‘ศักดิ์สยาม’ สั่งลุยแลนด์บริดจ์ คาดมิ.ย. เคาะจุดสร้างท่าเรือ ปั้นฮับขนส่งน้ำมันดิบไปทั่วโลก
‘ศักดิ์สยาม’ลุยแลนด์บริดจ์ - นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุม ติดตามความก้าวหน้าโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ และเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน ผ่านการประชุมทางไกล (Video Conference) ด้วยระบบ Zoom Cloud Meetings ว่า ได้ติดตามความก้าวหน้า 3 โครงการสำคัญ ได้แก่ 1. โครงการศึกษา ความเหมาะสม ออกแบบ เบื้องต้น ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและวิเคราะห์รูปแบบโมเดลการพัฒนาการลงทุน (Business Development Model) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงการขนส่ง ระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (Land bridge) มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือ สนข. ดำเนินการ
2. การพัฒนามอเตอร์เวย์ เชื่อม Land Bridge มอบหมายให้ กรมทางหลวง หรือ ทล. ดำเนินการ และ 3. การพัฒนารถไฟทางคู่เชื่อม Land Bridge มอบหมายให้การรถไฟแห่งประเทศไทย หรือรฟท. ดำเนินการ
นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า พื้นที่ภาคใต้ เป็นจุดศูนย์กลางของภูมิภาค สาหรับการเป็นประตูในการขนส่งและแลกเปลี่ยนสินค้า และเป็นช่องทางในการแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างทวีปต่างๆ ของโลก กระทรวงคมนาคม จึงกำหนดบทบาทของโครงการ Landbridge ชุมพร-ระนอง ให้เป็นทางเลือกในการขนส่งน้ำมันดิบ หรือ Oil Bridge โดยขนส่งน้ำมันทางเรือจากช่องแคบฮอร์มุซ มายังท่าเรือระนอง และผ่านทางท่อไปยังท่าเรือชุมพร เพื่อขนส่งทางเรือไปยัง ประเทศต่างๆ ในภูมิภาค รวมถึงประเทศจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ รวมถึงการเป็นทางเลือกในการถ่ายลำการขนส่งสินค้า ระหว่างมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก
โดยเชื่อมต่อทางรางและทางถนน และเป็นท่าเรือสำหรับการประกอบชิ้นส่วน ซึ่งจะทำให้เกิดการพัฒนาเขตพื้นที่เศรษฐกิจเสรี ดึงดูดนักลงทุน เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมหลังท่าเรือระนอง และท่าเรือชุมพร ส่งเสริม Land Bridge และเพิ่มศักยภาพการแข่งขันด้านเศรษฐกิจในพื้นที่ภาคใต้
“สนข. กำลังกำหนดหลักเกณฑ์การคัดเลือกทำเลที่ตั้งโครงการพัฒนาท่าเรือ โดยพิจารณาทั้งพื้นที่โครงการฝั่งอันดามัน และอ่าวไทย โดยการคัดเลือกทำเลที่ตั้งโครงการพัฒนาท่าเรือทั้ง 2 ฝั่ง นั้น จะต้องดูปัจจัยด้านวิศวกรรม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ คาดว่าสรุปผลได้ในช่วงประมาณเดือนมิ.ย. 2564 ก่อนที่กรมทางหลวง (ทล.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะดำเนินการ ศึกษาความเหมาะสม และออกแบบเบื้องต้น แนวเส้นทางโครงการทางหลวงพิเศษ และทางรถไฟตามกรอบการดำเนินการโครงการ MR-MAP เชื่อมต่อท่าเรือ 2 ฝั่งทะเลต่อไป