ตั้งคำถามสำคัญถึงความหมายของความงามที่ไม่อาจสรุปความด้วยมุมมองเพียงด้านเดียว สะท้อนสภาวะการปฏิเสธอัตลักษณ์แห่งเผ่าพันธุ์ ความชิงชังตนเอง และการพยายามหลอมรวมเลือดเนื้อของตนให้เป็นส่วนหนึ่งในมาตรฐานอื่น โทนี มอร์ริสัน (Toni Morrison) เขียนเรื่องดวงตาสีฟ้าสุดฟ้า (The Bluest Eye) โดยใช้ภาษาที่กระแทกกระทั้นได้อย่างแสบ ๆ คัน ๆ แต่ขณะเดียวกันก็จุกอกอย่างที่ไม่อาจจะร้องออกมา หนังสือดำเนินเรื่องผ่านการเล่าของน้องสาวคนเล็กในสองพี่น้อง ฟรีดาและคลอเดีย แมกเทีย, พอลลีนและชอลลี บรีดเลิฟ แม่กับพ่อของพีโคลา และพีโคลา บรีดเลิฟ ในฉากหลังเกี่ยวพันกันในปี ค.ศ.1940 จวบถึง ค.ศ.1960 ยุคที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ทางการเมืองที่เข้มข้น รวมถึง Jim Crow - ชื่อกฎหมายในมลรัฐทางตอนใต้ของอเมริกาในช่วงปี 1877 จนถึงช่วงกลางยุค 1960 (ชื่อดันไปพ้องกับยายจิมมีที่ตายเพราะพายพีชในเรื่องซะนี่) ใจความสำคัญคือ เพื่อแบ่งแยกที่ทางและรับรองการปฏิบัติที่ต่างกันระหว่างคนขาวและคนดำ ตั้งแต่ในโรงเรียน ตามระบบขนส่งสาธารณะ ร้านอาหาร ในชั้นศาล รวมถึงในการประกอบอาชีพ ไม่เว้นแม้สถานที่ฝังศพ "พระเจ้าไม่มีอยู่จริง" ความเชื่อของเด็กหญิงคนหนึ่ง เพราะพระเจ้าไม่ประทานพรตามคำสวดอ้อนวอนครั้งแล้วครั้งเล่าของเธอ -- พีโคลา ตัวละครที่เป็นเสมือนตัวแทนเด็กหญิงคนนั้น เพื่อนวัยเด็กของมอร์ริสันพีโคลาพร่ำขอดวงตาสีฟ้า สีฟ้าสดชัดกว่าตาสีฟ้าของใคร ๆ ชัดกว่าตาสีฟ้าของเพื่อนร่วมชั้นเรียน ฟ้าสดเข้มกว่าความรักและเอ็นดูที่พวกผู้ใหญ่มีให้กับเด็กหญิงผิวขาว ฟ้าชัดกว่าแม้กระทั่งตุ๊กตาทารกผิวชมพูแสนน่ารัก แก้วตาสีฟ้า ผมลอนสีบลอนด์ ส่งเสียงหวานใสว่าแม่จ๋า แม่จ๋า – ดวงตาสีฟ้าสดใส ผิวชมพู ผมสีเหลืองแทนที่ดวงตาที่ต่างออกไป แทนผิวสี แทนผมหยิกดำ แทนจมูกใหญ่บี้แบน เป็นสิ่งที่แม่ของพีโคลาแสดงออกอย่างชัดเจนว่าเป็นสิ่งที่เธอใฝ่ฝัน การได้เป็นหญิงรับใช้ในบ้านครอบครัวคนขาวมีฐานะเป็นสิ่งที่ถูกที่ควร การได้ปัดกวาดเช็ดถูอยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมเป็นระเบียบ สะอาดสะอ้านเป็นสิ่งที่เหมาะสม การทุบตีลูกสาวอัปลักษณ์ของตนแล้ววิ่งไปปลอบประโลมเด็กหญิงผมบลอนด์เจ้าของบ้านเป็นสิ่งที่เธอควรทำแล้วความพยายามหลีกหนีการมีตัวตนของพีโคลาเป็นทั้งทางออกและเด็กหญิงเช่นเธอเป็นเหมือนที่รองรับความเกลียดชังของชุมชน ความโกรธ ความรัก ตัณหา ความไม่ประสีประสา ความน่าเกลียด น่าขยะแขยง ต้นตอของสาเหตุการทะเลาะเบาะแว้ง หรือสาเหตุอันเป็นที่ไม่ชอบใจของใครก็ตามถูกโยนทิ้งลงมาที่เด็กหญิงผู้บอบบางราวกับถังขยะ การย่ำยีทางเพศจากคนในครอบครัว แม้จะเป็นฝ่ายถูกกระทำ กระนั้นก็ยังไม่วายมีเสียงซุบซิบนินทา ถูกเมินเฉยจากคนเป็นแม่ ถูกกลั่นแกล้งล้อเลียนจากกลุ่มเด็กชายเพื่อนร่วมชั้น รวมถึงคำเหยียดจากคนผิวสีด้วยกันอันเกิดจากความเชื่อที่ฝังใจว่าพวกตนต่ำต้อย จึงต้องทำทุกวิธีเพื่อจะขัดสีฉวีวรรณคราบไคลดำปี๋ให้เหนือกว่าสีเดิมที่เคยเป็น โดยการรับเอาความงามในอุดมคติมาสวมใส่ และไสส่งพวกเดียวกัน แบ่งแยกความสะอาดเนี้ยบกับโสโครกโสมม (คำพูดของตัวละครชื่อเจอรัลดีนนั่นไง) เด็กหญิงกลายเป็นเหยื่อที่ไม่มีสิทธิ์จะมีชีวิตอยู่ผู้เขียนพยายามขุดลึกให้ถึงประเด็นที่ไต่ลงไปมากกว่าคนที่อยู่สุดขอบยิ่งกว่าชายขอบสุดขอบ เป็นที่สุดของที่สุดของการหยันเหยียด คนที่ไร้ตัวตนแม้ในกลุ่มคนดำกันเอง ไร้อำนาจเสียงต่อรองทุกมิติ นั่นคือเด็กผู้หญิงผิวดำ เป็นมากกว่าปากเสียงให้กลุ่มคนผิวดำต่อกลุ่มคนผิวขาว หนังสือกำลังรื้ออุดมคติ ทวงถามวิธีคิดต่อคุณค่าความงามทางสุนทรียศาสตร์ กำลังลุกขึ้นผลักให้เปลี่ยนแปลงที่ไม่เพียงแค่ความยุติธรรมเชิงกฎหมาย เส้นแบ่งขาวดำ กรอบเกณฑ์ที่คนขาวกำหนดขึ้น การที่คนดำด้วยกันเองต้องยอมรับโลกทัศน์แบบที่เขาว่ากันว่าดี โลกที่คนขาวกำหนดให้ ทั้งการศึกษา การเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ การบริโภค และอื่น ๆ หากหนังสือเล่มนี้จะตะโกนอะไรสักอย่าง ต้องเป็นการป่าวร้องให้ทุบทลายกรอบคุณค่าความงามและโลกทัศน์แบบชนชั้นกลางผิวขาว กอบความล้มเหลวระหว่างการเกลียดตัวเอง เกลียดชนชาติ เกลียดเผ่าพันธุ์ตัวเอง อันเป็นผลมาจากการถูกเหยียดสีผิว การค้นหาความงามตามแบบที่เด็กหญิงผิวดำต้องการกับการต่อสู้เพื่อค้นหาอัตลักษณ์ของคนดำขึ้นมาแม้อาจจะยากลำบาก ซึ่งสะท้อนออกมาในช่วงท้ายของการเล่าเรื่องของคลอเดีย และคลอเดียนี่เอง ที่ทำให้เรานึกถึงบางเหตุการณ์สมัยยังเล่นตุ๊กตาบาร์บี้ เราเอาบาร์บี้ผิวสียางอมชมพู ผมทองเป็นเกลียวแกะไม่ออกของเราไปแลกกับบาร์บี้ผมยาวตรงเป็นดำขลับของเพื่อนในห้องเรียน ไม่มีเหตุผลอะไรอื่นใดเลย เราแค่อยากได้มีโอกาสหวีผมตรงสลวยของตุ๊กตาหุ่นบางคอยาวระหงนั่นแทนผมหยักศกจัดทรงยากของตัวเองบ้าง ก็เท่านั้นตัวละครทั้งหมด ถูกแบ่งให้ทำหน้าที่เสมือนคนในสังคมที่คุกรุ่น การกระทำที่ปฏิบัติใส่กัน สุดท้ายความเสียหายก็เกิดขึ้นไม่มีชิ้นดี เมล็ดพันธุ์บางอย่างไม่ได้ถูกปลูกลึกเกินไป หากแต่ผืนดินแข็งกร้าว ไม่ยอมให้เมล็ดพันธุ์บางอย่างนั้นงอกงามผลิดอกออกผลบนดินแดนของมันThe Bluest Eye .เป็นเล่มที่เราชอบมาก อ่านจบแล้วขอใช้เวลาอิ่มเอิบใจสักสองสามวันก่อนจะเขียนถึงอย่างที่ใจอยาก แต่ก็เกร็งเอาเรื่องอยู่ เพราะชอบจนไม่รู้จะเริ่มยังไงดี รายละเอียดถ้อยคำต่าง ๆ เยอะมาก ความเจ็บแปลบ ๆ ปนความอิ่มใจจุดสุดท้ายอยู่ตรงที่เรากลับมามองว่า ในสถานการณ์ของเรา เราอาจกลายเป็นหนึ่งคนที่เป็นเช่นฟรีดาหรือคลอเดีย บทบาทที่ยืนและต่อสู้เคียงข้างพีโคลา หากแต่ท้ายสุดเรากลายเป็นผู้ตัดสินเรื่องทั้งหมด อีกทั้งเพิกเฉยโดยไม่สนใจว่าอย่างไร ? ทำไม ? และปล่อยให้เมล็ดพันธุ์เข้าใจต่อไปว่าผืนดินไม่อนุญาตให้มันเติบโต ภาพประกอบบทความ โดย ผู้เขียน ดวงตาสีฟ้าสุดฟ้า (The Bluest Eye)เขียนโดย โทนี มอร์ริสัน (Toni Morrison)แปลโดย จุฑามาศ แอนเนียนสำนักพิมพ์ ไลบรารี่ เฮ้าส์ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมหรือสั่งหนังสือได้ทางเพจ facebook : Library House