คนอีสาน และการทำนา ปลูกข้าว เป็นสิ่งที่สัมพันธ์กัน คนในชุมชนจะยากดีมีจนมากแค่ไหน เป็นข้าราชการระดับใด ก็จำเป็นต้องทำนา แม้ไม่ได้ลงมือเองก็จ้างลูกน้องเป็นคนช่วย เพราะ ผืนนาเหมือนกับผืนดินทองคำ ที่สร้างแหล่งอาหารอันอุดมสมบูรณ์ มีข้าวกิน มีปลาร้าในไห ไม่ต้องกลัวอดตาย เช่นเดียวกันกับครอบครัวผมครับ เราทำนากันมาตั้งแต่ตั้งตระกูลก็ว่าได้มั้ง (จริงนะครับ ระบุไม่ได้ว่ารุ่นไหน) แม้ถึงรุ่นผมแล้วจะไม่ค่อยได้ไปทำนากับครอบครัว แต่ก็ได้เห็นและเรียนรู้ถึงกระบวนการทำงานในขั้นตอนต่าง ๆภาพถ่ายโดย ภาณุพงศ์ ธงศรีกลับบ้านครานี้ ความน่าสนใจเกี่ยวกับคำศัพท์ (ด้วยเป็นคนเรียนภาษา) คำว่า “ไถฮุด” ดูเหมือนจะสะดุดหูผมมาก ผมคิดว่าคำว่า “ฮุด” เป็นคำเดียวกันกับคำว่า “รุด” ในภาคกลาง ก็คือ ด่วน รีบ ด่วนไปทันที เร่งรีบ แล้วเร่งรีบอะไร? ความหมายก็คือ “การไถฮุด” การเร่งไถก่อนฝนตก (นาหว่าน) และการเร่งไถก่อนปักดำเพื่อรอฝน (นาดำ) แต่ดูเหมือนว่าการไถฮุดในปัจจุบัน นิยมไถในช่วงก่อนฝนตก เริ่มไถเดือนมีนาคม - เมษายน เพื่อเป็นการเตรียมดินให้พร้อมต่อการทำนาหว่านภาพถ่ายโดย ภาณุพงศ์ ธงศรีกระบวนการไถนาฮุด ในปัจจุบัน แตกต่างจากอดีตก่อนปฏิวัติเศรษฐกิจอีสานเป็นอย่างมากครับ เพราะเปลี่ยนจาก “ควาย” มาเป็นรถไถ ดังนั้นไม่ต้องรอให้ฝนตก ดินไม่แข็งจึงจะไถได้ ปัจจุบันแม้ดินจะแข็งขนาดไหน “รถไถนา” ก็ไถได้ ทำให้คนไถฮุดตั้งแต่ก่อนฝนตก และรอฝนเพื่อทำนาต่อไปภาพถ่ายโดย ภาณุพงศ์ ธงศรีข้อดีของการไถฮุด เป็นการกลบหญ้าที่จะมาเกิดรบกวนข้าว ลดการแก่งแย่งแร่ธาตุอาหารของข้าว เมื่อพลิกหน้าดินแล้วผึ่งแดด หญ้าเหล่านั้นก็จะตาย พร้อมทั้งเชื้อราที่อยู่ในดินก็ถูกกำจัดตามวัฏจักรธรรมชาติ ส่งเสริมให้ดินมีช่องว่างอากาศในเม็ดดินมากยิ่งขึ้น ที่สำคัญวัชพืชที่เรากำจัดจากหน้าดินเมื่อถูกไถกลบใต้ผิวดิน ก็ทำให้มีจุลินทรีย์ในดินเพิ่มมากขึ้น เมื่อถึงเวลาหว่านไถอีกรอบดินก็ร่วนซุย เหมาะต่อการหว่านข้าว และไถคราดกลบได้ หากมองในเชิงเกษตรศาสตร์การไถฮุด ก็ถือเป็นการเตรียมดินอีกรูปแบบหนึ่งเช่นกันภาพถ่ายโดย ภาณุพงศ์ ธงศรีเกร็ดภูมิปัญญาของชาวนา ที่น่าจดจำ และจารึกไว้เป็นอย่างมาก สำหรับประเทศเกษตรกรรมอย่างไทยเรา คงพอจะเห็นแล้วนะครับว่า “การไถฮุด” เป็นกระบวนการไถนาที่เชื่อมโยงหลายศาสตร์เข้าด้วยกัน สัมพันธ์กับเทคโนโลยีชาวบ้านที่เปลี่ยนไป สำหรับพื้นที่ไหนยังไม่เคยลองทำ สามารถนำไปทำได้นะครับ ไม่แน่ผลผลิตอาจเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจก็ได้ครับภาพถ่ายหน้าปกโดย ภาณุพงศ์ ธงศรี