จากชื่อบทความผู้อ่านคงจะพอเดาได้ว่าเกี่ยวข้องกับผลงานของท่านสุนทรภู่ บุคคลสำคัญของโลกด้านวรรณกรรม ไอดอลของนักแต่งคำประพันธ์หลาย ๆ คน โดยบทความนี้ครูพี่เจมส์จะพาทุกคนมารู้จักกับนิราศทั้ง 9 เรื่องของท่านสุนทรภู่1. นิราศเมืองแกลง นิราศเรื่องแรกของสุนทรภู่ เล่าเรื่องการเดินทางจากพระราชวังหลังไปหาบิดาที่วัดป่า ตำบลบ้านกร่ำ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง เมื่อกลางเดือนเจ็ด ปี พ.ศ. 2350 โดยเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ทำให้หลายคนเข้าใจผิดเกี่ยวกับบ้านเกิดของท่านสุนทรภู่ว่าเกิดที่อำเภอแกลง แต่แท้จริงแล้วเกิดที่กรุงเทพมหานคร2. นิราศพระบาท เล่าเรื่องการตามเสด็จพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ไปนมัสการพระพุทธบาทที่สระบุรี ตอนปลายปี พ.ศ.2350 โดยพายเรือไปเอง ขึ้นตามลำน้ำเจ้าพระยา ขึ้นบกที่ท่าเรือแล้วเดินทางต่อโดยใช้ช้างเป็นพาหนะจนถึงพระพุทธบาท พักอยู่ 4 วันก็เสด็จกลับกรุงเทพฯ โดยขบวนเรือเสด็จล่องลงมาตลอดทาง จนถึงวัดระฆังใช้เวลาเดินทางวันครึ่ง3. นิราศภูเขาทอง นิราศเรื่องที่สั้นที่สุดของสุนทรภู่ เล่าเรื่องการเดินทางจากวัดราชบูรณะไปนมัสการพระเจดีย์ภูเขาทองที่อยุธยา เมื่อออกพรรษาแล้วในปี พ.ศ.2373 มีอายุ 45 ปี (บวชมาแล้ว 6 พรรษา) เมื่อนมัสการพระเจดีย์ภูเขาทองเสร็จแล้วก็เดินทางกลับกรุงเทพฯ ในครั้งนี้มีหนูพัดตามไปด้วย ประเด็นที่น่าสนใจคือสุนทรภู่ได้กล่าวตอนท้ายว่าหญิงคนรักในเรื่องนี้เป็นเพียงบุคคลสมมุติขึ้นมา 4. นิราศเมืองเพชร เล่าเรื่องการเดินไปเพชรบุรี ราวเดือนยี่หรือเดือนสามในปี พ.ศ.2374 ขณะนั้นมีอายุได้ 46 ปี โดยอาสาพระองค์เจ้าลักขณานุคุณไปขอสิ่งของแทนความรักจากลูกสาวขุนแพ่ง เพราะพระองค์หมายปองหญิงคนนี้อยู่ เหตุที่สุนทรภู่อาสาเดินทางไปครั้งนี้เพราะคิดถึงพระคุณที่ได้ทรงอุปการะตน5. นิราศวัดเจ้าฟ้า นิราศที่มีความยาวเป็นอันดับสองรองจากนิราศเมืองแกลง สุนทรภู่แต่งในตอนอายุ 49 ปี (บวชได้ 9 พรรษา) เล่าเรื่องการเดินทางไปแสวงหาแร่ปรอทและยาอายุวัฒนะ (ตามลายแทงที่ได้มา) ที่วัดเจ้าฟ้าอากาศ จังหวัดอยุธยา ราวต้นปี พ.ศ.2377 6. นิราศอิเหนา “นิราศร้างห่างเหเสน่หาปางอิเหนาเศร้าสุดถึงบุษบา พระพายพาพัดน้องเที่ยวล่องลอย” นิราศที่มีความสั้นรองจากนิราศภูเขาทอง เรื่องนี้มีความแปลกกว่าเรื่องอื่น เพราะนำเนื้อความจากวรรณคดีเรื่องอิเหนา ตอนอิเหนาออกติดตามหาบุษบาซึ่งถูกลมหอบไป แล้วนำมาแต่งเป็นทำนองนิราศ แต่งขึ้นราวปี 2377 มีอายุ 49 ปี บวชอยู่ที่วัดมหาธาตุ7. นิราศสุพรรณ สุนทรภู่แต่งเป็นโคลงสี่สุภาพ เล่าเรื่องการเดินทางไปสุพรรณบุรี ราวเดือนยี่หรือเดือนสามในปี พ.ศ. 2384 ระหว่างทางได้พบผู้เฒ่า 2 สามีภรรยา ทั้งสองได้สอนวิชาเล่นแร่แปรธาตุให้สุนทรภู่จนรู้ลักษณะของแร่ปรอทที่ต้องการ วัตถุประสงค์ในการแต่งนิราศเรื่องนี้ คือ 1) สร้างนิราศให้เป็นแผนที่การเดินทาง 2) เตือนสติไม่ให้อนุชนหลงเชื่อเรื่องยาอายุวัฒนะและเรื่องแปรแร่ธาตุปรอทเป็นทองคำ และ 3) เพื่อแสดงความสามารถเรื่องการแต่งโคลงของตนเอง8. รำพันพิลาป ชื่อต่างจากนิราศเรื่องอื่น ๆ เพราะไม่มีคำว่านิราศในชื่อเรื่อง สุนทรภู่แต่งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2385 ขณะอยู่ที่วัดเทพธิดาราม มีอายุ 56 ปี กล่าวถึงความหลังและเรื่องราวที่เกิดขึ้นในขณะนั้น บางตอนแต่งเป็นทำนองความฝัน 9. นิราศพระประธม นิราศเรื่องสุดท้ายของสุนทรภู่ แต่งขึ้นเมื่อปลายปี พ.ศ.2385 อายุราว 56-57 ปี โดยเล่าเรื่องการเดินทางไปนมัสการพระประธม (พระปฐมเจดีย์) สันนิฐานว่าเริ่มเดินทางจากพระราชวัง โดยเดินทางทั้งทางเรือและทางบกทั้งหมดที่กล่าวมาคือผลงานประเภทนิราศของสุนทรภู่ โดยกล่าวแบบย่อ ๆ เรียงลำดับการแต่ง หากผู้อ่านชอบเรื่องไหนก็ลองหามาอ่านเพลิน ๆ ได้ครับ สำหรับบทความหน้าจะเป็นเรื่องราวเกี่ยวอะไรต้องรอติดตามครับ