รีเซต

จับตา ส.ว. ล่าชื่อยื่นศาลรธน.วินิจฉัยร่างแก้ไข 6 ญัตติ อ้างหวั่นพลาดต้องพ้นเก้าอี้-เจอโทษอาญา

จับตา ส.ว. ล่าชื่อยื่นศาลรธน.วินิจฉัยร่างแก้ไข 6 ญัตติ อ้างหวั่นพลาดต้องพ้นเก้าอี้-เจอโทษอาญา
มติชน
8 พฤศจิกายน 2563 ( 08:04 )
40
จับตา ส.ว. ล่าชื่อยื่นศาลรธน.วินิจฉัยร่างแก้ไข 6 ญัตติ อ้างหวั่นพลาดต้องพ้นเก้าอี้-เจอโทษอาญา

วันที่ 8 พฤศจิกายน ต้องจับตาความเคลื่อนไหวของส.ว. ที่เตรียมล่ารายชื่อเพื่อยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้ง 6 ฉบับของพรรคร่วมรัฐบาล กับพรรคร่วมฝ่ายค้านนั้นขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ทั้งที่ จะมีการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาโหวตวาระแรกในวันที่ 17 พฤศจิกายนนี้

 

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน นายกิตติศักดิ์ รัตนวะราหะ ส.ว. กล่าวถึงการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณารับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันที่ 17 พฤศจิกายนนี้ว่า ถือเป็นเอกสิทธิของส.ว.แต่ละคนที่จะพิจารณารับหลักการหรือไม่ ยืนยันว่า ไม่มีใบสั่งให้ส.ว.โหวตไปในทิศทางใด แต่โดยส่วนตัวเห็นว่ารัฐธรรมนูญสามารถแก้ไขได้ แต่ห้ามแตะต้องหมวด 1 กับหมวด 2 มิเช่นนั้นจะขอโหวตส่วนทันที

 

“อย่างไรก็ตาม ก่อนที่ที่ประชุมรัฐสภาจะพิจารณารับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขณะนี้มีความเคลื่อนไหวของส.ว. ด้วยการรวบรวมรายชื่อส.ว. โดยมีผมร่วมลงชื่อด้วย เพื่อยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตีความว่า ญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ฉบับที่พรรคร่วมรัฐบาล กับพรรคร่วมฝ่ายค้านเสนอนั้น ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยเฉพาะญัตติที่เสนอให้แก้ไขมาตรา 256 ที่ยังมีความเห็นต่าง มีข้อสงสัยทางกฏหมายกันอยู่ว่า จะต้องทำประชามติถามประชาชนก่อนที่จะรัฐสภาจะโหวตรับหลักการหรือไม่ เพราะซีกส.ว.ยังยืนยันว่า เจตนาของมาตรานี้ คือให้แก้ไขรายมาตรา แต่เนื้อหาในญัตติที่ทั้งพรรคร่วมรัฐบาล และฝ่ายค้านเสนอนั้น ให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร.เพื่อนำไปสู่การยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ไม่ใช้การแก้ไขรายมาตรา ดังนั้น เมื่อยังมีข้อสงสัย การยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาด คือทางที่ปลอดภัยที่สุด”นายกิตติศักดิ์กล่าว

 

นายกิตติศักดิ์กล่าวว่า ยืนยันว่า การยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ ไม่ใช่การยื้อเวลา แต่เพื่อความปลอดภัย ถ้าหากเดินหน้ารับหลักการไปโดยไม่มั่นใจ หากขัดรัฐธรรมนูญขึ้นมา พวกเราถือเป็นผู้รับผิดชอบ ต้องพ้นจากตำแหน่ง และยังมีโทษทางอาญาด้วย ดังนั้น ก่อนรัฐสภาจะลงมติรับหลักการก็ให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้เลยว่า ตามญัตติที่เสนอมาทำได้หรือไม่ เป็นการแก้ไขหรือร่างใหม่ทั้งฉบับ แล้วจะต้องทำประชามติช่วงไหนกันแน่ ก่อนรัฐสภารับหลักการ หรือหลังจากผ่านวาระสามไปแล้ว

 

นายกิตติศักดิ์กล่าวว่า การล่ารายชื่อส.ว. รวมถึงกำหนดการยื่นศาลรัฐธรรมนูญนั้น จะมีความชัดเจนในวันที่ 9 พฤศจิกายนนี้ ส่วนจะยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ประชาชนเข้าชื่อร่วมกับไอลอว์ด้วยหรือไม่นั้น ฝ่ายกฏหมายกำลังพิจารณา หากนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา บรรจุญัตตินี้มาพิจารณาด้วยก็คงจะต้องยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความเช่นกันเพื่อความปลอดภัย เพราะต้องยอมรับว่า ไอลอว์ถือเป็นองค์กรที่ได้รับเงินสนับสนุนเงินจากต่างชาติมาดำเนินการเรื่องนี้ หากพวกเราเดินสุ่มสี่สุ่มห้าไปก็สุ่มเสี่ยงที่จะทำผิดเสียเองได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง