รีเซต

'เศรษฐพงค์'แนะวางโครงสร้าง SSA-STM เตรียมกิจการอวกาศ

'เศรษฐพงค์'แนะวางโครงสร้าง SSA-STM เตรียมกิจการอวกาศ
มติชน
15 ตุลาคม 2563 ( 10:06 )
66
'เศรษฐพงค์'แนะวางโครงสร้าง SSA-STM เตรียมกิจการอวกาศ

‘เศรษฐพงค์’แนะวางโครงสร้าง SSA-STM เตรียมกิจการอวกาศ ชี้ช่วงแรกอาจให้หน่วยงานที่เหมาะสมดูแล จากนั้นค่อยเปิดแข่งขัน ย้ำเศรษฐกิจอวกาศไม่ใช่เรื่องไกลตัว ต้องเร่งวางแผนเพื่อเป็นผู้นำของโลก

 

เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย(ภท.) ในฐานะรองประธานกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการสร้างเศรษฐกิจอวกาศว่า เรื่อง Space Situational Awareness (SSA) กับ Space Traffic Management เป็นอีกเรื่องที่สำคัญที่จะต้องมี ถ้าเราตัดสินใจที่จะสร้างเศรษฐกิจอวกาศ เพราะ SSA และ STM จะช่วยเราดูทรัพย์สินของประเทศไทยในอวกาศ ไม่ว่าจะเป็นดาวเทียมขนาดไหนก็ตาม ยานอวกาศ และสถานีอวกาศ เพื่อหลบเลี่ยงการชนของ อุกาบาต หรือ วัตถุอวกาศของประเทศอื่นๆ ซึ่งในตอนนี้มีดาวเทียมที่ยังคงทำงานอยู่ประมาณ 2,800 ดวงในวงโคจร ยังไม่นับดวงที่ไม่ทำงานและขยะอวกาศต่างๆ ถ้าจะส่งดาวเทียมขึ้นไปต้องมีระบบที่พยายามหลีกเลี่ยงการชนให้ได้ ในส่วนของ SSA และ STM ควรให้มีการแข่งขัน เปิดให้เอกชนลงทุนได้ด้วยก็จะดี เพราะการทำ SSA และ STM จะต้องมีการประสานความร่วมมือกับต่างชาติเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน อาศัยเพียงข้อมูลจากเรดาห์ในประเทศนั้นอาจไม่เต็มประสิทธิภาพ แต่ในช่วงแรกอาจจะต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มีความเหมาะสม เช่น กองทัพอากาศ ดำเนินงานไปก่อน

 

พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าวอีกว่า ที่สหรัฐอเมริการมีการเสนอ SDA ในความเข้าใจของตนถ้าเป็น SSA น่าจะเป็นเอกชนรายไหนก็ทำได้ภายใต้ใบอนุญาต แต่ถ้าใช้คำว่า SDA น่าจะเป็นกิจการของทหารเท่านั้น ถึงแม้ว่าทางเทคนิคแล้วสองอย่างนี้คือเรื่องเดียวกัน ส่วน STM นั้นแนวทางของยุโรปก็น่าสนใจพอจำแนกหัวข้อย่อยของ Space Traffic Management เป็นสามส่วนด้วยกันคือ Space Traffic Monitoring, Space Traffic Regulation และ Space Traffic Coordination วัตถุประสงค์ในการทำ STM เพื่อเหลีกเลี่ยงและลดการเกิดการชนกันของวัตถุอวกาศ โดยสามารถดำเนินการได้ในสองแบบคือ Protection และ Prevention ซึ่งเราอาจจะนำมาปรับออกเป็นนโยบายว่าเราจะออก Protection Policy ของเราเป็นอะไร Prevention Policy เป็นอะไร โดยผ่านกลไกสามตัวคือ Monitoring, Regulation, และ Coordinationโดยในรายละเอียดอาจจะมีการนำเสนอ โปรแกรมต่างๆสำหรับ Monitioring เอาไว้ด้วย

 

“เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ประเทศไทยจะต้องมีการวางแผนให้ชัดเจน เพราะเรื่องของเศรษฐกิจและกิจการอวกาศเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมากในอนาคต หากเรามีการวางแผนทที่ดีและชัดเจน จะส่งผลดีต่อการพัฒนาด้านเศรษฐกิจในหลายๆด้าน รวมถึงความมั่นคงทางอวกาศด้วย วันนี้เรื่องกิจการอวกาศไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไปแล้ว เพราะหลายๆประเทศกำลังเริ่มดำเนินการ เริ่มเป็นรูปเป็นร่างแล้ว หากเราเร่งวางแผนและดำเนินการ เราจะสามารถก้าวไปเป็นผู้นำของโลกได้”พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง