13 เทศบาลร่วมลงนามพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน กรอบกฎบัตรเมืองอัจฉริยะ ดันมูลค่าเศรษฐกิจสตาร์ทซิตี้เพิ่มขึ้นเท่าตัว
กรุงเทพฯ 19 สิงหาคม 2563- สำนักงานกฎบัตรแห่งชาติ (National Charter) ซึ่งก่อตั้งโดย “โครงการพัฒนากลไกเชิงพื้นที่ในการพัฒนาเมือง โดยการออกแบบเมืองอย่างชาญฉลาดเพื่อยกระดับทางเศรษฐกิจและสังคม ระยะที่ 2” สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดการประชุม ลงนามข้อตกลงการพัฒนาโครงการสร้างพื้นฐานด้านกายภาพดิจิทัลและแพลตฟอร์มการบริหารจัดการย่านอัจฉริยะ ตามกรอบกฎบัตรเมืองอัจฉริยะ (Smart City Charter) ซึ่งเป็นความร่วมมือของสมาคมการผังเมืองไทย สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย บริษัทยูไนเต็ด เทคโนโลยี เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (UTE) พร้อมด้วย 13 เทศบาล ซึ่งปัจจุบันเป็นเครือข่ายของกฎบัตรแห่งชาติ ประกอบด้วย เทศบาลนครเชียงใหม่ เทศบาลเมืองแม่เหียะ จังหวัดเชียงใหม่ เทศบาลนครนครสวรรค์ เทศบาลนครอุดรธานี เทศบาลนครขอนแก่น เทศบาลนครระยอง เทศบาลนครรังสิต เทศบาลเมืองป่าตอง เทศบาลเมืองกระบี่ เทศบาลเมืองหัวหิน เทศบาลเมืองทุ่งสง เทศบาลเมืองชุมแพ และเทศบาลแก่งคอย โดยมีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยพายัพ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เข้าร่วมการลงนาม ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว
การประชุมลงนามข้อตกลงครั้งนี้ ถือเป็นประโยชน์และมิติใหม่ในการสร้างแนวทางการพัฒนาร่วมกัน รวมถึงการวางแผนปฏิบัติการวิจัยพัฒนาเมืองและการปรับปรุงฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานของเทศบาล ชุมชน และพื้นที่ศึกษาอื่นๆ ที่ได้วางแผนไว้ภายใต้เจตนารมณ์กฎบัตรแห่งชาติ (National Charter) เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองและเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ (New Urban and Economic Development Platform) โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมเป็นกลไกในการเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันโดยรวมให้กับประเทศ ตามเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ทั้งนี้มีเป้าหมาย 4 ข้อ ได้แก่ 1. สนับสนุนการตกลงร่วมกันของทุกภาคส่วนของสังคมในการพัฒนาเทศบาลเป็นพื้นที่นำร่องพัฒนาเป็นย่านอัจฉริยะ 2. ร่วมกันวางแผนและออกแบบแนวคิดด้านการพัฒนาด้านกายภาพ โครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค 3. ส่งเสริมย่านอัจฉริยะเพื่อเป็นกลไกสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น และ 4. สร้างความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการพัฒนาฐานข้อมูล เพื่อการวิจัยและนำไปปฏิบัติใช้ให้สำเร็จลุล่วง
นายพิรชัย เบญจรงคกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูไนเต็ด เทคโนโลยี เอ็นเตอร์ไพรส์ จํากัด (UTE) ภายใต้กลุ่มบริษัทเบญจจินดา กล่าวว่า UTE มีความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสื่อสารโทรคมนาคมและเทคโนโลยีดิจิทัล และมีความพร้อมสนับสนุนความร่วมมือการพัฒนาประเทศร่วมกับทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา เพื่อประโยชน์สูงสุดในการยกระดับทางเศรษฐกิจและการนำไทยสู่การเป็นประเทศที่มีรายได้สูงตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ ทั้งนี้ UTE ให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรมและโครงสร้างพื้นฐานสื่อสารโทรคมนาคม เสาอัจฉริยะ (Smart Pole) พร้อมแพลตฟอร์มบริหารจัดการเมืองอัจฉริยะ ส่งเสริมเมืองน่าอยู่ ปลอดภัย ยกระดับคุณภาพชีวิต โดยเสาอัจฉริยะจะช่วยยกระดับการจัดเก็บข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล รวมทั้งการบริหารจัดการในระดับเมือง ซี่งเสาอัจฉริยะจะทำหน้าที่รับส่งข้อมูลอุปกรณ์ระหว่างตัวเสาไปยังแพลตฟอร์มส่วนกลางของเทศบาล สามารถแสดงผล ตอบสนองได้อย่างรวดเร็ว อำนวยความสะดวกแก่ประชาชน รวมถึงความสามารถอัจฉริยะในการป้องกันภัยและเตรียมความพร้อมรับมือต่อสถาณการณ์ต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในพื้นที่
นายฐาปนา บุณยประวิตร กรรมการและเลขานุการกฎบัตรแห่งชาติ กล่าวถึงการพัฒนาย่านอัจฉริยะให้เป็นพื้นที่ต้นแบบว่า กฎบัตรเมืองอัจฉริยะคาดหวังในการใช้ความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการปรับปรุงระบบกายภาพ โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล และสาธารณูปโภคของเทศบาล เพื่อตอบสนองต่อการเพิ่มขึ้นของกิจกรรมทางกาย (Physical Activity) อันเป็นต้นทางของการสร้างเมืองสุขภาพ (Healthy City) และเมืองเศรษฐกิจที่มีความยั่งยืน (Sustainable City) โดยข้อตกลงร่วมกันของภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และองค์กรประชาชน จะเป็นแรงผลักดันให้เกิดการลงทุนทางเศรษฐกิจ การฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐาน การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล รวมทั้ง การฟื้นฟูชุมชนให้มีศักยภาพในการรองรับความเปลี่ยนแปลง นำไปสู่การเป็นเมืองที่ยั่งยืน
โดยขั้นตอนการลงทุนปรับปรุงฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ย่านอัจฉริยะ จะแบ่งออกเป็น 4 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นตอนแรก กฎบัตรแห่งชาติจะร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการวางแผนและการออกแบบทางกายภาพและโครงสร้างพื้นฐาน ขั้นตอนที่สอง เทศบาล สถาบันการศึกษา และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง รับผิดชอบการลงทุนปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านกายภาพ ขั้นตอนที่สาม บริษัทเอกชนร่วมกับหน่วยงานภาครัฐด้านดิจิทัล ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล และขั้นตอนที่สี่ เทศบาลและชุมชน รับผิดชอบในการลงทุนปรับปรุงฟื้นฟูชุมชน การออกข้อกำหนดหรือเทศบัญญัติในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ย่านอัจฉริยะ
“กฎบัตรแห่งชาติ คาดว่ามูลค่าทางเศรษฐกิจในพื้นที่ย่านอัจฉริยะและพื้นที่โดยรอบจะปรับเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าเท่าตัว ภายหลังจากการลงทุนทั้งสี่ขั้นตอน หรือคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยรวมเพิ่มขึ้นในย่านอัจฉริยะและพื้นที่โดยรอบไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาทต่อปี นับจากการลงทุนตามขั้นตอนเสร็จสิ้น” นายฐาปนา กล่าวทิ้งท้าย