รีเซต

รพ.เด็กแจง ด.ญ.3 ขวบ 8 เดือน ดับจากโควิด เผยมีโรคหัวใจแต่กำเนิดชนิดซับซ้อน

รพ.เด็กแจง ด.ญ.3 ขวบ 8 เดือน ดับจากโควิด เผยมีโรคหัวใจแต่กำเนิดชนิดซับซ้อน
ข่าวสด
19 พฤษภาคม 2564 ( 19:11 )
110
รพ.เด็กแจง ด.ญ.3 ขวบ 8 เดือน ดับจากโควิด เผยมีโรคหัวใจแต่กำเนิดชนิดซับซ้อน

 

รพ.เด็กแจง ด.ญ.3 ขวบ เสียชีวิตจากโควิด เผยมีโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดชนิดซับซ้อน รักษาตั้งแต่ 1 ขวบ ภายหลังพบติดโควิด ภาวะหัวใจล้มเหลว รักษาเต็มที่ในภาวะวิกฤต

 

 

วันที่ 19 พ.ค.64 สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) ออกแถลงการณ์เรื่อง ผู้ป่วยเด็กอายุ 3 ปี 8 เดือนเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ว่า สืบเนื่องจากมีผู้ป่วยเด็กหญิงไทย อายุ 3 ปี 8 เดือน มารับการรักษาที่สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ด้วยโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดชนิดซับซ้อน ตั้งแต่อายุ 1 ปี ต่อมามีปัญหาปอดอักเสบติดเชื้อหลายครั้ง ได้รับการรักษาที่สถาบันฯ และโรงพยาบาลใกล้บ้าน กุมารแพทย์โรคระบบการหายใจได้ทำการส่องกล้องหลอดลม เพื่อหาสาเหตุของปอดอักเสบ

 

 

 

พบมีเส้นเลือดดำใหญ่กดหลอดลม ผลการตรวจหัวใจ พบมีความผิดปกติของลิ้นหัวใจรุนแรง จึงได้ปรึกษาศัลยแพทย์โรคหัวใจ และผ่าตัดในวันที่ 13 มีนาคม 2564 หลังผ่าตัดผู้ป่วยอาการดีขึ้น สามารถกลับบ้านใน วันที่ 20 มีนาคม 2564 และได้มาติดตามการรักษากับศัลยแพทย์โรคหัวใจในวันที่ 2 เมษายน 2564 พบว่าอาการดีขึ้น

 

 

 

ในวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในสถาบันฯ ด้วยอาการไข้ หายใจหอบเหนื่อย และปอดบวม ผลการตรวจพบเชื้อไวรัสในทางเดินหายใจ ร่วมกับภาวะหัวใจล้มเหลว ได้รับการรักษาในหอผู้ป่วยศัลยกรรม ต่อมาในวันที่ 13 พฤษภาคม 2564 ผู้ป่วยมีภาวะช็อค ค่ำออกซิเจนต่ำเหลือ 85% ผลการตรวจเลือดพบมีเม็ดเลือดขาวสูง และเกล็ดเลือดต่ำมาก สงสัยภาวะการติดเชื้อในกระแสโลหิตรุนแรง ทีมแพทย์จึงให้การรักษาภาวะช็อค โดยการให้น้ำเกลือ ร่วมกับยาปฏิชีวนะขั้นสูง ให้ออกชิเจนอัตราไหลสูงทางจมูก และยากระตุ้นการบีบตัวของหัวใจ พร้อมติตต่อย้ายผู้ป่วยเข้ารักษาในหอผู้ป่วยวิกฤตทันที เนื่องจากผู้ป่วยจะต้องได้รับยาสำคัญหลายชนิดผ่านทางเส้นเลือด จึงมีความจำเป็นต้องเปิดเส้นเลือดขนาดใหญ่

 

 

 

นอกจากนี้ การที่ผู้ป่วยมีภาวะเกล็ดเลือดต่ำจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการมีเลือดออกมากผิดปกติ อีกทั้งการร้องไห้ของผู้ป่วยโรคหัวใจอาจส่งผลต่อการทำงานของหัวใจ ทำให้ความตันโลหิตต่ำลงได้ ทีมแพทย์จึงได้ปรึกษาวิสัญญีแพทย์ผู้เชี่ยวซาญ และมีประสบการณ์ในการเปิดเส้นเลือดดำขนาดใหญ่ ซึ่งมีความจำเป็นต้องให้ยาแก้ปวด และยานอนหลับตามมาตรฐาน ภายใต้การติดตามดูแลรักษาอย่างใกล้ชิดของทีมแพทย์ และพยาบาลในหอผู้ป่วยวิกฤต หลังเปิดเส้นเลือดได้สำเร็จผู้ป่วยมีภาวะเขียว ออกซิเจนต่ำเหลือ 30% หัวใจเต้นช้าลงเหลือ 48 ครั้งต่อนาที ทีมแพทย์จึงใส่ท่อช่วยหายใจ และเริ่มปฏิบัติการกู้ชีพทันที

 

 

 

อย่างไรก็ตามผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษา และเสียชีวิตในคืนวันที่ 13 พฤษภาคม 2564 สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ได้ให้การดูแลรักษาผู้ป่วยรายนี้อย่างเต็มที่ตามมาตรการการรักษาในภาวะวิกฤต โดยทีมแพทย์เฉพาะทาง และพยายาลเชี่ยวชาญในการดูแลผู้ป่วยวิกฤต สถาบันฯ ขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวของผู้ป่วยในการสูญเสียครั้งนี้เป็นอย่างยิ่ง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง