ก่อนอื่นต้องขอแจ้งให้ทราบก่อนว่า โปรแกรม Photoshop ที่ผู้เขียนใช้นำมาอธิบายในบทความนี้ เป็นรุ่น CC (Creative Cloud) อาจมีรายละเอียดบางอย่างที่ไม่ตรงกันกับผู้ที่ใช้รุ่นก่อนหน้า และสำหรับผู้ที่ยังไม่มีโปรแกรม Photoshop สามารถดาวน์โหลดมาทดลองใช้ได้ฟรี 30 วันครับ (ดาวน์โหลด photoshop รุ่นทดลองใช้) เมื่อเรามีโปรแกรมที่พร้อมใช้งานกันแล้ว ก็มาดูเรื่องที่ผมจะนำเสนอในครั้งนี้กันเลย ปล.บทความนี้ไม่เหมาะกับผู้ที่ใช้งาน Photoshop ได้คล่องแคล่วอยู่แล้ว แต่ กบว. (กลุ่มเบื่อข้อมูลน่าเวียนหัว :P) อนุญาตให้ท่านอ่านเพื่อช่วยตรวจทาน ดูข้อผิดที่ผมอาจพลาดนำมาบอกต่อได้ และหากมาช่วยทักท้วงจักขอบพระคุณยิ่งครับ แฮ่ะๆ บทความก่อนหน้านี้ เรื่อง 4 ข้อต้องรู้ ก่อนแต่งภาพให้ดูสวย ผมแจ้งไว้ว่ามีเว็บไซต์หลายแห่งแจกเครื่องมือแต่งรูปให้ใช้ฟรี แต่เมื่อได้ทดลองใช้ อาจยังมีข้อจำกัดหลายอย่างที่ยังทำได้ไม่ดีอย่างที่ตั้งใจไว้โปรแกรม Photoshop จึงเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะทำให้ฝันของท่านเป็นจริง ขนาดนั้นเลย จริงจริ๊งงง ถ้าเกี่ยวกับการตกแต่งภาพ ผมขอกินโรตี เอ๊ย การันตี จริง ๆ ครับ ^^ บทความครั้งนี้เป็นเรื่องการปรับแต่งอย่างง่ายด้วย Photoshop จึงยังไม่มีอะไรที่จะทำให้ท่านต้องยุ่งยากในการแต่งภาพแต่อย่างใด แต่ผลลัพธ์ที่ได้จะออกมาดูดีขึ้นแน่นอน เริ่มด้วยการเปิดโปรแกรม (เอาละเอียดขนาดนั้นเลยนะ :D) และเปิดรูปที่ต้องการปรับแต่งขึ้นมา (อย่าเลือกผิดรูปนะ เลือกผิด แต่งให้ตายก็ไม่ได้อย่างที่ต้องการนะครับ คริคริ) ผมมีรูปตัวอย่างมาให้ลองทำกันดูจะเห็นว่ารูปนี้ถ่ายได้สวย องค์ประกอบภาพดี แต่มีความคมชัดน้อยไปหน่อย เมื่อต้องการแก้ไขจะทำยังไงดี ถ้าทำใน Photoshop แบบง่ายสุดก็ไปที่เมนู Image ด้านบนเลย แล้วเลือกคำสั่ง Auto Tone / Auto Contrast / Auto Color อย่างใดอย่างหนึ่ง อาจสงสัยว่า แล้วจะให้เลือกใช้อันไหนตอนไหน? งั้นต้องอธิบายการทำงานของมันกันหน่อย ดังนี้ครับ Auto Contrastเป็นการทำงานอัตโนมัติที่มีขั้นตอนน้อยที่สุด คือโปรแกรมจะดูว่ารูปนี้สีตรงไหนเข้มที่สุดก็จะทำให้เข้มขึ้นให้กลายเป็นจุดดำไปเลย ส่วนตรงไหนสว่างที่สุดก็จะทำให้เป็นจุดขาวไปเลย จากนั้นก็จะเกลี่ยสีเฉลี่ยไปทั่วภาพ จะทำให้ภาพมีความคมชัดขึ้นAuto Toneคล้ายกับ Auto Contrast คือจะมีการปรับให้ภาพได้จุดเข้มสุดและสว่างสุดและเกลี่ยสีเช่นกัน แต่จุดแตกต่างคือโปรแกรมจะแยกปรับตามแม่สีที่ผสมกันออกมาเป็นภาพนั้น (ภาพหนึ่งภาพบนจอภาพจะประกอบด้วยแสงสีแดง เขียว น้ำเงิน) เมื่อได้เกลี่ยสีจากความเข้มสุดสว่างสุดของแต่ละสีแล้วจึงนำมารวมเข้าด้วยกัน ภาพจะมีความคมชัดเช่นกัน แต่โทนสีจะถูกต้องมากขึ้นAuto Colorคล้ายกับ Auto Tone คือนอกจากจะปรับเฉลี่ยสีตามแม่สีแล้ว ยังพยายามแก้ไขสีที่ไม่ต้องการที่กระจายอยู่ในภาพให้เป็นสีที่ถูกต้องอีกด้วย ด้วยการเปรียบเทียบค่ากลางของสีในภาพกับสีเทาที่เป็นค่ากลางของสีดำกับขาวนั่นเองสรุป การปรับด้วย Auto Color ที่มีการปรับทั้งความคมชัดและแก้ไขสีให้ด้วยมักจะทำให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า แต่ก็ไม่แน่นอนเสมอไป แล้วแต่ว่าคุณจะชอบให้ภาพออกมาแบบไหน ลองไปดูแบบเปรียบเทียบกันเลยดีกว่าข้อสังเกตคือ หากคุณคลิกคำสั่งใดคำสั่งหนึ่งแล้วไม่ยกเลิกหรือกดย้อนกลับ แล้วไปทดลองกดคำสั่งอื่นต่อเลย เช่น กด Auto Color แล้วไปกด Auto Tone ต่อ หรือ กด Auto Contrast แล้วก็กด Auto Color ต่อ ผลลัพธ์ที่ได้จะเป็นผลจากการแก้ไขสองครั้งต่อเนื่องกัน จึงไม่เหมือนกับกดเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงครั้งเดียว ลองนำไปใช้และสังเกตดูนะครับ และนี่คือการใช้โปรแกรม Photoshop แก้ไขภาพให้คุณได้ง่าย ๆ ถึงง่ายที่สุด ซึ่งยังมีวิธีปรับภาพอย่างละเอียดให้คุณได้ใช้อีกมาก โดยที่ผมจะนำมาบอกในบทความต่อไป เช่น คำสั่ง Curves คำสั่ง Levels เป็นต้น สำหรับคำสั่ง Auto Contrast, Auto Tone, และ Auto Color ที่คุณรู้จักแล้วนี้ เมื่อเลือกได้แล้วว่าใช้คำสั่งไหนกับภาพคุณแล้วสวยที่สุด ก็อย่าลืมดูว่าคุณได้ขนาดภาพตามที่ต้องการด้วยหรือไม่ เช่น ในเว็บไซต์ต้องการใช้ภาพขนาด 400x800 Pixels (ค่าแรกจะเป็นค่าความกว้างแนวนอน หรือค่า Width ค่าที่สองเป็นค่าความสูงแนวตั้ง หรือค่า Height) คุณก็สามารถตรวจสอบดูขนาดภาพของคุณได้ว่าเหมาะสมหรือไม่ ด้วยการใช้เมาส์คลิกค้างไว้ที่มุมซ้ายเพื่อดูขนาดภาพในตอนนี้ก่อนได้ ถ้ามันใหญ่กว่าที่ต้องการก็ใช้ได้ เพราะเมื่อเราตัดส่วนที่ไม่ต้องการออกภาพก็ยังชัด ถ้าเล็กกว่าไม่มากก็ยังพอกล้อมแกล้ม แต่ถ้าเล็กกว่าที่เราต้องการเยอะ แนะนำให้เปลี่ยนภาพครับ เพราะเมื่อนำไปใช้จริงคุณจะได้ภาพเบลอไม่สวย แล้วจะทำอย่างไร ให้เราได้ขนาดภาพตามต้องการ? คุณจะสร้าง Selection ตามสัดส่วนที่ต้องการแล้วปรับขนาด Selection ให้ครอบคลุมภาพ จากนั้น Crop ภาพ แล้วก็ไปปรับขนาดที่ Image Size อีกที ก็ได้ แต่เมื่อมันยุ่งยาก หลายขั้นตอน วิธีที่ง่ายที่สุดคือ บันทึกรูปที่เราปรับแต่งไว้แล้วก่อน จากนั้นสร้างกระดานเปล่าตามขนาดที่เราต้องการขึ้นมาใหม่เลย โดยไปที่เมนู File เลือก New หรือกดปุ่ม Ctrl + Nจะมีหน้าต่างให้เรากำหนดขนาดที่ต้องการก่อน ให้เราใส่ขนาดลงไปได้เลย (อย่าลืมเปลี่ยนหน่วยของขนาดที่เราจะใช้ให้ถูกต้อง) รวมทั้งกำหนดความละเอียดที่ต้องการด้วย (ค่าสำหรับการพิมพ์ลงสื่อสิ่งพิมพ์ทั้งหลาย ควรใช้ความละเอียด 300 Pixels/Inch และใช้ Color Mode เป็น CMYK)จากนั้นไปที่เมนู File เลือก Place Embedded แล้วเลือกรูปที่เราแก้ไขและเซฟไว้แล้วนั้น เมื่อเลือกได้แล้วกดปุ่ม Place โปรแกรมจะนำรูปเรามาใส่ให้พอดีที่สุดกับพื้นที่ของเรา ถ้าเราต้องการปรับย่อขยายเพิ่มเติมก็เพียงแต่ใช้เมาส์คลิกจับที่จุดใดจุดหนึ่งของรูป (มี 8 จุด) แล้วลากย่อ/ขยายเอาได้เลย โดยหากกดปุ่ม Alt ค้างไว้ระหว่างที่เราย่อขยาย จะเป็นการย่อขยายทุกส่วนโดยรอบ ถ้าเราไม่กด จะเป็นการย่อขยายไปในด้านที่เราใช้เมาส์จับอยู่เท่านั้น เพียงเท่านี้คุณก็จะได้ภาพในขนาดที่ต้องการแล้ว และคุณยังสามารถตกแต่งต่อ เช่นใส่ข้อความหรือสติกเกอร์อื่น ๆ เพิ่มเติม ก่อนเซฟไฟล์ไว้ให้พร้อมใช้งานต่อไป ขอขอบคุณภาพจาก pexels.com, ภาพ 6-8 โดยผู้เขียน