รีเซต

ศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ กับหนังสือดีที่น่าอ่าน Thai Diplomacy in conversation with Tej Bunnag (2)

ศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ กับหนังสือดีที่น่าอ่าน Thai Diplomacy in conversation with Tej Bunnag (2)
มติชน
26 เมษายน 2565 ( 08:51 )
76

หลังฟังความเห็นเกี่ยวกับหนังสือดังกล่าวจากผู้ร่วมอภิปรายที่จัดโดย ศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ (International Studies Center-ISC) ได้จัดงานเปิดตัวหนังสือ Thai Diplomacy in conversation with Tej Bunnag ไปแล้ว 2 ท่าน สัปดาห์นี้มาต่อกันที่ คุณพิศาล มาณวพัฒน์ สมาชิกวุฒิสภา และอดีตเอกอัครราชทูตไทยหลายประเทศก่อนจะเกษียณอายุราชการในตำแหน่งเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ซึ่งขอพูดถึงหนังสือใน 5 ประเด็น และอีก 1 ประเด็นแถมท้ายเกี่ยวกับ คุณทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเป็นสิ่งที่เจ้าตัวระบุว่า “สะท้อนถึงบุคลิกของท่านเตช”

 

ประเด็นแรกคือ เรื่องประวัติศาสตร์ ชัดเจนว่าถ้าข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศได้เรียนประวัติศาสตร์และมีพื้นฐานประวัติศาสตร์จะได้เปรียบทั้งในการสนทนา เขียนสปีช ประเด็นหารือ ที่สำคัญที่สุดคือการทำความเข้าใจในบริบทและการโยงเกี่ยวว่าเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์นี้เกิดขึ้นได้อย่งไร และทำไมไทยจึงต้องตัดสินใจเช่นนั้น

 

ข้อที่ 2 เรื่องเพื่อนบ้าน ท่านบอกว่าสำคัญที่สุด ยากที่สุด แต่จะมีความพึงพอใจมากที่สุด จะต้องปล่อยวางประวัติศาสตร์ให้ได้ เราถึงจะสถาปนาความสัมพันธ์ สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ สมัย ท่านอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี ท่านอาสา สารสิน เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ เกือบจะใช้เวลาทั้งหมดไปกับการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ โดยเฉพาะกับลาวซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมหาศาลในยุคนั้น

 

ข้อที่ 3 คือ เรื่องอาเซียน ท่านมีจิตวิญญานของอาเซียน บอกว่าการขยายตัวของอาเซียนครบ 10 ประเทศเป็นประโยชน์ของภูมิภาค ผมเห็นด้วยว่าเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่มันก็เป็นภาระหนึ่งที่อาเซียนต้องยอมรับ สมัยที่ผมนั่งข้างหลังตอนท่านอาสาเป็นปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียน 5 ประเทศ ความคิดความอ่านมันไปด้วยกันได้หมด ซึ่งยุคนี้มันต่างไป

 

ท่านพูดถึงความเป็นศูนย์กลางและเป็นผู้ขับเคลื่อนซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ท่านบอกว่าตราบใดที่เราคิดจะขับเคลื่อนไปในทิศทางที่เราต้องการใช้ได้ทั้งนั้น ปัญหาของอาเซียนขณะนี้คือคำว่า We มันไม่มีฉันทามติของคำว่า We ตัวนั้น พอใครเป็นประธานก็จะขับเคลื่อนไปในทางหนึ่ง ความเป็นศูนย์กลางก็เช่นเดียวกัน ถ้าทุกประเทศเอาอาเซียนมีจิตวิญญานแบบท่านเตชในเรื่องของการเอาอาเซียนเป็นศูนย์กลางของนโยบายต่างประเทศ อาเซียนจะมีน้ำหนัก จะเป็นปึกแผ่น และจะมีบทบาทในเวทีโลกแน่นอน ท่านบอกว่าเราต้องเตือนให้โลกรู้ถึง position ของอาเซียน ตอนนี้อาเซียนมี position จริง อย่างเรื่องเมียนมามี 5 ข้อ แต่คนเขามองอาเซียนแล้วเขาไม่คิดว่าเราทำอะไรได้เกินกว่าวันที่ผู้นำอาเซียนเจอกันที่อินโดนีเซียซึ่งมีการตกลง 5 ข้อนั้น

 

ข้อ 4 ใน เรื่องของไทย-จีน ไทย-สหรัฐ ผมเห็นด้วยกับท่านว่าเราไม่ควรฝันหวานว่าเรามีความสัมพันธ์พิเศษกับสหรัฐ ที่วอชิงตันเขาไม่มีความสัมพันธ์พิเศษกับใคร มันเป็นเรื่องผลประโยชน์อเมริกันที่เขามองว่า เขาจะใช้ใคร สนิทกับใครเป็นพันธมิตรกับใครในยุคสมัยที่จะได้ผลประโยชน์ สิ่งที่ท่านอาสาสอนผมตลอดเมื่อครั้งไปอยู่วอชิงตันกับท่านคือเวลาอยู่กับอเมริกัน ถ้าผลประโยชน์สอดคล้องกันเดินไปด้วยกัน ถ้าผลประโยชน์แตกต่างกันไม่ต้องเดินไปกับเขา แยกเดินได้ และอเมริกันเขาก็เป็นฝรั่งพอที่จะเข้าใจ ไม่ต้องไปกลัวว่าเขาจะโกรธหรือจะน้อยใจ

 

ท่านเตชพูดถูกว่าเราต้องพยายามอยู่ในจอเรดาห์ ท่านบอกว่าอันนี้ผมชอบมากอยากให้นักการทูตไทยไปพูดกับจีนเป็นประจำ จีนควรจะใช้วิธีการที่มีสติ ในการมีความสัมพันธ์กับสหรัฐ ไม่ควรก้าวร้าว ไม่ควรยั่วยุ ซึ่งเราก็เห็นว่าจีนในยุคนี้กับในยุคที่ท่านอานันท์ไปเปิดความสัมพันธ์ มันเป็นจีนคนละจีนแล้ว

 

ผมเห็นต่างกันท่านในเรื่องสหรัฐนิดเดียว ท่านคิดว่าความสัมพันธ์กับกระทรวงต่างประเทศสหรัฐสำคัญ สนับสนุนเราเป็นอย่างดีมาตลอด เขาสามารถที่จะพูด มีสิทธิมีเสียง เข้าใจเรา ระยะหลังที่ผมอยู่กระทรวงต่างประเทศไม่มีความหมายในวอชิงตัน ผมไปแม้กระทั่งเพนตากอน ซึ่งควรจะชื่นชมพันธมิตรทหาร เขาชื่นชมเวลาเราไปพบ แต่เขาไม่ออกมาพูดกับคองเกรสหรือทำเนียบขาว ผมไปซีไอเอซึ่งควรจะชื่นชมไทยมากที่สุด เพราะเราช่วยเขามากกว่าเขาช่วยเราเยอะ เวลาเราต้องการให้เขาพูดแทนเรา เขาเงียบ เขาไม่เสี่ยง ผมคิดว่าอเมริกันในปัจจุบันและอนาคต มีอย่างเดียวที่ยั่งยืนคือผลประโยชน์ร่วม

 

จีนก็เช่นเดียวกัน ในหนังสือถามถึงเรื่องแนวโน้มนักท่องเที่ยว การไปมาหาสู่ระหว่างไทยจีน ถ้าผมเป็นผู้กำหนดนโยบายกระทรวงต่างประเทศตอนนี้ ผมจะบอกรัฐบาลว่าถ้าประเทศใดก็ตามมีนักลงทุนมา 20-30 ล้านคนมาไทยแล้วเขาสามารถสั่งซ้ายหันขวาหันได้ เราจะตกเป็นเบี้ยล่างประเทศนั้น ประเทศไหนก็ตามที่บอกว่าซื้อทุเรียนซื้อลำใยจากเราเป็นจำนวนมาก แล้ววันไหนเขาบอกว่าไม่อยากกินทุเรียนแล้ว เราอย่าตกเป็นเบี้ยล่าง เพราะฉะนั้นเราต้องมีการปรับโครงสร้าง เพื่อให้การต่างประเทศกับอำนาจการเจรจาของเรามีมากขึ้น ปรับโครงสร้างหมายความว่าอย่างไร เราไม่จำเป็นต้องรับนักท่องเที่ยวด้วยจำนวน เราต้องสามารถเปลี่ยนให้มันเป็นคุณภาพ ให้มาจากประเทศต่างๆ ที่เราจะไม่ถูกกดดันในแง่ของการบีบ เป็นเบี้ยล่าง เจรจาต่อรอง ไม่งั้นต่อไปในอนาคต อำนาจการต่อรองกับจีนเราไม่มีแน่นอน

 

ข้อ 5 เรื่ององค์การการค้าโลก ท่านเตชบอกเป็นการเปลี่ยนชีวิต ผมคิดว่าท่านกำลังสอนข้าราชการในปัจจุบันว่าอย่าไปเครียดกับงานเหมือนที่ท่านไปอยู่เจนีวาในปีแรก เรียงลำดับงานให้ถูกต้อง และทำเฉพาะในส่วนที่คิดว่ามันเป็นประโยชน์และกระทบกับไทยมากที่สุด

 

ท่านเตชบอกว่าโลกอันตรายขึ้นภายใต้ โดนัลด์ ทรัมป์ หวังว่า โจ ไบเดน มาโลกจะกลับมาเป็นปกติ อันนี้ผมอาจจะแย้งท่านนิดนึงว่าสำหรับผม ทรัมป์ไม่ถึงกับแย่มากในด้านการต่างประเทศ และในส่วนที่เกี่ยวกับจีน ไบเดนอาจจะแย่กว่าทรัมป์เยอะ อย่างน้อยทรมป์คิดแต่เรื่องผลประโยชน์ การแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจ ไม่พร้อมที่จะใช้กำลังทางทหาร แต่ไบเดนพร้อมจะเอาทหาร กองกำลังภาคพื้นแปซิฟิกไปกดดันจีน ไม่ใช่เฉพาะสหรัฐอย่างเดียว ยังมีพรรคพวกอย่างออสเตรเลีย อินเดีย อังกฤษ และญี่ปุ่น

สุดท้ายเกี่ยวกับคุณทักษิณ ในหนังสือเล่มนี้พูดถึงในหน้า 68, 190 และ 202 ท่านเตชได้ยกย่องนายกฯทักษิณ เป็นผู้ที่มี International outlook เป็น Outstanding PM เป็นคนที่รอบรู้ประเด็นหารือยากๆ ในการสนทนาได้อย่างยอดเยี่ยม ผมภูมิใจที่ผมเป็นลูกน้องท่านเตช เพราะท่านมีความกล้าหาญ ท่านมีความซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพ ท่านพูดในหนังสือนี้อย่างตรงไปตรงมาว่า นายกฯทักษิณเก่งตรงไหนอย่างไร ในยุคที่สังคมยังเล่นกีฬาสีอย่างเลอะเทอะไปหมด เพราะฉะนั้นสำหรับผม อันนี้สะท้อนถึงความตรงไปตรงมา กล้าหาญ

 

ด้าน คุณกวี จงกิจถาวร นักสื่อสารมวลชนอาวุโส บอกว่า สำหรับผมสิ่งที่สำคัญที่สุดในหนังสือเล่มนี้อยู่ที่หน้า 41 “We should not read history with hindsight” นั่นคือคำตอบสำหรับนโยบายต่างประเทศของไทย มันเป็นการบรรยายที่ชัดเจนทุกมุมมอง นโยบายต่างประเทศของไทยมีความยืดหยุ่นและปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์มาก มันเหมือนน้ำไหล มีทั้งตื้นและลึก มันขึ้นกับว่าเวลานั้นเราไปเหยียบโดนหินแข็งๆ หรือโคลนนิ่มๆ

 

ท่านเตชเป็นนักการทูตที่มีคุณสมบัติมากกว่าคนอื่นเพราะเป็นนักประวัติศาสตร์ เพราะเมื่อมีมุมมองทางประวัติศาตร์ในการกำหนดนโยบายต่างประเทศ มันรู้ที่มา ไม่เหมือนคนไทยในปัจจุบันที่จับเอาเหตุการณ์หนึ่งมาขยายต่อ นโยบายต่างประเทศมันมีที่มาที่ไป ที่บอกว่านโยบายต่างประเทศของไทยลู่ตามลม หรือลู่ไปก่อนลม ความจริงแล้วเราเปลี่ยนเกียร์ขณะลู่ไปกับลม เราอยู่รอดมาได้ท่ามกลางคลื่นลมที่โหมแรง ใครจะว่าเราว่าอย่างไรก็ช่างเถิด แต่เราอยู่รอดมาได้ด้วยการที่อธิปไตยและเอกราชของประเทศไม่เสียหาย นั่นคือสิ่งที่สำคัญที่สุด

 

ในหนังสือเล่มนี้มีเรื่องที่น่าชื่นชมหลายเรื่อง แต่ผมสนใจเรื่องหนึ่งที่คนไทยไม่ค่อยสนใจคือบทบาทไทยในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งไม่มีใครเข้าใจเลยนอกจากในหนังสือเล่มนี้ ถ้าคนอ่านจะทราบว่าบทบาทของไทยในเวทีการเมืองระหว่างประเทศไม่ได้ลดถดถอยไปเลยถึงแม้จะในขณะนี้ก็ตาม สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือสิ่งที่ไทยทำในเวทีระหว่างประเทศมันมีความต่อเนื่องมาตลอด ในหนังสือเล่มนี้มีไฮไลต์ว่า ถ้าเราอยากเป็นพลเมืองที่ดี เราก็ต้องมีความรับผิดชอบบางอย่าง มันเป็นสิ่งที่เราจำเป็นต้องทำ และการเป็นพลเมืองที่ดีทำให้ประเทศไทยมาถึงวันนี้ แต่บังเอิญคนไทยไม่รู้ว่าเราเป็นพลเมืองที่ดีของโลก

 

ในหลายๆ ประเด็นเกี่ยวกับบทบาทของไทยในเวทีการเมืองระหว่างประเทศมันไม่ได้ขาดหายไป และมันสำคัญมาก ไทยมีคุณสมบัติอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น resilience, flexibility, muddle through หรือสามารถที่จะสร้างสมดุลอย่างที่ท่านเตชบอก นั่นเป็นสิ่งที่ไทยทำมาตลอด

 

ตอนนี้ถ้าจะพูดถึงไทยหลังปรับสัมพันธ์การทูตกับซาอุดีอาระเบียแล้ว ขณะนี้ไทยไม่มีศัตรูแล้วใน 54 ประเทศสมาชิกองค์การความร่วมมืออิสลาม (โอไอซี) แต่พอไม่มีศัตรูก็จะยิ่งทำให้เราทำตัวลำบาก เพราะเราไม่สามารถจะทำให้เพื่อนทุกคนพอใจได้ตลอดเวลา ดังนั้นการรู้จักที่จะเลือกอย่างชาญฉลาดในประเด็นต่างๆ ว่าอะไรเป็นผลประโยชน์ของประเทศไทย

 

หนังสือเล่มนี้พูดถึงไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ในกัมพูชา หรือเกิดขึ้นในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ แสดงให้เห็นว่าคนที่จะมาเป็นทูตมันไม่ธรรมดา จะต้องมีขีดความสามารถที่จะเข้าใจ ต้องมีปัญหา มีไหวพริบ ฉลาดเฉลียวและรอบรู้ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องรู้จักพลิกแพลง แต่ในภาพรวมผมเห็นด้วยกับทุกท่านว่าหนังสือเล่มนี้คือคาถาของนโยบายต่างประเทศของไทย อ่านไว้สำหรับผู้ที่ยังไม่ได้มีความเชี่ยวชาญพิเศษจะได้รู้และจะได้ไม่พูดซี้ซั้วเอาตัวไม่รอด ถ้าอ่านจะเข้าใจว่าประเทศไทยตลอดเวลาที่ผ่านมามันมีประวัติศาตร์ รู้ว่าจะรักษาผลประโยชน์ประเทศไทยได้อย่างไร ความสำคัญของผู้นำที่ให้ความสำคัญกับผลประโยชน์แห่งชาติ จึงทำให้ประเทศไทยอยู่รอด

 

ประเด็นสุดท้ายเรื่องอาเซียนมันคือดีเอ็นเอของไทยไม่ใช่อย่างอื่น ไม่ว่าจะมองไปทางทิศใด เหนือ ใต้ ออก ตก ดีเอ็นเอของไทยก็คืออาเซียน

 

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดหนังสือ Thai Diplomacy in conversation with Tej Bunnag ได้ที่เว็บไซต์ www.isc.mfa.go.th

ข่าวที่เกี่ยวข้อง