เครดิตภาพจาก https://pixabay.com/images/id-167188/ สวัสดีครับท่านผู้อ่านทั้งหลายท่านเคยได้ยินเรื่องของที่งอกริมตลิ่งหรือไม่ครับ นั่นแน่...ผู้เขียนเข้าใจว่าหลายท่านคงจะเคยได้ยินมาบ้างหรือหลายคนคงจะเคยประสบกับเหตุการณ์ที่เรียกว่าที่งอกริมตลิ่งด้วยตนเองละซิครับ... คำว่าที่งอกริมตลิ่งนี้เป็นภาษากฎหมายนะครับ ไม่ใช่คำที่ผู้เขียนบัญญัติเอง (อิอิ...) ที่งอกริมตลิ่งปรากฏอยู่ในประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ มาตรา 1308 ว่า ที่ดินแปลงใดเกิดที่งอกริมตลิ่ง ที่งอกย่อมเป็นทรัพย์สินของเจ้าของที่ดินแปลงนั้น ตัวบทกำหนดไว้สั้น ๆ ครับแต่โดยนัยความหมายไม่สั้นเลยนะครับ มา ๆ มาดูกันครับ ที่ดินแปลงใดมีที่งอกริมตลิ่ง หมายความว่าอย่างไร ซึ่งผู้เขียนสรุปสาระเพื่อทำความเข้าใจดังนี้ครับ 1. เป็นที่งอกซึ่งเกิดโดยธรรมชาติ และต้องไม่ใช่ที่ที่เจ้าของที่เป็นคนถมจากที่ตนเองออกไปนะครับมีตัวอย่างเพื่อประกอบการทำความเข้าใจ : ที่ดินของนายกอ อยู่ติดลำน้ำปิงต่อมามีตะกอนทรายทับถมเข้ามาโดยธรรมชาติของลำน้ำเองทำให้ที่ดินของนายกอ งอกเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 2 เมตรจากที่ดินเดิม เช่นนี้ ที่ดินที่งอกเพิ่ม 2 เมตร ออกจากที่ดินของนายกอ จึงตกเป็นที่ของนายกอ ในลักษณะนี้เรียกว่า ที่งอกริมตลิ่ง (อย่างลืมนะครับว่าที่สำคัญต้องเป็นเหตุที่เกิดจากธรรมชาติเองไม่ใช่นายกอ เป็นคนนำดินไปถมเพื่อให้ได้ที่งอกเพิ่มแบบนี้จะไม่เป็นไปตามเงื่อนไข มาตรา 1308 ไม่ถือว่าเป็นที่งอกริมตลิ่งนะครับ) เครดิตภาพจาก https://pixabay.com/images/id-1066307/ 2. ต้องงอกจากริมตลิ่งออกไปไม่ใช่งอกจากที่อื่นเข้ามาหาริมตลิ่ง ชัดเจนนะครับข้อนี้ ที่งอกริมตลิ่งต้องเป็นการงอกของที่ดินออกไปจากพื้นที่เดิมเท่านั้นจึงจะเรียกว่าที่งอกริมตลิ่ง ตามมาตรา 1308 เช่น นายเอกมีที่ดินแปลงหนึ่งอยู่ติดแม่น้ำน่านต่อมาปรากฏว่าแม่น้ำน่านตื้นเขินทำให้กลางลำน้ำเป็นทรายมูลขึ้นมา และต่อมาเชื่อมติดอยู่กับที่ดินของนายเอก เช่นนี้ไม่ถือว่าเป็นที่งอกริมตลิ่งเพราะไม่ใช่งอกออกตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวแต่เป็นการงอกเข้า เครดิตภาพ https://pixabay.com/images/id-344645/ 3. ต้องงอกออกไปจากที่ดินเดิมโดยไม่มีอะไรคั่น เช่น ที่ดินหากมีทางหลวงหรือมีถนนมาคั่น เจ้าของที่ดินย่อมไม่ใช่เจ้าของที่งอกนั้น เช่น นายไก่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินเลขที่ 123456 บริเวณที่ดินของนายไก่ มีถนนสาธารณะขั้นกลาง และมีที่งอกริมตลิ่งที่งอกริมตะลิ่งนั้นจึงมิใช่ที่งอกอันจะตกเป็นทรัพย์สินของนายไก่ ตามหลัก มาตรา 1308 เครดิตภาพจาก https://pixabay.com/images/id-277080/ 4. ในฤดูน้ำปกติน้ำท่วมไม่ถึง ถ้าน้ำท่วมถึงก็ไม่ใช่ที่งอกแต่เป็นที่ชายตลิ่งซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน เช่น นายดำมีที่ดินติดลำแม่น้ำวังต่อมาให้ช่วงฤดูแล้งน้ำแห้งจนเห็นพื้นทราย และปรากฏเป็นที่งอกเข้ามาติดกับที่ดินของนายดำซึ่งนายดำใช้ประโยชน์จากที่ดินโดยการปลูกผัก เลี้ยงเป็ดขายเป็นต้น แต่ต่อมาในฤดูฝน น้ำหลากท่วมถึงที่ดินผืนที่เป็นที่งอกดังกล่าว เช่นนี้ไม่ถือว่าที่ดินที่นายดำใช้ทำประโยชน์ในช่วงฤดูแล้งนั้นเป็นที่งอกริมตลิ่งของนายดำแต่เป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ไม่เข้าหลักเกณฑ์ตาม มาตรา 1308 เครดิตภาพจาก https://pixabay.com/images/id-2082381/ เห็นหรือยังครับ ผู้เขียนเข้าใจว่าท่านผู้อ่านคงจะเข้าใจแล้วถึงคำว่าที่งอกริมตลิ่ง...ทีนี้ไม่ยากแล้วใช่ไหมครับสำหรับการพิจารณา เอาหละครับสำหรับวันนี้เท่านี้ก่อนนะครับ...สวัสดีครับ