ผมเชื่อเหลือเกินว่าแทบจะทุกคนจะรู้จักคำว่า “รัก” เป็นอย่างดี แต่อาจจะมีที่มา หรือความเข้าใจความหมายของคำดังกล่าวต่างกัน หากเรานำคำนี้ไปถามคนบางกลุ่ม เราอาจจะได้คำตอบที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่า กลุ่มคนเหล่านั้นมีผลประโยชน์ (มากน้อย) อย่างไร หากเรามอง ความรักเป็นเรื่องของคนสองคน อาจมีบางท่านให้คำนิยามว่า ความรักคือความปรารถนาดีต่อกันและกัน ตามคำพิพากษาฎีกาที่ ๖๐๘๓/๒๕๔๖ ที่กล่าวว่า “.. ความรักเป็นสิ่งที่เกิดจากใจไม่อาจบังคับกันได้ ความรักที่แท้จริงคือความปรารถนาดีต่อคนที่ตนรักความยินดีที่คนที่ตนรักมีความสุข การให้อภัยเมื่อคนที่ตนรักทำผิด และการเสียสละความสุขของตนเพื่อความสุขของคนที่ตนรัก จำเลยปรารถนาจะยึดครองผู้ตายเพื่อความสุขของจำเลยเอง เมื่อไม่สมหวังจำเลยก็ฆ่าผู้ตาย เป็นความผิดและการกระทำที่เห็นแก่ตัวเห็นแก่ได้ของจำเลยโดยฝ่ายเดียว มิได้คำนึงถึงจิตใจและความรู้สึกของผู้ตาย หาใช่ความรักไม่ ..." นอกจากนี้ในเชิงความสัมพันธ์ของมนุษย์ เราอาจวิเคราะห์ในอีกนัยหนึ่ง คือ ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่นรวมถึงสิ่งไม่มีชีวิตได้ เหล่านี้ล้วนสะท้อนจาก มิติทางกฎหมาย เช่น กฎหมายอาญา ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ หรือ กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วย ละเมิด และ/หรือทรัพย์ เป็นต้น ทั้งนี้ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสัตว์อาจสะท้อนจากการประกาศใช้กฎหมายเป็นการเฉพาะ อาทิ พรบ. พรบ.ป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ฯ พ.ศ.2557 เหล่านี้ย่อมสะท้อนถึงความรักที่เรามีต่อสิ่งของ และสัตว์ ตามลำดับ อนึ่ง ในเชิงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์นั้น อาจไปได้ไกลถึงสถาบันครอบครัวที่ประกอบด้วย พ่อ-แม่-ลูก ซึ่งรับรองโดยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ:ครอบครัว กล่าวคือ กฎหมาบรับรองสถานะความเป็นบิดา มารดาและบุตร รวมถึงส่งเสริมความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัวให้มีอยู่ตราบนานเท่านาน โดยเปิดโอกาสให้บุคคลใดก็ตาม (ไม่จำกัดเพศ) ที่หาญกล้ามาทำให้สถาบันครอบครัวสั่นคลอนจำต้องรับโทษทางกฎหมาย ตามมาตรา 1516 ที่บัญญัติว่า “เหตุฟ้องหย่า มีดังต่อไปนี้ (๑)* สามีหรือภริยา อุปการะเลี้ยงดู หรือ ยกย่อง ผู้อื่น ฉันภริยาหรือสามี เป็นชู้ หรือ มีชู้ หรือ ร่วมประเวณีกับ ผู้อื่น เป็นอาจิณ อีกฝ่ายหนึ่ง ฟ้องหย่าได้...” ซึ่งโปรดสังเกตคำว่า “ผู้อื่น” นั้นแปลว่ากฎหมายไม่คำนึงถึงเพศในลักษณะเฉพาะ แม้ว่าสามีหรือภริยา จะมีความสัมพันธ์เชิงชู้สาวกับเพศเดียวกัน เขาหรือเธออาจถูกฟ้องเรียกค่าเสียหายได้ และอาจถือเป็นเหตุแห่งการฟ้องหย่าได้และในทางกลับกันหากมองในมุมกฎหมายอาญานั้น มีการการเปลี่ยนแปลง/แก้ไขกฎหมายเพื่อลงโทษการข่มขืนเพศเดียวกันได้ เช่น มาตรา “มาตรา ๒๗๖ (ที่ว่า) “ผู้ใดข่มขืนกระทำาชำาเราผู้อื่นโดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ โดยใช้กำลังประทุษร้ายโดยผู้อื่นนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ หรือโดยทำ ให้ผู้อื่นนั้นเข้าใจผิดว่าตนเป็นบุคคลอื่นต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่แปดหมื่นบาทถึงสี่แสนบาท ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง (ที่กล่าวก่อนหน้านี้) ได้กระทำโดยทำให้ผู้ถูกกระทำเข้าใจว่าผู้กระทำมีอาวุธปืน หรือวัตถุระเบิด ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่เจ็ดปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนสี่หมื่นบาทถึงสี่แสนบาท ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ได้กระทำโดยมีอาวุธปืนหรือวัตถุระเบิด หรือโดยใช้อาวุธ หรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิงหรือกระทำกับชายในลักษณะเดียวกัน ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สามแสนบาทถึงสี่แสนบาท หรือจำคุกตลอดชีวิต ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง เป็นการกระทำความผิดระหว่างคู่สมรส และคู่สมรสนั้นยังประสงค์จะอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้เพียงใดก็ได้ หรือจะกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติแทนการลงโทษก็ได้ ในกรณีที่ศาลมีคำ พิพากษาให้ลงโทษจำคุก และคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ประสงค์จะอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาต่อไป และประสงค์จะหย่า ให้คู่สมรสฝ่ายนั้นแจ้งให้ศาลทราบ และให้ศาลแจ้งพนักงานอัยการให้ดำเนินการฟ้องหย่าให้” โปรดอ่านอีกครั้งและ ผมขออนุญาตกล่าวเหตุผลเดิมคือ กฎหมายอาญามุ่งจะลงโทษการกระทำความผิดทางอาญาในความผิดเดิมที่เคยกำหนดให้เฉพาะบุคคลต่างเพศกระทำได้เท่านั้นส่งผลให้ผมมานั่งใคร่ครวญว่า การเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายดังกล่าวนั้นพยายามลงโทษบุคคลอย่างเสมอภาคกัน (หรือไม่?) โดยไม่เปิดช่องโหว่ทางกฎหมายให้บุคคลเพศเดียวกันสามารถรอดพ้นเงื้อมมือทางกฎหมายได้หากกระทำความผิด การแก้ไขทางกฎหมายจึงน่าจะสะท้อนหรือสอดคล้องกับความเป็นไปทางสังคมได้อย่างลงตัว แต่ในขณะเดียวกันผมกลับมองว่า คนในกลุ่ม LGBTQ อาจต้องรับผิดรับโทษดังที่ผมกล่าวมาข้างต้น กลับกันสิทธิที่คนกลุ่มดังกล่าวพึงมีพึงได้กฎหมายยังหาได้รับรองไม่ ด้วยเหตุนี้ผมจึงอยากจะสะท้อนว่า “เรา (กฎหมาย)เป็นธรรม แล้วหรือ?” กล่าวในอีกนัยหนึ่งคือ หากเป็นการลงโทษคนกลุ่ม LGBTQ อาจต้องรับผิดตามกฎหมายเฉกเช่นเดียวกับ straight แต่ในขณะเดียวกัน คนกลุ่ม LGBTQ หาได้มีสิทธิเสมอ straight ไม่ ด้วยเหตุนี้ ผมจึงอยากสร้างแรงกระเพื่อมเชิงสังคมและกฎหมายว่า “เราควรให้การรับรองสิทธิขั้นพื้นฐานแก่คนกลุ่มนี้แล้วหรือยัง” สิทธิขั้นพื้นฐานในกรณีนี้ คือ “ความรัก” ที่ทุกคนทราบความหมายแต่ได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียม นอกจากนี้ผมยังไม่ทราบเหตุผลที่แท้จริงว่า คนกลุ่มความหลากหลายทางเพศไม่สมควรได้รับการรับรองทางกฎหมาย โดยเฉพาะกลุ่มฝ่ายคัดค้านที่อ้างเรื่อง แนวคิดอนุรักษ์นิยมที่มุ่งคุ้มครองความรักเฉพาะ ชาย-หญิงเท่านั้น ไม่คุ้มครองเพศเดียวกัน แต่ผมขออนุญาตตั้งข้อสังเกตว่า ประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ ถูกร่างในสมัยที่การเรียกร้องสิทธิในกลุ่ม LGBTQ ยังไม่ได้รับความสนใจเฉกเช่นปัจจุบัน การคุ้มครองความสัมพันธ์เฉพาะชาย-หญิงในสมัยดังกล่าวย่อมคาดหมายได้ แต่กลับไม่สอดคล้องกับกระแสในยุคปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้ในเมื่อกฎหมายทั้งสองฉบับได้แก้ไขบทลงโทษแก่เพศเดียวกันแล้ว เพราะเหตุใดจึงยังไม่ยอมรับรองสิทธิบุคลในกลุ่มดังกล่าวเสียที หลายท่านอาจจะเห็นแย้งว่า ครม.อนุมัติหลักการในร่าง พรบ.คู่ชีวิตแล้ว จึงน่าจะถือเป็นนิมิตหมายที่ดีต่อคนในกลุ่ม LGBTQ ... ก็จริงอย่างที่ท่านว่า แต่การแก้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไม่ง่ายกว่าหรือครับ? ทั้งนี้เพื่อรับรองสิทธิในความเป็นพลเมือง (Civil right) ในส่วนของการสร้างครอบครัวระหว่างคู่รักเพศเดียวกัน เฉกเช่นเดียวกับ คู่รักต่างเพศ ยิ่งเราพยายามสร้างกฎหมายที่มีลักษณะเฉพาะบังคับความรักไม่ว่าจะเพศ และ/หรือ สถานะภาพใด ย่อมเป็นการยากที่เราจะกล้าบอกกับสังคมโลกว่า เราปฏิบัติต่อทุกคนอย่างเท่าเทียม ... รักก็ คือ รัก ครับ อย่าทำให้เรื่องมันยากไปกว่านี้ ฝากไว้ให้คิดครับ ผมเรียนสอบถามผู้ใหญ่ในบ้านเมืองครับว่า เมื่อไหร่จะเลิกมอง LGBTQ เป็นผู้ถูกกระทำเสียที โลกเขาไปถึงไหนแล้วครับ การที่กฎหมายรับรองไม่ได้ทำให้ให้ประเทศดูไร้อารยธรรม กลับกันประเทศไทยจะน่าอยู่มากขึ้นเป็นกอง อย่างน้อยเศรษฐกิจหลายต่อหลายประเทศก็ถูกขับเคลื่อนโดย LGBTQ นะครับ อย่าให้ต้องถึงขนาดกฎหมายรับรองสถานะทางกฏหมายของ AI ก่อน ภาพโดย https://images.app.goo.gl/PCvqJqQjLd5d3m3HA) เลยครับ (เรียนตามตรงผมละอาย)! (ภาพโดย https://conservativememes.com/i/lgbt-straight-comment-like-none-20939290) ท้ายนี้นะครับ หากสนใจเรื่อง ความหลกหลายทางเพศจะมีการจัดประชุมสัมนาที่ คณะนิติศาสาตร์จุฬา “คู่ชีวิต = คู่สมรส ?” วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน 2562 เวลา 13.00-16.00 น.ณ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (http://www.law.chula.ac.th/event/7168/?fbclid=IwAR0hfL6zfcOoc5R9tNUBa8WwsMVGrANlFvGnVcpoI1hZ4nGT6P6XaaDA0Bw)