“ศักราช ๗๘๖ มะโรงศก (พ.ศ. ๑๙๖๗) สมเด็จพระอินทราชาเจ้าทรงประชวร นฤพาน ครั้งนั้นเจ้าอ้ายพระยาแลเจ้าญี่พระยาพระราชกุมารท่านชนช้างด้วยกัน ณ สะพานป่าถ่าน เถิงพิราลัยทั้ง ๒ พระองค์ที่นั้น จึงพระราชกุมารเจ้าสามพระยาได้เสวยราชสมบัติพระนครอยุ (ธยา ทรงพระ) นามสมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้า แลท่านจึงให้ก่อพระเจดีย์สองพระองค์ สวมที่เจ้าพระยาอ้ายแลเจ้าพระยาญี่ชนช้างด้วยกัน เถิงอนิจภาพตำบลป่าถ่านนั้น ให้ศักราชนั้นสถาปนาวัดราชบุณ” ข้อความดังกล่างนี้ปรากฏอยู่ในใพระราชพงศาวดาร ฉบับหลวงประเสิรฐ กล่าวถึงเจ้าเมืองสามองค์ ซึ่งเป็นพี่น้องกัน คือ เจ้าอ้ายพระยา เจ้าญี่ (ยี่)พระยา และเจ้าสามพระยา สำหรับเจ้าอ้ายพระยา ตามประวัตินั้นครองเมืองสุพรรณบุรี ส่วนเจ้าสามพระยา ครองเมืองพิษณุโลก ซึ่งทั้งสองเมืองนั้น ปัจจุบันเป็นเมืองสำคัญที่รู้จักกันดีอยู่แล้ว ต่างจากเจ้ายี่พระยา ซึ่งระบุว่าพระองค์ครองเมืองแพรกศรีราชา ปัจจุบันเป็นตำบลเล็กๆ อยู่ในพื้นที่ อำเภอสรรค์บุรี จังหวัดชัยนาท เมืองแพรกศรีราชา ปรากฏอยู่ในจารึกพระขุนรามคำแหงในฐานะเมืองลูกหลวง แสดงให้เห็นว่าเป็นเมืองที่มีความสำคัญไม่น้อย ในสมัยอยุธยาจึงมีการส่งบุคคลสำคัญลงมาครองเมืองแพรกศรีราชาแห่งนี้ เสมือนเป็นรัฐกันชนกับอาณาจักรสุโขทัย ซึ่งในเวลานั้นถูกลดทอนอำนาจลงแล้ว ในบทความนี้ จุจะพาไปตามรอยเจ้ายี่พระยาที่เมืองแพรกศรีราชา ที่วัดมหาธาตุ เป็นตอนแรก ความสำคัญของวัดนี้คือ เป็นวัดที่เคยบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ อย่างที่จุเคยเล่าในบทความก่อนๆ ว่า จังหวัดใดที่มีวัด(ศรี)มหาธาตุ จังหวัดนั้นเคยเป็นเมืองที่มีความสำคัญมาก่อน ที่เมืองแพรกศรีราชานี้ก็เช่นกัน ร่องรอยของวัดนี้ ปรากฏโบราณสถานและโบราณวัตถุหลายอย่าง เป็นศิลปะในยุคต้นกรุงศรีอยุธยา-อู่ทอง และยังเชื่อมต่อกับศิลปะแบบสุโขทัยไปจนถึงทวารวดี แสดงให้เห็นถึงความสำคัญมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน สิ่งที่หลงเหลืออยู่ คือเจดีย์ปรางค์ประธานขนาดใหญ่ที่ยอดถล่มพังลงมาจนไม่สามารถเดารูปทรงได้ วิหารเก้าห้องที่นิยมในช่วงต้นกรุงศรีฯ และสิ่งที่ไม่ควรพลาดของการมาที่วัดนี้ คือ พระปรางค์กลีบมะเฟือง ซึ่งถือเป็นรูปแบบเฉพาะที่หาได้ยาก ปัจจุบันนี้ พบเพียงที่วัดมหาธาตุ ที่เมืองแพรกศรีราชา และอีกที่หนึ่ง อยู่ที่วัดศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดลพบุรี นอกจากนี้ยังมีการขุดค้นใหม่ใต้ฐานเจดีย์ประธาน พบว่ามีเครื่องถ้วยจีนปะปนกันอยู่หลายยุค จึงเป็นที่เชื่อกันว่า ที่เมืองแพรกศรีราชานี้ เคยเป็นเมืองสำคัญและน่าจะเป็นเมืองที่เป็นศูนย์กลางการค้ามาก่อน เพราะที่นี่อยู่ติดกับแม่น้ำน้อย ซึ่งสามารถเชื่อมต่อไปยังแม่น้ำเจ้าพระยาที่จังหวัดชัยนาทได้ และเชื่อมต่อไปยังลำคลองบัวออกไปที่แม่น้ำท่าจีน จังหวัดสุพรรณบุรีได้เช่นกัน ดังนั้น เมืองแพรกศรีราชาของเจ้ายี่พระยานั้น ไม่ได้ด้อยไปกว่า เมืองสุพรรณบุรี และเมืองพิษณุโลกเลย แต่เพราะอะไรจึงถูกลืมเลือนไป ตอนหน้าจุจะพาไปอีกสำรวจวัดอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งน่าจะเป็นร่องรอยเชื่อมต่อของเจ้ายี่พระยากับเครือญาติของพระองค์ได้