รีเซต

ปตท.ประกาศบูสต์อัพไทย อัดงบ 8.65 แสนล. ปักฐานผลิตพลังงานทดแทน รุกธุรกิจอนาคต เทงบช่วยคนไทยพ้นโควิด

ปตท.ประกาศบูสต์อัพไทย อัดงบ 8.65 แสนล. ปักฐานผลิตพลังงานทดแทน รุกธุรกิจอนาคต เทงบช่วยคนไทยพ้นโควิด
มติชน
3 พฤศจิกายน 2564 ( 16:48 )
70
ปตท.ประกาศบูสต์อัพไทย อัดงบ 8.65 แสนล. ปักฐานผลิตพลังงานทดแทน รุกธุรกิจอนาคต เทงบช่วยคนไทยพ้นโควิด

ข่าววันนี้ 3 พฤศจิกายน 2564 นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวตอนหนึ่งในสัมมนา “Boost Up Thailand 2022” รูปแบบไลฟ์สตรีมมิ่งผ่านเฟซบุ๊ก ในหัวข้อ “พลิกธุรกิจ สู้เศรษฐกิจหลังโควิด” จัดขึ้นโดยหนังสือพิมพ์มติชน ว่า แผนงานของ กลุ่มปตท. ปี2564 อยู่ที่ 4.3 แสนล้านบาท ส่วนแผนลงทุนใน 5 ปี (ปี 2564 -2568) อยู่ที่ 8.65 แสนล้านบาท เพื่อช่วยเสริมความมั่นคงทางพลังงานและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

 

โดยวิสัยทัศน์ของ ปตท. ในเรื่องพลังงานทดแทน จะเป็นหัวหอกหลักในการลงทุน ปีที่แล้วลงทุนไป 400 เมกะวัตต์ จึงตั้งเป้าให้ท้าทายสนับสนุน นโยบายเศรษฐกิจสีเขียวด้วยการลงทุนพลังงานทดแทนให้ได้ 12,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2030 ซึ่งปัจจุบันได้ลงทุนพลังงานลมและอื่นๆไปบ้างแล้ว รวม 2,000 เมกะวัตต์ ส่วนเทคโนโลยีการกักเก็บพลังงาน หรือ G-box เปรียบเทียบให้เห็นภาพคือ แบตเตอรี่ขนาดยักษ์ เท่ากับคอนเทนเนอร์ 1 ตู้ ตั้งในสถานีบริการน้ำมัน เป็นที่เก็บและจ่ายไฟฟ้าให้รถไฟฟ้า รวมทั้งมีการบริหารจัดการพลังงานที่เก็บไว้ คำนวณความเหมาะสมของการใช้งานให้มีประสิทธิภาพสูงสุด และประหยัดต้นทุนที่สุด

 

ด้านรถอีวีนั้น ปตท.ได้ร่วมลงทุน กับบริษัท Foxconn สร้างโรงงานรถไฟฟ้ารูปแบบใหม่ ที่บริษัทไม่ได้ผลิตรถยี่ห้อของตัวเอง แต่เปิดแพลตฟอร์ม รับจ้างการผลิตตามคำสั่งซื้อ(โออีเอ็ม)สำเร็จรูป ให้บริษัทผู้ว่าจ้างในยี่ห้อของตัวเอง เพียงแค่ออกแบบตัวถัง ถ้าเป็นไปตามแผนจะเริ่มก่อสร้างโรงงานภายในปีหน้า ด้านสถานีชาร์จไฟฟ้าในสถานีบริการน้ำมันของ ปตท. ตั้งเป้าภายในสิ้นปีนี้ ตั้งเป้าหมาย 100 จุด และในปีหน้าอีก 300 จุด นอกจากนี้ ยังมีแพลตฟอร์ม แอพพลิเคชัน อีวี มี(EV ME) เปิดให้เช่า รถไฟฟ้า และทดลองขับได้ พร้อมบริการครบวงจร เพื่อช่วยในการตัดสินใจซื้อรถยนต์ไฟฟ้า

 

สำหรับธุรกิจอื่น หรือภายใต้วิสัยทัศน์แบบบียอนด์ มุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไทย โดยส่งเสริมอุตสาหกรรมใหม่ตามเป้าหมายของประเทศ ร่วมกับ องค์การเภสัชกรรม ศึกษาและผลิตยาต้านโรคมะเร็ง รวมถึง ร่วมทุนกับองค์การเภสัชกรรมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ผลิตหัวเชื้อ ยาฟาวิพิราเวียร์ ในประเทศ เพื่อลดต้นทุนนำเข้า และในกลุ่มอาหารเสริม ได้ร่วมทุนกับ Nove Foods ดำเนินธุรกิจ อาหารทางเลือก คือ เนื้อที่ทำมาจากพืช รวมทั้ง ต่อยอดจากโรงงานเคมี ในการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ เพื่อเพิ่มความสามารถทางการแข่งขัน และมูลค่าสินค้าในประเทศ อาทิ วัตถุดิบในการผลิตหน้ากากอนามัย

 

ด้านเอไอ โรบอติกส์ และการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล ปตท.ได้จัดตั้ง บริษัท เมฆา เทคโนโลยี ในการให้บริการเช่าพื้นที่ เก็บข้อมูล หรือด้าต้าเซ็นเตอร์บนคราวด์ พร้อมทั้งบริการ ให้คำปรึกษา จัดหาเทคโนโลยีและรูปแบบที่ให้เหมาะกับแต่ละบริษัท รวมทั้ง ทางบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด(มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ได้จัดตั้ง บริษัท เออาร์วี ขึ้น เพื่อในบริการโดรน ปัจจุบันมี 800 ตัวเป็นรองจากประเทศจีน และตั้งเป้าหมายในปีหน้า เพิ่มเป็น 1,200 ตัว

 

ด้านสังคมนั้น กลุ่ม ปตท. ได้สนับสนุนและเคียงข้างบุคลากรทางการแพทย์ คนไทยและประเทศชาติ ให้ก้าวผ่านวิกฤตโควิดโดยเร็ว ภายใต้โครงการ “ลมหายใจเดียวกัน” ตั้งแต่ เดือนมกราคม 2563 -เดือนสิงหาคม 2564 ในวงเงินรวม 1,800 ล้านบาท อาทิ  จัดหายาฟาวิพิราเวียร์ 1.2 ล้านเม็ดมอบให้รัฐบาล จัดหาแอลกอฮอล์ แจกจ่ายไปยังโรงพยาบาลทั่วประเทศ กว่า 5,000 แห่ง การสนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทย์ ทั้งเครื่องช่วยหายใจ พร้อมออกซิเจนเหลว จำนวน 400 เครื่องให้กับโรงพยาบาลทั่วประเทศ และขยายต่อโครงการโดยการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม ครบวงจร แม้ว่า สถานการณ์โควิดในประเทศจะผ่อนคลายแล้ว แต่ปตท.ยังคงโรงพยาบาลสนามไว้ เพื่อให้ความมั่นคงทางการแพทย์ และให้ความมั่นใจแก่นักท่องเที่ยวต่างประเทศ

 

สุดท้าย กลุ่ม ปตท. ได้ออกโครงการรีสตาร์ตไทยแลนด์ เพื่อช่วยกระตุ้นการสร้างงานและการท่องเที่ยวในประเทศ ที่ผ่านมา กลุ่ม ปตท. ได้จ้างงานพนังงานจบใหม่ ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2563 และจะต่ออายุสัญญาจ้างอีก 1 ปี และเดินหน้าในการสร้างงานเพิ่มอย่างต่อเนื่อง รวมกันแล้วได้ประมาณ 2.5 หมื่นอัตรา ในด้านการท่องเที่ยวจะสนับสนุนอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยทั้งหมดที่กล่าวมานี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยบูสต์อัพไทยแลนด์ได้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง