รีเซต

พาณิชย์จับมือเอกชนเตรียมหาตลาดสำรองจำหน่ายกุ้ง เอกชนยืนยันกุ้ง-อาหารทะเลไทยปลอดโควิด-19

พาณิชย์จับมือเอกชนเตรียมหาตลาดสำรองจำหน่ายกุ้ง เอกชนยืนยันกุ้ง-อาหารทะเลไทยปลอดโควิด-19
ข่าวสด
22 ธันวาคม 2563 ( 20:28 )
40
พาณิชย์จับมือเอกชนเตรียมหาตลาดสำรองจำหน่ายกุ้ง เอกชนยืนยันกุ้ง-อาหารทะเลไทยปลอดโควิด-19

พาณิชย์จับมือเอกชน - นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยภายหลังการประชุมหารือเพื่อแก้ไขปัญหาผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ต่อการค้าสินค้ากุ้งและสัตว์น้ำอื่นๆ ร่วมกับหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมอาหารแช่เยือกแข็ง สมาคมกุ้งไทย สมาคมตลาดสดไทย สมาคมการค้าตลาดกลางค้าส่งสินค้าเกษตรไทย สมาคมธุรกิจคลังสอนค้า ไซโล และห้องเย็น สมาคมการค้าส่ง-ปลีกไทย สหกรณ์ประมงแม่กลอง ตลาดกลางสินค้าเกษตร เครือข่ายผู้เลี้ยงกุ้งไทย สมาคมภัตตาคารไทย สมาคมธุรกิจท่องเที่ยว กรมประมง กรมอนามัย กรมควบคุมโรค และโมเดิร์นเทรด บิ๊กซี เทสโก้โลตัส วิลล่ามาร์เก็ต อิออน เดอะมอลล์ บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร ว่า ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่จังหวัดสมุทรสาคร ที่ตลาดมหาชัยซึ่งเป็นกลางอาหารทะเลที่ใหญ่ที่สุดของไทยในขณะนี้นั้น เริ่มส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งที่ไม่สามารถหาที่จำหน่ายกุ้งได้ ส่งผลให้มีกุ้งส่วนเกิน 100 ตันต่อวัน

 

ซึ่งในส่วนนี้จากการประชุมได้มีข้อสรุปในส่วนเกิน 100 ตันต่อวันนี้ ทางสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งและสมาคมห้องเย็นจะรับซื้อในราคาที่เป็นธรรม

 

นอกจากนี้ กรมการค้าภายในจะร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการหาตลาดสำรองเพื่อให้เกษตรกรสามารถจำหน่ายกุ้งได้ ซึ่งในเบื้องต้นอาจจะเป็นที่ตลาดสะพานปลา หรือที่ตลาดตามหัวเมืองใหญ่ๆ ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาความเหมาะสม แต่คาดว่าน่าจะได้สถานที่จำหน่ายสินค้าอาหารทะเลต่างๆ ได้เร็วๆ นี้ นอกจากนี้ ที่ประชุมยังขอให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งชะลอการจับกุ้งไปก่อนหรือจับเฉพาะที่จำเป็น

 

ด้านนายวิชาญ อิงศรีสว่าง รองอธิบดีกรมประมง กล่าวถึงกรณีที่ผู้บริโภคมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของอาหารทะเลว่าจะติดเชื้อไวรัสโควิด-19 หรือไม่นั้น ยืนยันว่า สัตว์น้ำเป็นสัตว์เลือดเย็น ไม่ใช้สัตว์เลือดอุ่นเช่นมนุษย์ ดังนั้นโอกาสที่สัตว์ทะเลจะติดเชื้อไวรัสแทบจะไม่มีเลย ยิ่งหากมีการปรุงสุกแล้วโอกาสที่จะมีเชื้อไวรัสแทบจะเป็นศูนย์ ดังนั้นผู้บริโภคสบายใจได้ สามารถซื้อหาอาหารทะเลมารับประทานได้ปกติ ยืนยันว่าอาหารทะเลมีความปลอดภัย เพียงแต่ประชาชนผู้บริโภคต้องระวังตัวคือใส่หน้ากาก เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ

 

นายสมศักดิ์ ปณีตัธยาศัย นายกสมาคมสมาคมกุ้งไทย กล่าวว่า กุ้งไทยมีความปลอดภัยไม่มีรายงานทางวิชาการว่าสัตว์น้ำหรืออาหารทะเลสามารถติดเชื้อหรือแพร่เชื้อได้ ประชาชนไม่ต้องแตกตื่นหรืองดบริโภคสินค้าอาหารทะเล สามารถรับประทานได้ตามปกติ โดยขณะนี้เกษตรกรได้รับผลกระทบจากการที่ตลาดกุ้งในพื้นที่ที่มีการระบาดปิดทำการทำให้เกษตรกรต้องชะลอการจับกุ้งจากบ่อออกไป ซึ่งตามปกติวันที่ 27 ธ.ค.นี้ กุ้งจะถูกวางจำหน่ายในตลาดแล้วเพื่อรองรับกับความต้องการบริโภคในช่วงเทศกาลปีใหม่ แต่ในขณะนี้เกษตรกรกรก็ต้องชะลอการจับกุ้งออกไป

 

ส่วนตลาดในต่างประเทศไม่ได้มีปัญหาเรื่องการกลัวการบริโภคอาหารทะเลจากไทยเพราะผู้นำเข้าเชื่อมั่นในคุณภาพของสินค้ากุ้งและอาหารทะเลไทยอย่างมาก

 

ด้านนายครรชิต เหมะรักษ์ ประธานเครือข่ายผู้เลี้ยงกุ้งไทย กล่าวว่า ขณะนี้ผู้เลี้ยงกุ้งได้รับผลกระทบแต่ยังไม่มากความเสียงหายอยู่ระหว่างรวบรวมตัวเลข ส่วนราคากุ้งในขณะนี้ถือว่าเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งเริ่มขาดทุน โดยราคาเฉลี่ยขณะนี้อยู่ที่ 200-210 บาทต่อกิโลกรัมต่อกุ้ง 40 ตัว จากเดิม 240-250 บาทต่อกิโลกรัมต่อ 40 ตัว ส่วนราคาที่ส่งให้กับห้องเย็นยังปกติ แต่ทั้งนี้ วอนผู้รับซื้ออย่าฉวยโอกาสกดราคากับผู้เลี้ยงกุ้ง

 

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะนายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย กล่าวว่า จากปัญหาที่เกิดขึ้นโดยการติดเชื้อส่วนสัตว์มาจากแรงงานมองว่า ไม่น่าจะมีปัญหา แต่แรงงานประมง หรือแรงงานในกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวหรือโรงงาน เพราะแรงงานที่อยู่ในระบบอุตสาหกรรมดังกล่าวเป็นแรงงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย สามารถตรวจสอบได้ ไม่มีแรงงานเถื่อนเข้ามาแน่นอน มั่นใจได้

อย่างไรก็ดี หากทุกหน่วยงานร่วมกันแก้ไข หาตลาดเชื่อมโยงการจำหน่ายสินค้า เชื่อว่าจะไม่มีการแพร่เชื้อออกไป เพราะหากไม่มีการเชื่อมโยงตลาด เกษตรกรผู้เลี้ยง พ่อค้า อาจจะเปิดแผงจำหน่ายตามตลาด หมู่บ้าน ซึ่งอาจจะเป็นจุดการแพร่เชื้อได้ โดยเฉพาะ 20 จังหวัดชายทะเลที่มีอาชีพในการจับสัตว์น้ำอยู่แล้ว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง