การฝึกสอนนั้นได้มีแต่ฝึกสอนในโรงเรียนเท่านั้นนะคะ แต่รวมถึงการฝึกสอนใน กศน. ด้วยนะคะ (อันนี้ขึ้นอยู่กับสาขาวิชาเอกที่เรียนค่ะ ซึ่งเรารู้สึกว่ามันดีมาก ๆ ที่ได้ฝึกสอนในรูปแบบการศึกษาที่หลากหลายมากขึ้นค่ะ) ดังนั้นวันนี้เราเลยขอเล่าเรื่องราวที่เราได้เคยผ่านการฝึกสอน กศน. มาแล้ว จากที่บทความเก่าได้เล่าถึงการฝึกสอนในโรงเรียนแล้วค่ะบทความ: แชร์ประสบการณ์ฝึกสอนในโรงเรียนของนิสิต/นักศึกษาครู ความเดิมตอนที่แล้ว จากบทความก่อนหน้านี้ที่ชื่อ แชร์ประสบการณ์ฝึกสอนในโรงเรียนของนิสิต/นักศึกษาครู ในตอนท้ายเราได้เล่าถึงนักเรียนที่เป็นเพื่อนสมัยมัธยมแต่เรียนไม่จบ แล้วได้มาเรียนต่อ กศน. ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นเรื่องบังเอิญมากค่ะ สำหรับเพื่อนคนนี้ขอเล่าให้ฟังคร่าว ๆ นะคะ (ขออนุญาตจากเจ้าตัวแล้วนะ) ในตอนสมัยเรียนนั้นเพื่อนค่อนข้างโดดเรียนอยู่เป็นประจำ แล้วสุดท้ายก็เรียนไม่จบชั้น ม.3 แต่ถึงแม้จะออกจากการศึกษาในระบบไปแล้วก็ยังได้มีโอกาสเรียนต่อใน การศึกษานอกระบบหรือ กศน. นั่นเอง ภาพรวมการฝึกสอน กศน. โดยเราขอเล่าในประเด็นหลัก ๆ 3 ประเด็น ดังนี้นะคะผู้เรียน ต้องบอกเลยว่าลบภาพจำของนักเรียนในโรงเรียนไปได้เลยค่ะ เพราะผู้เรียน กศน. นี้มาจากบริบทที่หลากหลาย เริ่มตั้งแต่ช่วงวัยในระดับชั้นเดียวกัน เราจะได้พบเจอตั้งแต่วันรุ่นไปยังวัยผู้สูงอายุเลยก็มี ดังนั้นอาจจะต้องเตรียมพร้อมกับการสอนให้หลากหลายมากขึ้น และจัดการเรียนรู้ที่ครอบคลุมในแต่ละช่วงวัย ซึ่งผู้เรียนที่เราพบส่วนใหญ่จะทำงานแล้วค่ะ เป้าหมายในการเรียนของผู้เรียนก็เพื่อเอาวุฒิไปสมัครงานค่ะ (ส่วนใหญ่ที่เราเจอนะคะ แต่ก็มีบ้างที่อยากเรียนต่อค่ะ) ดังนั้นเราจะจัดการเรียนการสอนแบบเดียวกับในโรงเรียนไม่ได้ เพราะผู้เรียนมีความต่างกันชัดเจนค่ะเนื้อหารายวิชา ในส่วนของเนื้อหาสาระความรู้นั้นก็จะเรียนคล้าย ๆ กับในโรงเรียนค่ะ มีวิชาพื้นฐานอย่างวิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย คณิตศาสตร์ สุขศึกษาและพลศึกษา เป็นต้น แต่รายวิชาเพิ่มเติมที่เสริมเข้ามาในหลักสูตรของการศึกษานอกระบบ (กศน.) จะเกี่ยวข้องกับทักษะชีวิตและการนำไปใช้ เช่น วิชาการเงินเพื่อชีวิต เรียนรู้สู้ภัยธรรมชาติ และทักษะการขยายอาชีพ เป็นต้น ซึ่งรายวิชาที่เพิ่มเข้ามานี้ก็เพื่อปรับให้สอดคล้องกับผู้เรียนที่ส่วนใหญ่เป็นวัยทำงานแล้ว และเป็นวัยผู้ใหญ่ ดังนั้นการจะเรียนแค่เนื้อหาวิชาการอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอกิจกรรม นอกจากนี้การศึกษานอกระบบ (กศน.) ก็ยังมีกิจกรรมคล้าย ๆ กับในโรงเรียนด้วยค่ะ เช่น กิจกรรมกีฬาสี ซึ่งจากประสบการณ์ที่ไปฝึกสอนมากีฬาสีของกศน. จะรวมทุกศูนย์กศน. ในจังหวัดนั้น ๆ ค่ะ เพราะถ้าจัดกีฬาสีแค่ศูนย์กศน. นั้น ๆ ผู้เรียนอาจไม่ได้มีจำนวนมากพอเท่าระดับในโรงเรียนหนึ่ง ๆ ค่ะ และยังมีกิจกรรมการทัศนศึกษา เข้าค่ายต่าง ๆ รวมถึงค่ายลูกเสือ ค่ายธรรมมะ การศึกษาแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ ในชุมชน เพื่อให้ผู้เรียนได้เก็บชั่วโมงกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต (กพช.) ตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551ซึ่งเป็นตัวชี้วัดหนึ่งของผู้เรียนด้วยค่ะ เรียกได้ว่านอกจากจะได้วิชาความรู้วิชาการและวิชาชีวิตแล้ว ยังได้เรียนรู้นอกห้องเรียนอีกด้วยค่ะ เป็นไงกันบ้างคะนิสิต/นักศึกษาฝึกสอนทั้งหลาย หรือครูที่กำลังจะไปสอน กศน. อาจจะต้องเตรียมตัวที่จะต้องเจอกับบริบทที่หลากหลายทั้งผู้เรียนที่มีความแตกต่างกันในช่วงอายุ หรือกิจกรรมต่าง ๆ ที่แตกต่างไปจากการสอนในโรงเรียน แต่ถึงอย่างไรก็ตามเป้าหมายก็เพื่อให้ผู้เรียนได้มีการศึกษาที่ดี และจบไปสามารถมีทักษะการทำงานในการประกอบอาชีพได้ #ครู #ครูฝึกสอน #นิสิตฝึกสอน #นักศึกษาฝึกสอน #กศน. 📌 เครดิตภาพปก : Wokandapix / Pixabay ภาพประกอบ : เจ้าของบทความ ButterNoey บทความอื่น ๆ ของ Butter_Noey รีวิวบอร์ดเกม Toss your cookies!!How to วิธีแก้ไขคลิปติดลิขสิทธิ์บน YouTubeสุกี้ตี๋น้อย สาขาแจ้งวัฒนะ บุฟเฟต์ที่สายกินห้ามพลาด!ถอดบทเรียน: หนังสือ “รวยได้ใน 100 วัน ด้วยพลังแห่งการจัดระเบียบ”รวมวิธีการเก๋ ๆ เปลี่ยน “วันลอยกระทงแบบเก่า” ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเปิดประสบการณ์ความบันเทิงที่หลากหลายสุดปัง บน App TrueID โหลดเลย ฟรี !