รีเซต

การสื่อสารยุคใหม่กับการผลักดันไทยสู่เวทีโลก

การสื่อสารยุคใหม่กับการผลักดันไทยสู่เวทีโลก
มติชน
22 มีนาคม 2564 ( 06:29 )
48
การสื่อสารยุคใหม่กับการผลักดันไทยสู่เวทีโลก

เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ กระทรวงการต่างประเทศได้จัดงานเสวนา New Normal : New Coolture in Digital Age ที่โรงแรมอนันตรา สยาม ภายในงานได้เชิญบรรดาอินฟลูเอนเซอร์และคอนเทนครีเอตเตอร์หลายท่านทั้ง แท๊บ รวิศ หาญอุตสาหะ เจ้าของพ็อดคาสต์ Mission to the Moon วิศ วิศรุต สินพงศพร เจ้าของเพจ วิเคราะห์บอลจริงจัง เคน นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ บรรณาธิการบริหาร The Standard มิ้นท์ มณฑล กสานติกุล เจ้าของเพจและช่องยูทูบ I Roam Alone ให้เข้ามาร่วมกันแบ่งปันประสบการณ์ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการสื่อสารผ่านสื่อออนไลน์ เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมบทบาทของไทยในเวทีโลก โดยมี นายณัฐภาณุ นพคุณ รองอธิบดีกรมสารนิเทศ และรองโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้ดำเนินรายการ

 

แรงบันดาลใจในการสร้างแพลตฟอร์ม

แท๊บ รวิศ หาญอุตสาหะ ผู้พลิกฟื้นธุรกิจศรีจันทร์และเจ้าของพ็อดคาสต์ Mission to the Moon ที่เล่าข่าวต่างประเทศที่น่าสนใจ รวิศเริ่มเข้าสู่วงการเขียนจากการทำบล็อก ด้วยความรู้สึกที่อยากส่งความคิดของตัวเองออกไป และอยากสร้างชื่อเสียงให้คนรู้จัก จะได้มีผู้มาสมัครงานกับบริษัทศรีจันทร์มากขึ้น จนวันหนึ่งมีบรรณาธิการได้อ่านบล็อกจึงชวนออกหนังสือ และกลายมาเป็นหนังสือที่มีชื่อว่า Marketing Everything และคิดจะไปดวงจันทร์อย่าอยู่แค่ปากซอยหรือ Mission to the moon ต่อมาจึงได้สร้างเพจและพ็อดคาสต์ในชื่อเดียวกัน ก่อนจะก่อตั้งเป็นบริษัทด้านมีเดีย เพื่อทำคอนเทนต์เกี่ยวกับทักษะในยุคศตวรรษที่ 21

 

มิ้นท์ มณฑล กสานติกุล เจ้าของเพจและช่องยูทูบ I Roam Alone รายการท่องเที่ยวแบบแบ็คแพ็คเกอร์ด้วยตัวคนเดียว เริ่มทำเพราะอยากเที่ยวให้เป็นงาน โดยเริ่มจากการเขียนลงพันทิป ก่อนจะไปลงในเฟซบุ๊ก ในช่วงแรกใช้การเขียนอย่างเดียวและใช้ภาพนิ่งประกอบ ต่อมามีสำนักพิมพ์แซลมอนเห็นแววจึงติดต่อมาและได้ออกหนังสือ ก่อนจะเริ่มทำวิดีโออย่างที่เห็นในปัจจุบัน

 

วิศ วิศรุต สินพงศพร เจ้าของเพจวิเคราะห์บอลจริงจัง และผู้เขียนคอลัมน์ Explainer ของเวิร์คพอยท์ทูเดย์ เล่าถึงความเป็นมาว่า อยากเป็นนักข่าวกีฬาและอยากเป็นคอลัมนิสต์ของสตาร์ซอคเกอร์ แต่ต่อมาพบว่าพื้นที่ในการเขียนมีน้อยมากและตนเองคงไม่มีโอกาสเนื่องจากเป็นเด็กใหม่จึงได้ตั้งเพจนี้ขึ้นมา และใช้ความสามารถในการเขียนของตนเองในการเผยแพร่บทวิเคราะห์ผ่านทางเพจ แม้จะไม่ใช่สื่อกระแสหลักหรือสื่อที่คนส่วนมากนิยม แต่ได้ใช้ความสามารถในการเขียนในการจับกลุ่มเป้าหมายที่สนใจ

 

เคน นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ บรรณาธิการบริหาร The Standard และเจ้าของพ็อดคาสต์ The secret sauce กล่าวถึงความเป็นมาในการก่อตั้งสำนักข่าวออนไลน์เดอะสแตนดาร์ดว่า เดิมเคยทำอยู่นิตยสารอะเดย์และเห็นว่าสิ่งพิมพ์กำลังล่มสลาย จึงตัดสินใจทำสื่อออนไลน์ ที่เป็นส่วนผสมของความคิดสร้างสรรค์และความน่าเชื่อถือ จึงออกมาเป็นข่าวเชิงสร้างสรรค์ และตั้งใจที่จะทำข่าวที่ไม่ใช่แนวแทบลอยด์ หรือข่าวที่เป็นกระแส จึงออกมาเป็นเดอะสแตนดาร์ด

 

ทำคอนเทนต์อย่างไรให้ประสบความสำเร็จ

ปัจจัยในความสำเร็จคือ ต้องเข้าใจธรรมชาติของแต่ละแพลตฟอร์มและต้องมีจุดเด่นในการทำคอนเทนต์ อย่างรวิศเล่าเรื่องที่ไม่มีใครเล่า มณฑลทำคอนเทนต์เที่ยวแบบแบ็คแพคเกอร์ไปคนเดียวซึ่งไม่ค่อยมีใครทำ วิศรุตวิเคราะห์บอลด้วยการเขียนซึ่งไม่ค่อยมีใครทำแล้ว และนครินทร์ไม่ทำข่าวกระแสที่สื่อส่วนใหญ่เล่นเหมือนกัน ส่วนสิ่งที่คนดูชอบก็คือ คอนเทนต์ที่จริง ตรงไปตรงมา ไม่ต้องแต่งเยอะ มีเอกลักษณ์เฉพาะ และใกล้ชิดกับคนดู

 

Coolture คืออะไร

ณัฐภาณุ ผู้ดำเนินรายการได้ขยายความคำว่า Coolture (คูลเชอร์) ว่าคือคอนเทนต์ที่สร้างความนิยมเป็นไทยและทันสมัยผ่านมีเดียเทคโนโลยี ซึ่งคล้ายกับซอฟต์พาวเวอร์หรือวัฒนธรรมละมุน เพื่อที่อนาคตจะทำให้วัฒนธรรมไทยมีความคูลและปังขึ้นได้

 

ผลกระทบจากโควิด และการใช้ดิจิทัลมีเดียคอนเทนต์ลดช่องว่างระหว่างวัย

รวิศพูดถึงเรื่องช่องว่างระหว่างวัย ว่ามี 5 ช่วง คือ เบบี้บูมเมอร์ ซึ่งเป็นเจนที่ให้ความสำคัญกับครอบครัว เจนเอ็กซ์ ให้ความสำคัญกับเรื่องครอบครัวและเพื่อน เจนวาย เป็นรุ่นที่เริ่มได้รับอิทธิพลจากโซเชียลมีเดียและอยากสะสมประสบการณ์ ส่วนเจนแซดเจอแต่วิกฤตมาตลอดชีวิต จึงให้ความสำคัญกับการเก็บเงินและความมั่นคง ซึ่งลดลงไปในช่วงเจนวาย นอกจากนี้เจนแซดยังให้ความสำคัญกับคุณค่าทางสังคมอย่างการเมืองและสิ่งแวดล้อม มีความรู้สึกว่าตนเองเป็นประชากรโลก และได้รู้มุมมองของคนต่างชาติมากขึ้น ส่วนเจนอัลฟ่าจะมองว่าดิจิทัลเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เจนแซดและอัลฟ่าจึงมองโลกต่างกับคนรุ่นก่อนหน้ามาก ส่วนโควิดทำให้คนใช้เวลาอยู่ในโซเชียลมากขึ้น และเมื่อมีคลับเฮาส์คนก็อยู่ในโซเชียลนานขึ้นอีก ส่วนแพลตฟอร์มที่ได้รับผลกระทบจากคลับเฮาส์คือติ๊กต็อกและพ็อดคาสต์ ในขณะที่วิศรุตก็ไม่ได้รับผลกระทบมากนักเนื่องจากยังมีการแข่งขันกีฬา ส่วนเทรนด์ที่เปลี่ยนไปในช่วงโควิดคือ คนจริงจังกับชีวิตมากขึ้น สนใจสังคมและเศรษฐกิจมากขึ้น

 

นครินทร์แสดงทัศนะว่า ในช่วงโควิดทำให้แนวโน้มและค่านิยมในสังคมเปลี่ยนไป คนมองความคุ้มค่ามากขึ้น สนใจความรู้ทางการเงินมากขึ้น เล่นหุ้นมากขึ้น สนใจเรื่องสุขภาพ เรื่องความหลากหลายทางเพศ ความเหลื่อมล้ำ และสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ผู้คนนิยมเสพคอนเทนต์ที่มีความเรียลและมีความเชื่อมโยงกับผู้ชมมากขึ้น มีความเป็นตัวตนสูง คนต้องการความโปร่งใสมากขึ้น ส่วนปัญหาเรื่องช่องว่างระหว่างวัยเกิดขึ้นทั่วโลก เพราะคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่ามีค่านิยมทางสังคมไม่เหมือนกัน ยึดในคุณค่าคนละอย่าง และยากที่จะเชื่อมคนต่างรุ่นแต่หวังว่าจะมีเจ้าภาพที่เชื่อมคนสองรุ่นด้วยการฟัง หากคนแต่ละรุ่นฟังกันมากขึ้นก็จะมีความเข้าใจกันมากขึ้น

ด้านมณฑลบอกว่า ตนไม่ได้กระทบมากนัก เพราะการเดินทางเกิดขึ้นตลอดเวลาอยู่แล้ว ส่วนเรื่องคอนเทนต์ได้ปรับเป็นการท่องเที่ยวในชุมชนในประเทศและเที่ยวใกล้บ้านมากขึ้น นอกจากนี้ ยังได้เสนอให้การขายบริการทางเพศถูกกฎหมาย เพราะเป็นสิ่งที่มีอยู่จริง และสามารถสร้างรายได้ให้แก่ประเทศได้

 

คำแนะนำในการทำคอนเทนต์ของหน่วยราชการ

รวิศแนะนำให้หาคนวางกลยุทธ์ในการทำซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศไทย เพื่อให้เห็นแนวทางที่ชัดเจน คล้ายกับที่เกาหลีใต้ทำ ในขณะที่วิศรุตพูดถึงเรื่องอุปสรรคในการสร้างคอนเทนต์เช่นการเซ็นเซอร์ของกระทรวงวัฒนธรรม เมื่อมีอุปสรรคมาขวางเยอะคนสร้างงานก็ไม่สามารถแสดงความสามารถได้เต็มที่ และอยากให้กระทรวงต่างประเทศทำคอนเทนต์เชิงรุกมากขึ้น เช่นการสร้างห้องคลับเฮาส์เพื่อเป็นผู้เริ่มบทสนทนาเล่าเรื่อง และอยากให้มีการร่วมมือกับอินฟลูเอนเซอร์มากขึ้น ด้านมณฑลเห็นด้วยกับทั้งคู่ และได้เสริมว่าการทำงานของภาครัฐในบางครั้งขาดความต่อเนื่อง และวัฒนธรรมหลายๆ อย่างมักจะแตะต้องไม่ได้ ทำอะไรก็ผิดหลักไปหมด เหมือนถูกแช่แข็งไว้ จึงยากที่จะสร้างซอฟต์พาวเวอร์ด้านวัฒนธรรม และอยากเห็นอินฟลูเอนเซอร์จากกระทรวงต่างประเทศมาแนะนำข้อมูลแบบง่ายๆ

 

นครินทร์แนะนำให้เข้าใจแก่นของหน่วยงานเราก่อนว่าเราทำหน้าที่อะไร สื่อสารกับใคร และคนฟังอยากรู้เรื่องอะไร เพื่อดูว่าเรามีข้อมูลที่จะตอบโจทย์คนฟังไหม สำหรับคอนเทนต์ราชการ ถ้าหากอยากให้คนเข้าถึงมากขึ้น ควรจะไม่ต้องเป็นทางการมากจนเกิดความสับสน เป็นภาษาไทยที่ถูกต้องและเรียบง่าย เข้าใจง่าย โดยใช้สื่อในรูปแบบต่างๆ ทั้งการเขียน วิดีโอและอินโฟกราฟิก และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือต้องมีประสิทธิภาพและเข้าใจถูกต้องตรงกัน และเราควรคิดแทนคนฟังว่าคนฟังต้องการอะไร หรือเราจะหาฟีดแบคจากคนฟังก็ได้ และแนะนำให้หาพาร์ตเนอร์ช่วยเพราะว่าเรามีข้อมูลแต่คนมักไม่ค่อยชอบฟังจากหน่วยงานภาครัฐ ส่วนเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ ต้องมีหน่วยงานวางแผนอย่างเป็นระบบ ต้องมีคนตีความว่าซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศเราคืออะไร ยกตัวอย่างซอฟต์พาวเวอร์ของเกาหลีใต้ จะเน้น 5 อย่าง ได้แก่ อาหาร เกม ความงาม เพลง และหนัง ส่วนของไทยเราต้องคิดมาว่าจะเน้นอะไร โดยเลือกจากสิ่งที่ถนัดอยู่แล้วหรือสิ่งที่เราอยากสร้างให้ดี นอกจากนี้ การสร้างซอฟต์พาวเวอร์ต้องมีการร่วมมือกันจากทางภาครัฐและเอกชน และต้องมีเงินทุนในการลงทุนด้วย

 

การเสวนาในครั้งนี้นอกจากเหล่าอินฟลูเอนเซอร์จะได้มาแบ่งปันประสบการณ์และเทคนิคกับทางกระทรวงการต่างประเทศแล้ว ยังเป็นประโยชน์ต่อเหล่าอินฟลูเอนเซอร์คนอื่นๆ ที่จะนำเทคนิคเหล่านี้ไปต่อยอดในอนาคตอีกด้วย ด้วยความหวังที่ว่าวันหนึ่งประเทศไทยจะสามารถผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ผ่านสื่อออนไลน์ในยุคดิจิทัลไปสู่เวทีโลกได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง