกริ่งได้เลยค่ะ- หากผู้ป่วยต้องไปที่ตึกอื่นๆ เช่น ห้องผ่าตัด ทำกายภาพบำบัด ญาติมีความจำเป็นต้องติดตามผู้ป่วยไปด้วยค่ะ เพราะในบางครั้งต้องลงลายมือชื่อในเอกสารต่างๆ - ญาติต้องนอนเฝ้าที่โรงพยาบาลในจุดที่เป็นไปได้ค่ะ เพราะต้องพาผู้ป่วยไปเข้าห้องน้ำและอื่นๆ ค่ะ โดยญาติ 1 คนสามารถนอนข้างเตียงผู้ป่วยได้ ที่ผู้เขียนได้เห็นมานั้นญาติจะมีเสื่อ 1 ผื่น หมอนและผ้าห่มค่ะ- ในระหว่างทำการรักษาหากมียาที่จำเป็นต้องใช้ในระหว่างนั้น ญาติต้องไปรับยาและนำมายามาให้กับพยาบาลที่ตึกค่ะสิ่งที่ญาติต้องเตรียมมาเมื่อต้องนอนโรงพยาบาล?ต้องบอกว่าการนอนโรงพยาบาลของญาติต้องเตรียมอุปกรณ์ต่างๆ มาคล้ายคลึงกันไม่ว่าจะเป็นห้องพิเศษและห้องรวมก็ตามค่ะ ปกตินั้นผู้ป่วยจะนอนห้องรวมก่อนเมื่ออาการไม่ได้อยู่ในภาวะฉุกเฉินจึงจะได้ย้ายไปห้องพิเศษหากจองห้องพิเศษค่ะ ดังนั้นญาติบางคนที่ไปนอนโรงพยาบาลจะได้ประสบการณ์ทั้งที่เป็นห้องพิเศษและห้องรวมค่ะ โดยในภาพรวมญาติต้องเตรียม เสื่อ ผ้าห่ม หมอน เสื้อผ้าค่ะ เตรียมอุปกรณ์อาบน้ำมาเอง และให้เตรียมผ้าขนหนูผืนเล็กสำหรับเช็ดตัวลดไข้ค่ะ กระดาษทิชชู โดยห้องรวมจะไม่สะดวกเรื่องการซักผ้านะคะขอบอกไว้ก่อน‼️ แต่ก็ยังสามารถซักผ้าได้ ซึ่งถ้าเป็นห้องพิเศษนั้นการซักผ้าก็ง่ายหน่อยค่ะ จึงไม่มีความจำเป็นต้องขนเสื้อผ้ามาเยอะ ญาติต้องดูแลเรื่องอาหารของตัวเองนะคะ แต่ผู้ป่วยทางโรงพยาบาลมีอาหารให้หากสามารถกินอาหารได้ ในห้องพิเศษมีตู้เย็นให้ค่ะ มีกาน้ำร้อนไฟฟ้าให้ และมีน้ำร้อนน้ำเย็น ไมโครเวฟส่วนกลางให้ค่ะ ครั้งหนึ่งผู้เขียนเคยไปโรงพยาบาลเอกชนก็พบว่าภายในห้องผู้ป่วยมีไมโครเวฟสำหรับอุ่นอาหารให้เหมือนกันค่ะห้องพิเศษโรงพยาบาลชุมชนดีไหม?- ห้องพิเศษโรงพยาบาลชุมชนถือว่าดีค่ะและดีมากในโรงพยาบาลที่มีจำนวนเตียงมากขึ้น พูดง่ายๆ คือ ยิ่งโรงพยาบาลใหญ่ขึ้นห้องพิเศษก็ดูดีขึ้นไปอีกค่ะ โดยห้องพิเศษโรงพยาบาลชุมชนของรัฐบาล ราคาคืนละ 1,000 บาทค่ะ โดยภายในห้องมีเตียงสำหรับผู้ป่วย มีเตียงหรือโซฟาเล็กๆ สำหรับญาติ 1 คน มีตู้เย็น ห้องน้ำในตัว และอุปกรณ์พื้นฐาน เช่น ราวตากผ้า จาน ชาม แก้วน้ำ ถังขยะ เครื่องทำน้ำอุ่น เป็นต้น ห้องพิเศษโรงพยาบาลชุมชนในภาพรวมสภาพแวดล้อมดีกว่าห้องรวมค่ะ และมีความเป็นส่วนตัวมากกว่า เงียบมากกว่าจึงทำให้ผู้ป่วยสามารถพักผ่อนได้อย่างเต็มที่ ญาติรู้สึกผ่อนคลายมากกว่าเมื่อเทียบกับว่านั่งในห้องรวมค่ะ สามารถมีกิจกรรมผ่อนคลายความเครียดได้แบบส่วนตัว เช่น ดูทีวี พูดคุยกันในบรรยากาศสบายๆ ค่ะ - การดูแลของพยาบาลกับหมอในห้องพิเศษต้องบอกว่าพยาบาลยังมาดูแลผู้ป่วยตามเวลาของแต่ละกิจกรรมการพยาบาลตามปกติค่ะ เพราะหลายคนอาจมีความเชื่อผิดๆ ว่า ไปนอนห้องพิเศษแล้วพยาบาลกับหมอไม่มาดูแล ต้องบอกว่าข้อนี้ไม่จริงค่ะ‼️ เพราะปกตินั้นกิจกรรมการพยาบาลต่างๆ จะมีเวลาที่ต้องทำ เช่น วัดไข้ทุก 4-6 ชั่วโมงแล้วแต่ราย ให้ยา ทำแผลต่างๆ จะมีเวลาระบุเฉพาะค่ะ หมอมาตรวจทุกวันในตอนสายๆ ค่ะ ฉุกเฉินกดกริ่งเรียกพยาบาลได้ค่ะ ดังนั้นห้องพิเศษก็ได้รับการดูแลปกติตามที่ควรจะเป็นในระหว่างทำการรักษาพยาบาลค่ะ และจากที่ผู้เขียนมีประสบการณ์มานั้นพบว่า การดูแลของหมอและพยาบาลในแต่ละโรงพยาบาลมีความแตกต่างกันค่ะ โดยในโรงพยาบาลที่ใหญ่กว่าให้การดูแลได้ทั่วถึงมากกว่าเพราะอัตรากำลังของบุคลากรมากกว่าค่ะ และทั้งหมดคือข้อมูลว่าถ้าต้องมานอนโรงพยาบาลจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้างค่ะ จึงหวังว่าจะทำให้คุณผู้อ่านมองเห็นภาพนะคะ หลายคนพออ่านอาจมองว่าผู้หญิงน่าจะเป็นเพศที่สามารถเป็นญาติเฝ้าผู้ป่วยได้ดีที่สุด แต่แท้จริงแล้วทุกคนสามารถมาเฝ้าผู้ป่วยที่เป็นญาติของตัวเองได้ค่ะ โดยกิจกรรมที่ต้องทำก็ไม่ได้เหนือบ่ากว่าแรงของเราทุกคนค่ะ อุปกรณ์ต่างๆ กะละมัง ผ้ายาง ทางโรงพยาบาลมีให้ค่ะ การที่ผู้ป่วยมีญาติมาเฝ้านั้นนอกจากจะได้ช่วยทำกิจกรรมต่างๆ แล้ว ญาติยังเป็นเสมือนยาทางใจค่ะ เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่นอนโรงพยาบาลแทบจะไม่ได้คิดถึงเรื่องอื่นเลย นอกจากคิดอยากหายจากการเจ็บป่วย และญาติมีส่วนช่วยอย่างมากที่ทำให้ผู้ป่วยมีกำลังใจในระหว่างการรักษาที่โรงพยาบาล จึงดีกว่ามากหากเรายอมสละเวลามาดูแลญาติของเราในระหว่างเจ็บป่วยค่ะ โดยเฉพาะคนที่เป็นพ่อแม่ของเราค่ะ เครดิตภาพประกอบบทความถ่ายภาพประกอบเนื้อหาโดย ผู้เขียนออกแบบหน้าปกบทความใน Canvaบทความอื่นที่น่าสนใจ10 วิธีทิ้งยาหมดอายุในบ้านให้ปลอดภัยต่อคนอื่นและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม7 วิธีมีความสามารถดูแลสุขภาพตัวเองได้ง่ายๆ ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ10 วิธีง่ายๆ ลดความเครียดในชีวิตประจำวัน และผ่อนคลายมากขึ้นอัปเดตข่าวสาร และแหล่งเรียนรู้หลากหลายแบบไม่ตกเทรนด์ บน App TrueID โหลดเลย ฟรี !