รีเซต

ครม.ไฟเขียว ซื้อยาฟาวิพิราเวียร์ 17 ล้านเม็ด เรมเดซิเวียร์ 5.1 พันขวด แทนโมลนูพิราเวียร์

ครม.ไฟเขียว ซื้อยาฟาวิพิราเวียร์ 17 ล้านเม็ด เรมเดซิเวียร์ 5.1 พันขวด แทนโมลนูพิราเวียร์
มติชน
15 มีนาคม 2565 ( 15:01 )
82

ครม.ไฟเขียว สธ.เปลี่ยนจัดซื้อเวชภัณฑ์ยา-ขยายระยะเวลาแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่ จัดซื้อฟาวิพิราเวียร์ 17 ล้านเม็ด

 

เมื่อวันที่ 15 มีนาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.อนุมัติเปลี่ยนแปลงรายการจัดหาเวชภัณฑ์ยาและขยายระยะเวลาดำเนินการโครงการแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่ : กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ระยะการระบาดระลอกเมษายน 2564 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ

 

น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า สาระสำคัญเป็นการเปลี่ยนแปลงรายการจัดซื้อเวชภัณฑ์ยาจาก ยา Molnupiravir (โมลนูพิราเวียร์) ตามโครงการแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่ฯ 50,000 โดส เป็น ยา Favipiravir (ฟาวิพิราเวียร์) จำนวน 17,065,457 เม็ด และ ยา Remdesivir (เรมเดซิเวียร์) จำนวน 5,166 Vial (ขวด) ทั้งนี้ เนื่องจากแนวทางเวชปฏิบัติการวินิจฉัย ดูแลรักษาและป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (CPG COVID-19) กำหนดให้ยาฟาวิพิราเวียร์เป็นยาหลักที่ใช้ในการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง ทั้งที่ไม่มีอาการปอดอักเสบหรือมีอาการปอดอักเสบเล็กน้อย โดยมีอัตราการใช้ยาร้อยละ 87 ของผู้ป่วยที่ติดเชื้อทั้งหมด

 

น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า สำหรับยาเรมเดซิเวียร์ใช้ในการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงและผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง แต่มีข้อห้ามในการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ โดยมีอัตราการใช้ยาร้อยละ 2 ของผู้ป่วยติดเชื้อทั้งหมด พร้อมยังปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายเงินงบประมาณในการดำเนินโครงการ และขยายระยะเวลาการดำเนินการตามโครงการ จากเดิมระยะเวลาดำเนินการตุลาคม-ธันวาคม 2564 เป็น ตุลาคม2564-กันยายน 2565

 

“กระทรวงสาธารณสุขเห็นว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังคงมีความต่อเนื่อง จึงมีความจำเป็นต้องสำรองยาดังกล่าวไว้ให้เพียงพอสำหรับรักษาผู้ป่วย รวมถึงมีความจำเป็นต้องปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายเงินงบประมาณในการดำเนินโครงการปรับระยะเวลาการดำเนินโครงการเพื่อให้กระทรวงสาธารณสุขสามารถจัดหาเวชภัณฑ์ยาเพื่อดูแลดูแลประชาชนได้ตามแผนงานและสอดคล้องกับเวชปฏิบัติในปัจจุบัน” น.ส.ไตรศุลีกล่าว

 

สำหรับความเป็นมาของโครงการแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่ : กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ระยะการระบาดระลอกเมษายน 2564 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ได้รับอนุมัติจาก ครม.เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2564

 

โดยตามรายละเอียดตามโครงการ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้รับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จำนวน 528.4 ล้านบาท ประกอบด้วยจัดซื้อ โมลนูพิราเวียร์ จำนวนเงิน 500 ล้านบาท และค่าครุภัณฑ์รายการระบบหมอพร้อม จำนวนเงิน 28.4 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินโครงการ ตุลาคม-ธันวาคม 2564  แต่เวลาต่อมา แนวทางเวชปฏิบัติการวินิจฉัย ดูแลรักษาและป้องกันโควิด-19 ได้เป็นแปลงไปตามสถานการณ์ของโรค กระทรวงสาธารณสุขของได้ขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดของโครงการดังกล่าวมาข้างต้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง