'ประวิตร' ลุย นราธิวาส ตรวจน้ำท่วม-พบผู้นำศาสนา สั่งช่วยประชาชน
'ประวิตร' ลุย นราธิวาส ตรวจน้ำท่วม-พบผู้นำศาสนา สั่ง มหาดไทย-ศอ.บต.ช่วยปชช. เผยผลกระทบ 21 อำเภอ 18,371 ครัวเรือน เดือดร้อน
เมื่อ 10.00 น.วันที่ 2 มี.ค.65 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี พร้อม นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คมนาคม ลงพื้นที่ภาคใต้ ลงพื้นที่จ.นราธิวาส ตรวจราชการและติดตามสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ และการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัย โดยมีผู้นำศาสนาพุทธ ผู้นำศาสนาอิสลาม ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั้ง 5 จังหวัด ร่วมต้อนรับ โดยการให้การช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ จ.นราธิวาส ยะลา และปัตตานี
สำหรับสถานการณ์น้ำท่วม รวม 21 อำเภอ 18,371 ครัวเรือน อยู่ระหว่างเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงจากระดับน้ำเอ่อล้นตลิ่งและท่วมขังพื้นที่ลุ่มต่ำ บริเวณแม่น้ำสายบุรี และแม่น้ำโกลกใน อ.รามัน และ อ.บันนังสตา จ.ยะลา อ.สายบุรี และ อ.ยะรัง จ.ปัตตานี รวมทั้ง อ.แว้ง อ.สุคิริน อ.ศรีสาคร อ.สุไหงปาดี อ.ตากใบ อ.รือเสาะ อ.จะแนะ และ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ความเสียหายรวม 49,000 ไร่ สำหรับการช่วยเหลือ ได้เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ และอำนวยความสะดวกประชาชนพร้อมจัดตั้งศูนย์อพยพประชาชน
พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ขอบคุณ ที่ร่วมกันขัดเกลาเรื่องทางศาสนาที่ถูกต้องกับเด็กและเยาวชน และแสดงความห่วงใย ด้านการศึกษา สุขภาพอนามัยและการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรมของเด็กและเยาวชนที่นับถือศาสนามุสลิมและพุทธในพื้นที่ 3 จ.ที่กระทำได้อย่างจำกัด จากการขาดการสนับสนุนงบประมาณ
โดยเฉพาะการสนับสนุนอาหารกลางวันให้เด็กได้รับอาหารดี มีสุขภาพดี จึงสั่งการให้ ศอ.บต.เร่งจัดทำโครงการส่งเสริมสร้างคนดีตามหลักการทางศาสนาที่ถูกต้องทั้ง 2 ศาสนา เพื่อให้การสนับสนุนงบประมาณต่อไป ซึ่งโครงการดังกล่าว คาดว่าประชาชนจะได้ประโยชน์ประมาณ 615,000 คน
พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ขอแสดงความเสียใจกับผู้เสียชีวิตจากอุทกภัยในพื้นที่ และขอบคุณทุกส่วนราชการที่ให้การช่วยเหลือเร่งด่วนกับผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ และขอให้ทำงานเชิงรุก ทั้งแจ้งเตือนและป้องกันให้มากขึ้น โดยให้ทุกภาคส่วน เข้ามามีส่วนร่วม และสั่งการให้กระทรวงมหาดไทย และศอ.บต.บูรณาการช่วยเหลือประชาชน ที่ได้รับผลกระทบเร่งด่วน
ขณะที่กรมชลประทาน เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่โดยเร็ว และวางแผนเร่งรัดการก่อสร้างพนังกั้นน้ำ ชุมชนตลาดมูโน๊ะ ชุมชนสุไหงไก-ลก และชุมชนต่อเนื่อง และให้ทำความเข้าใจจากประชาชนในโครงการที่จะช่วยแก้ปัญหา ส่วนพื้นที่ที่สถานการณ์คลี่คลายแล้ว ให้เร่งสำรวจความเสียหายในพื้นที่ให้ครอบคลุมทั้งสิ่งปลูกสร้าง ผลกระทบทางอาชีพและสาธารณะประโยชน์ เพื่อให้การช่วยเหลือ ฟื้นฟูและเยียวยาประชาชนให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตปกติโดยเร็วที่สุด