"สอบสวนโควิด" เพื่อเป็นแนวทางรับมือ-เป็นบทเรียนต่อไป
สอบสวนโควิด - นอกเหนือจากบุคลากรทางการแพทย์ต้องกลับมารับมือการระบาดในวงกว้างของโรคโควิด-19 การสอบสวนสาเหตุต้นตอของโรคของฝ่ายความมั่นคงสำคัญเช่นกัน
เนื่องจากการระบาดรอบใหม่มีจุดใหญ่อยู่ที่ตลาดมหาชัย ศูนย์รวมสินค้าอาหารทะเลแห่งหนึ่งของประเทศ
อีกทั้งจังหวัดสมุทรสาครยังเป็นแหล่งทำงานและที่พักพิงของแรงงานต่างด้าวจำนวนมาก
ตัวเลขแรงงานที่ลงทะเบียนถูกกฎหมายมีราว 1.2 ล้านคน และประเมินว่ามีจำนวนไม่ลงทะเบียนอยู่ราว 1.8 ล้านคน
ส่วนใหญ่เป็นแรงงานเมียนมา ประเทศที่มีการระบาดของโควิด-19
สถานการณ์การระบาดของโควิดระบาดระลอกสองที่ประเทศเมียนมาเป็นข่าวใหญ่ระดับโลกติดต่อมาหลายวัน นับตั้งแต่เดือนกันยายน
เชื้อเริ่มระบาดหนักที่รัฐยะไข่แล้วลามมาถึงนครย่างกุ้ง จากหลักร้อยเพิ่มเป็นหลักพันและหลักหมื่นอย่างรวดเร็ว จนปัจจุบันมียอดสะสม ผู้ติดเชื้ออยู่ที่หลักแสน
ข่าวสารดังกล่าวเป็นเรื่องที่เพื่อนบ้านอย่างไทยรับทราบและติดตามมาโดยตลอด แม้ทางการออกข่าวเป็นระยะว่าเพิ่มการควบคุมชายแดน แต่กลับใช้มาตรการ ขอความร่วมมือ ภาคเอกชนไม่รับแรงงานต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมาย
กระทั่งเกิดกรณีชาวไทยผู้ค้าอาหารทะเลป่วยด้วยโรคโควิด ที่จ.สมุทรสาคร และตรวจพบแรงงานต่างด้าวติดโควิดจำนวนมาก ต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์
ขณะนี้เกิดคำถามในหมู่ประชาชนว่า ความผิดพลาดนี้มาจากระบบการตรวจสอบส่วนใด
ในเมื่อเกิดการระบาดในเมียนมาแล้ว การเคลื่อนย้ายแรงงานเพื่อมาหาหนทางทำมาหากินในประเทศไทยย่อมเป็นเรื่องที่คาดการณ์ได้
ขณะที่การพึ่งพาแรงงานต่างด้าวในอุตสาหกรรมอาหารทะเลและอื่นๆ ของไทยเป็นเรื่องที่รับรู้โดยทั่วไปว่ามีความจำเป็น
แต่การเอาใจใส่ดูแลตามสิทธิแรงงานขั้นพื้นฐานโดยไม่เหยียดเชื้อชาติ การตรวจสอบระบบรักษาอนามัยและการป้องกันโรคในตลาด รวมถึงที่พักของแรงงานต่างด้าว เป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน ว่าต้องให้สอดคล้องกับมาตรฐานทางสาธารณสุขของประเทศ
สถานการณ์นี้เป็นช่วงเวลาของการแก้ไขและสอบสวนสาเหตุ เพื่อเป็นแนวทางรับมือและเป็นบทเรียนต่อไป