รีเซต

"ผู้ว่าฯชุมพร" สั่งตั้งคณะอนุกรรมการรับมือภัยพิบัติกรณีเร่งด่วน

"ผู้ว่าฯชุมพร" สั่งตั้งคณะอนุกรรมการรับมือภัยพิบัติกรณีเร่งด่วน
มติชน
12 ตุลาคม 2564 ( 12:02 )
23

เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2564 นายธีรวัฒน์ ธีระรัฐพล ผู้อำนวยการสถานีอุตุนิยมวิทยาจังหวัดชุมพร เปิดเผยว่า เมื่อเวลา 04.00 น.วันเดียวกัน พายุโซนร้อน “คมปาซุ” บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน มีศูนย์กลางอยู่ที่ละติจูด 19.1 องศาเหนือ ลองจิจูด 120.0 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสูดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกด้วยความเร็วประมาณ 25 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่าจะเคลื่อนผ่านเกาะไหหลำ ประเทศจีน และขึ้นฝั่งที่ประเทศเวียดนามตอนบนในวันที่ 13-14 ตุลาคม 2564 โดยจะอ่อนกำลังลงตามลำดับ ลักษณะเช่นนี้จะทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือในวันดังกล่าวมีฝนเพิ่มมากขึ้น โดยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง และยังมีร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังแรงขึ้น โดยทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร และบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวัง เรือเล็กควรงดออกจากฝั่งในระยะนี้

 

“ช่วงวันที่ 13-14 ตุลาคม 2564 พายุโซนร้อน คมปาซุ จะเคลื่อนตัวไปทางเวียดนามตอนบน ประเทศไทยจะได้รับอิทธิพลเรื่องฝนตกหนักถึงหนักมาก นอกจากนั้น มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังมีกำลังแรง จึงสอดรับกับพายุที่จะทำให้เกิดฝนตกหนัก ดังนั้น ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยและพื้นที่ราบลุ่ม ต้องติดตามประกาศเตือนภัย เฝ้าระวังฝนตกหนัก น้ำป่าไหลหลาก และเตรียมพร้อมรับมือเอาไว้ด้วย” นายธีรวัฒน์ กล่าว

 

นายณรงค์ หลักกำจร ประชาสัมพันธ์จังหวัดชุมพร เปิดเผยว่า จังหวัดชุมพร โดย นายสมพร ปัจฉิมเพ็ชร รองผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการศูนย์ข้อมูลข่าวสารเพื่อการประชาสัมพันธ์ป้องกันและแก้ไขภัยพิบัติจังหวัดชุมพร เพื่อต้องการให้สื่อมวลชนทุกแขนงเข้ามามาส่วนร่วมในการประชาสัมพันธ์การป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติต่างๆ ทั้งภัยธรรมชาติ เช่น อุทกภัย วาตภัย ภัยแล้ง ภัยหนาว รวมทั้งภัยที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ เช่น อัคคีภัย อุบัติภัย การรั่วไหลของสารเคมีและวัตถุอันตราย ฯลฯ ที่มีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีความซับซ้อนมากขึ้น โดยจะมีการเชิญคณะอนุกรรมการรวม 26 คน เข้าประชุมด่วนในครั้งแรก เวลา 14.30 น.วันที่ 12 ตุลาคมนี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง