รีเซต

ยาน DART ขึ้นสู่อวกาศแล้ว เตรียมปฏิบัติภารกิจทดสอบ ป้องกันดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนโลก

ยาน DART ขึ้นสู่อวกาศแล้ว เตรียมปฏิบัติภารกิจทดสอบ ป้องกันดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนโลก
มติชน
27 พฤศจิกายน 2564 ( 10:23 )
64
ยาน DART ขึ้นสู่อวกาศแล้ว เตรียมปฏิบัติภารกิจทดสอบ ป้องกันดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนโลก

วันที่ 27 พฤศจิกายน เฟชบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ  โดย พิสิฏฐ นิธิยานันท์ – เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ชำนาญการ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(สดร.) โพสต์เรื่อง ยาน DART (Double Asteroid Redirection Test) ยานลำแรกขององค์การนาซาที่มีภารกิจทดสอบเทคโนโลยีการป้องกันดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนโลก ได้ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 เวลา 13:21 น. ตามเวลาประเทศไทย ด้วยจรวดฟัลคอน 9 ของ SpaceX จากฐานปล่อยจรวดในฐานทัพอวกาศฟานเด็นเบร็ค (Vandenberg Space Force Base) รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ เรียบร้อยแล้ว

 

โครงการยาน DART เป็นส่วนหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์การป้องกันดาวเคราะห์จากการพุ่งชน ตัวยาน DART สร้างและจัดการโดยห้องปฏิบัติการฟิสิกส์ประยุกต์จอนส์ฮอปกินส์ (JHUAPL) ของมหาวิทยาลัยจอนส์ฮอปกินส์ มีเป้าหมายที่จะพุ่งชนดาวเคราะห์น้อยไดมอร์ฟอส (Dimorphos) ซึ่งไม่มีความเสี่ยงในการพุ่งชนโลก เพื่อประเมินวิถีการเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์น้อยที่เปลี่ยนแปลงไปหลังถูกยานพุ่งชน โดยวัดความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจากกล้องโทรทรรศน์ภาคพื้นดิน

นอกจากนี้ ยาน DART ยังเป็นการสาธิตเทคโนโลยีระบบนำทางอัตโนมัติเพื่อล็อกดาวเคราะห์น้อยเป้าหมายก่อนที่จะพุ่งชนตามแผนที่วางไว้ วิธีการที่จะเบี่ยงวิถีการเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์น้อยด้วยการส่งยานพุ่งชนจะเรียกว่า “Kinetic impact” ซึ่งในภารกิจนี้จะให้ข้อมูลสำคัญที่จะช่วยเตรียมวิธีรับมือวัตถุที่มีความเสี่ยงต่อการพุ่งชนโลกต่อไปในอนาคต

 

ส่วนยานลำลูก LICIACube ยานขนาดเล็กขององค์การอวกาศอิตาลี (ASI) ที่ติดตั้งไปด้วย จะปล่อยออกมาจากยาน DART ก่อนเกิดการพุ่งชน เพื่อถ่ายภาพจังหวะที่เกิดการพุ่งชนและกลุ่มเศษวัสดุสาดกระเด็นที่เกิดขึ้นตามมา หลังจากนั้นประมาณ 4 ปี ยานเฮรา (Hera) ขององค์การอวกาศยุโรปจะสำรวจดาวเคราะห์น้อยไดมอร์ฟอสดวงเดิมอย่างละเอียด โดยเฉพาะหลุมที่เกิดขึ้นจากการพุ่งชนของยาน DART และการวัดมวลของดาวเคราะห์น้อยไดมอร์ฟอสอย่างแม่นยำ

 

หลังจากการปล่อยจรวดฟัลคอนขึ้นสู่อวกาศในเวลา 13:21 น. ยาน DART ได้แยกตัวออกจากท่อนที่ 2 ของจรวดในเวลา 14:17 น. และไม่กี่นาทีหลังจากนั้น ศูนย์ควบคุมภารกิจภาคพื้นดินได้รับข้อมูลสัญญาณจากยาน DART และให้ยานกางแผงเซลล์สุริยะ (ซึ่งใช้เวลากางแผงแล้วเสร็จนาน 2 ชั่วโมง) เพื่อใช้ผลิตพลังงานให้กับตัวยานและเครื่องยนต์ขับดันด้วยไอออนซีนอน ซึ่งเครื่องยนต์นี้เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีแบบใหม่ที่นาซาทดลองกับยาน DART ก่อนจะนำไปประยุกต์ใช้กับยานอวกาศลำอื่นต่อไป

 

 

เที่ยวบินขาเดียวของยาน DART มีจุดหมายอยู่ที่ระบบดาวเคราะห์น้อยดีดิมอส-ไดมอร์ฟอส โดยดาวเคราะห์น้อยไดมอร์ฟอสที่เป็นเป้าหมายของการพุ่งชนจะเป็นดาวเคราะห์น้อยบริวารที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 160 เมตร ส่วนดาวเคราะห์น้อยดีดิมอสที่เป็นดาวเคราะห์น้อยดวงแม่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 780 เมตร
เนื่องจากอัตราเร็วในการโคจรของดาวเคราะห์น้อยไดมอร์ฟอสรอบดาวเคราะห์น้อยดีดิมอสช้ากว่าอัตราเร็วในการโคจรรอบดวงอาทิตย์ของดีดิมอสค่อนข้างมาก ดังนั้น ไดมอร์ฟอสที่กำลังเคลื่อนที่อย่างช้า ๆ รอบ ๆ ดีดิมอส หากส่งยานอวกาศไปพุ่งชน ก็น่าจะให้ผลลัพธ์ที่ชัดเจนกว่าการพุ่งชนดาวเคราะห์น้อยดวงเดี่ยวที่กำลังโคจรรอบดวงอาทิตย์อยู่

 

ช่วงเวลาที่คาดการณ์ว่ายาน DART จะพุ่งชนดาวเคราะห์น้อยไดมอร์ฟอสจะอยู่ในช่วงประมาณ 26 กันยายน – 1 ตุลาคม พ.ศ. 2565 และตัวยานจะพุ่งชนดาวเคราะห์น้อยด้วยอัตราเร็วประมาณ 6 กิโลเมตรต่อวินาที ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ประเมินว่าการพุ่งชนดังกล่าวจะส่งผลให้คาบการโคจรของดาวเคราะห์น้อยไดมอร์ฟอสสั้นลงไม่กี่นาที นักวิจัยจะใช้กล้องโทรทรรศน์ภาคพื้นดินตรวจวัดคาบการโคจรที่เปลี่ยนแปลงไป ผลลัพธ์ที่ได้จะนำไปตรวจสอบและพัฒนาแบบจำลองทางทฤษฎี เพื่อประเมินประสิทธิภาพของการเบี่ยงวิถีการเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์น้อยด้วยการส่งยานพุ่งชนต่อไป

 

อุปกรณ์วิทยาศาสตร์ที่ติดตั้งบนยาน DART มีเพียงชิ้นเดียว คือ กล้อง DRACO ซึ่งมีหน้าที่ใช้เป็นกล้องถ่ายภาพสำหรับระบบนำทางเพื่อการพุ่งชน จะเปิดใช้งานในอีกหนึ่งอาทิตย์หลังส่งยานขึ้นสู่อวกาศ และจะถ่ายภาพตัวยานภาพแรกส่งกลับมา จากนั้นจะใช้เวลาเดินทางในห้วงอวกาศนานประมาณ 10 เดือน ก่อนจะพุ่งชนดาวเคราะห์น้อยไดมอร์ฟอส โดยระบบดาวเคราะห์น้อยระบบนี้อยู่ห่างจากโลกประมาณ 11 ล้านกิโลเมตร (เกือบ 29 เท่าของระยะห่างจากโลกถึงดวงจันทร์) ในขณะที่ยานพุ่งชน

 

การทำงานร่วมกันระหว่างระบบควบคุมและนำทาง กับชุดคำสั่ง SMART Nav ของยาน DART เพื่อใช้เป็นระบบอัตโนมัติในการนำทางอย่างทันทีทันใด จะช่วยให้ยาน DART สามารถแยกความแตกต่างระหว่างดาวเคราะห์น้อยไดมอร์ฟอสกับดาวเคราะห์น้อยดีดิมอส เพื่อนำทางให้ยานพุ่งชนเป้าหมายได้ถูกดวง ซึ่งระบบการนำทางร่วมกับชุดคำสั่งนี้จะเริ่มใช้งานก่อนการพุ่งชนประมาณ 1 ชั่วโมง

 

อ้างอิง : https://www.nasa.gov/…/nasa-spacex-launch-dart-first…

ข่าวที่เกี่ยวข้อง