ศึกษาพบอาหารสำเร็จรูปเด็กเล็กในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งไทย มีน้ำตาล-เกลือสูง
ศึกษาพบ 'อาหารสำเร็จรูป' เด็กเล็กในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมไทย มีน้ำตาล-เกลือสูง
กรุงเทพฯ, 14 ธ.ค. (ซินหัว) -- ผลการศึกษาใหม่ที่เผยแพร่เมื่อวันพฤหัสบดี (14 ธ.ค.) เผยว่าอาหารสำเร็จรูปสำหรับเด็กในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อายุระหว่าง 6 เดือนถึง 3 ปี มีระดับน้ำตาลและเกลือที่สูง รวมถึงมีการใช้ฉลากที่อาจสร้างความเข้าใจผิดในวงกว้าง และใช้กฎระเบียบเกี่ยวกับส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์และการจัดจำหน่ายที่ไม่เข้มงวด
การศึกษาข้างต้นซึ่งสนับสนุนโดยกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติหรือยูนิเซฟ (UNICEF) และพันธมิตรของกลุ่มความร่วมมือเพื่อการปรับปรุงอาหารเสริมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (COMMIT) ทำการประเมินอาหารธัญพืชสำหรับทารก ซุปข้น อาหารเหลวแบบซอง ของขบเคี้ยว และอาหารพร้อมรับประทาน จำนวนกว่า 1,600 รายการ ที่มุ่งจำหน่ายสำหรับเด็กเล็กในกัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนามการศึกษาพบว่าผลิตภัณฑ์ร้อยละ 44 เติมน้ำตาลเพิ่มและมีสารให้ความหวาน และตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 72 สำหรับสินค้ากลุ่มของขบเคี้ยวและอาหารแบบพอดีคำ และมากกว่าหนึ่งในสามมีปริมาณโซเดียมเกินระดับที่แนะนำในด้านพฤติกรรมผู้บริโภค อาหารเสริมเชิงพาณิชย์มีความสำคัญต่อรูปแบบการกินอาหารในกลุ่มประชากรเด็กในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้นร้อยละ 45 ในช่วงห้าปีที่ผ่านมาอย่างไรก็ดี ประเทศทั้ง 7 แห่งดังกล่าวไม่มีนโยบายระดับชาติที่สอดคล้องกับคำแนะนำระหว่างประเทศเกี่ยวกับส่วนประกอบและการใช้ฉลากของกลุ่มอาหารเหล่านี้ ขณะหลายประเทศขาดมาตรการทางกฎหมายในการควบคุมปริมาณน้ำตาลและเกลือการศึกษาพบการใช้คำอวดอ้างจำนวนมาก โดยมีการอ้างถึงส่วนประกอบผลิตภัณฑ์หรือปริมาณสารอาหารปรากฏในผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการประเมินเกือบร้อยละ 90 ซึ่งคำกล่าวอ้างทั่วไปที่ปรากฏในผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณน้ำตาล เกลือ หรือไขมันสูง ได้แก่ "จากธรรมชาติทั้งหมด" "แหล่งวิตามินดี" และ "ไร้ส่วนผสมปรุงแต่ง"เดอเบอรา โคมินี ผู้อำนวยการยูนิเซฟประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กล่าวว่าโภชนาการที่ดีในช่วงขวบปีแรกช่วยให้เด็กๆ เจริญเติบโต เติมพลังให้ครอบครัว แรงงานที่มีประสิทธิภาพ และเศรษฐกิจที่เข้มแข็งยูนิเซฟและพันธมิตรกลุ่มความร่วมมือฯ เรียกร้องการปรับปรุงกฎระเบียบของรัฐบาล อาทิ การห้ามเติมน้ำตาลเพิ่มและสารให้ความหวาน การจำกัดปริมาณน้ำตาลและโซเดียม การป้องกันการทำตลาดที่ชักจูงให้เข้าใจผิด การตรวจสอบและการบังคับใช้กฎระเบียบอย่างเข้มงวดโดยรัฐบาล ตลอดจนการให้การสนับสนุนผู้ปกครองท่ามกลางตลาดที่อาจสร้างความเข้าใจผิดเกี่ยวกับอาหารเสริมเชิงพาณิชย์