(ภาพปกถ่ายโดยผู้เขียน) สิ่งที่ถูกมองว่าเป็นขยะสำหรับใครบางคนอาจมีประโยชน์มากสำหรับคนอื่น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ กล่องนม UHT หรือกล่องน้ำผักผลไม้ต่าง ๆ ซึ่งสามารถนำมารีไซเคิลเป็นแผ่นหลังคาได้ สถาปนิกและวิศวกรในประเทศเยอรมันได้ริเริ่มพัฒนา หลังคาเขียว ขึ้นใน ค.ศ. 1960 หลังคาเขียวคือหลังคาที่ผลิตจากกล่องเครื่องดื่มใช้แล้ว ไม่มีการใช้สารเคมีในกระบวนการผลิต ทนทาน ทนไฟ ไม่ดูดซับแสงและความร้อน ไม่ซึมซับน้ำ ซ่อมแซมง่าย ต่อมาโครงการได้แพร่หลายไปยังประเทศต่าง ๆ เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ อิตาลี เนเธอร์แลนด์ สเปน สิงคโปร์ แคนาดา ญี่ปุ่น และจีน โดยมีการพัฒนาโครงสร้างที่มีความซับซ้อนและเป็นระบบมากขึ้น (ภาพถ่ายโดยผู้เขียน) กล่อง UHT สามารถนำมารีไซเคิลเป็นหลังคาได้ ประเทศไทยก็มีการจัดตั้งโครงการหลังคาเขียวด้วยเช่นกัน โครงการหลังคาเขียวเกิดจากการร่วมมือกันของ บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกับบริษัท บิ๊กซีซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) ศูนย์รีไซเคิลกล่องเครื่องดื่ม โดย บริษัท ไฟเบอร์พัฒน์ จำกัด และกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยสนับสนุนการคัดแยกจัดเก็บและรีไซเคิลกล่องเครื่องดื่มใช้แล้ว ทางโครงการจะรวบรวมกล่องเครื่องดื่มไปรีไซเคิลเป็นแผ่นหลังคา จากน้ันจึงนำไปบริจาคให้กับมูลนิธิเพื่อนพึ่ง (ภา) ยามยาก วัตถุประสงค์ของโครงการคือ ผลักดันให้เกิดการคัดแยกกล่องเครื่องดื่มที่ใช้แล้วอย่างเป็นประโยชน์ หลังคา 1 แผ่น (ขนาด 1 x 2.40 เมตร) ใช้กล่องนมหรือกล่องน้ำผลไม้ประมาณ 2,000 กล่อง (เห็นไหมว่าการผลิตหลังคาสามารถช่วยลดขยะที่เกิดจากกล่องนมหรือกล่องน้ำผักผลไม้ได้เยอะมากทีเดียว) ปัจจุบันโครงการได้แพร่หลายไปตามโรงเรียนต่าง ๆ โดยกระตุ้นให้นักเรียนร่วมบริจาคกล่องนมเพื่อลดขยะ และเพื่อนำไปรีไซเคิลเป็นหลังคาเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับสังคม สำหรับประชาชนทั่วไปที่สนใจบริจาค สามารถส่งบริจาคได้ที่ บริษัทไฟเบอร์พัฒน์ จำกัด (เขียนหน้ากล่องพัสดุว่า ร่วมโครงการหลังคาเขียว) 30/11 หมู่ 11 วัดบางเสาธง ถนนบางนา-ตราด ตำบลบางเสาธง อำเภอบางเสาธง จังหวัดสมุทรทปราการ 10570 หรือนำไปบริจาคที่ห้าง Big C สาขาที่มีจุดรับกล่องนม สามารถตรวจสอบสาขาได้ที่ http://www.greenroof.in.th/greenroof-bigc.html (ภาพถ่ายโดยผู้เขียน) เตรียมแพ็คกล่องนมเพื่อส่งไปบริจาค แต่ก่อนจะนำกล่องนมไปบริจาค ขอแนะนำให้ทำความสะอาดกล่องนมก่อน มิฉะนั้นจะก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขอนามัยตามมา เพราะนมที่ค้างหรือติดอยูในกล่องจะบูดเน่าได้ ผู้บริจาคควรปฏิบัติตามขั้นตอนดังต่อไปนี้ 1.ตัดด้านบนกล่องนมออก 2.ล้างให้สะอาด 3.ตากกล่องนมให้แห้ง 4.รวบรวมแล้วนำไปบริจาคที่จุดรับกล่องนมของห้าง Big C หรือส่งไปที่บริษัทไฟเบอร์พัฒน์ (ภาพถ่ายโดยผู้เขียน) ตัดด้านบนกล่องนมออกแล้วล้างให้สะอาด (ภาพถ่ายโดยผู้เขียน) ควรล้างให้สะอาดและผึ่งให้แห้งเพื่อสุขอนามัย