รีเซต

เสร็จซะที! ทางรถไฟไฮสปีด ไทย-จีน  3.5 กิโลเมตรแรก  หลังสร้างลากยาวเกือบ 3 ปี

เสร็จซะที! ทางรถไฟไฮสปีด ไทย-จีน  3.5 กิโลเมตรแรก  หลังสร้างลากยาวเกือบ 3 ปี
ข่าวสด
23 กันยายน 2563 ( 10:54 )
360

สร้างเสร็จแล้ว ทางรถไฟไฮสปีด ไทย-จีน ระยะทาง 3.5 กิโลเมตรแรก หลังลากยาวเกือบ 3 ปี กรมทางหลวง เตรียมส่งมอบให้ รฟท.ใช้เป็นโมเดลต้นแบบ

 

นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย รองอธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) กระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เฟสที่ 1 เส้นทางกรุงเทพฯ – นครราชสีมา ช่วงที่ 1 กลางดง – ปางอโศก กม.150+500 – 154+000 ระยะทาง 3.5 กิโลเมตรแรก ซึ่งเป็นไปตามบันทึกความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง ทล. กับ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) โดยกรมทางหลวงดำเนินการก่อสร้างให้นั้น

 

สำหรับโครงการนี้เป็นโครงการความร่วมมทอระหว่างรัฐบาลไทย และรัฐบาลจีนที่ร่วมมือกันผลักดันเพื่อให้เกิดรถไฟฟ้าความเร็วสูงเส้นทางแรกของประเทศไทย ซึ่งปัจจุบัน ทล. ได้ดำเนินโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จ 100% และคาดว่าจะส่งมอบงานให้ รฟท. ในฐานะเจ้าของโครงการ ได้ภายในเดือนกันยายน 2563

 

โดยโครงการนี้จะถือเป็นต้นแบบในการดำเนินงานในช่วงต่อไปของโครงการรถไฟความเร็วสูง เพื่อให้ทราบถึงกระบวนการทำงาน คุณภาพของวัสดุ ทำให้สามารถใช้วัสดุภายในประเทศให้มากที่สุด ซึ่งกรมทางหลวงได้ปรับปรุงคุณภาพวัสดุ เช่น คอนกรีต เหล็กเส้น และงานชั้นวัสดุ Top Layer ให้มีคุณสมบัติตรงตามมาตรฐานรถไฟความเร็วสูง

 

สำหรับโครงการก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูงไทย – จีน ช่วงที่ 1 กลางดง – ปางอโศก ประกอบด้วยงานหลัก 5 งาน ได้แก่ งานย้ายรางรถไฟเดิม,งานดินตัดและงานถมวัสดุในหน้าตัดคันทางรถไฟความเร็วสูง,งานชั้นวัสดุ Top Layerหรืองานบดอัดวัสดุก่อนงานวางรางและหินโรยทาง,งานคอนกรีตประกอบคันทางรถไฟความเร็วสูง ,งานถนนบริการขนานกับคันทางรถไฟความเร็วสูง ระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตร

 

“การดำเนินงานทั้งหมดใช้เวลาทั้งสิ้น 2 ปี 6 เดือน ซึ่งใช้เวลาในการก่อสร้างค่อนข้างมาก เนื่องจากต้องใช้กระบวนการทำงานของ ทล. เองมาประยุกต์ให้เข้ากับกระบวนการทำงานของรถไฟความเร็วสูง โดยผู้ควบคุมงานจากประเทศจีน ที่ผ่านมา ทล. ได้ทำงานควบคู่กับการศึกษาและเรียนรู้ เพื่อให้สามารถใช้วัสดุภายในประเทศให้ได้มากที่สุดและที่ผ่านมาได้นำเข้าวัสดุจากประเทศจีน 2 รายการ ได้แก่ ผ้าใบกันความชื้น และสายดิน คิดเป็น 2% ของมูลค่าก่อสร้างรวมทั้งหมด “

 

นอกจากนี้ ทล. ยังได้จัดทำคู่มือการก่อสร้างคันทางรถไฟความเร็วสูงตามประสบการณ์การทำงานกับผู้ควบคุมจากประเทศจีน เพื่อให้ความรู้กับผู้ที่สนใจหรือผู้รับจ้างอื่นๆต่อไป อย่างไรก็ตาม โครงการก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูง จะช่วยเสริมสร้างโครงข่ายการคมนาคมของประเทศรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และการคมนาคมขนส่งถึงประเทศจีน รวมทั้งยังช่วยยกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ตามนโยบายรัฐบาลอีกด้วย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง