ภาพประกอบปกบทความจาก freepikสมัยที่ผู้เขียนยังเป็นนิสิตในคณะเภสัชศาสตร์ สิ่งที่จะได้เรียนรู้ส่วนใหญ่นั้นก็จะเป็นเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับยา แต่พอได้เรียนจบมาทำงานเป็นเภสัชกรประจำอยู่ในโรงพยาบาลจึงได้เข้าใจอย่างลึกซึ้งเลยค่ะว่า สิ่งที่สำคัญไม่แพ้การมีความรู้เรื่องยาอย่างละเอียดลึกซึ้งรอบด้าน ก็คือการมีทักษะการพูดที่ยอดเยี่ยมนั่นเองค่ะภาพจาก freepikการพูดนั้นสำคัญไฉน... ?การจ่ายยานั้นหากมองอย่างผิวเผินแล้วก็อาจจะดูเหมือนเป็นเรื่องที่ง่ายแสนง่าย เพราะบางทีคนไข้ก็ชอบถามเภสัชกรเหมือนกันว่า ที่เราอธิบายวิธีการกินยาและอาการข้างเคียงให้เขาฟังนั้นมันมีระบุอยู่บนฉลากยาหรือไม่ ซึ่งอันที่จริงฉลากยาก็จะมีข้อมูลทุกอย่างที่คนไข้จะต้องทราบอยู่แล้ว เภสัชกรไม่จำเป็นต้องพูดให้ฟังเลยก็ได้ แต่ความจริงคือในขั้นตอนของการจ่ายยาในช่วงเวลาสั้น ๆ เภสัชไม่เพียงแต่อธิบายการกินยาตามฉลากเท่านั้นค่ะ แต่เราจะใช้ช่วงเวลาขณะที่ได้พบกับคนไข้ในการประเมินความเหมาะสมของการใช้ยา รวมถึงค้นหาปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ยานั้นไปพร้อม ๆ กันด้วย ซึ่งถือว่าเป็นขั้นตอนสุดท้ายที่สำคัญมาก เพราะบางทีสิ่งที่คนไข้ปิดบังเอาไว้ไม่ยอมแจ้งแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นการกินยาผิด ๆ ถูก ๆ ลืมกินบ้างอะไรบ้าง หรือเกิดอาการข้างเคียงต่าง ๆ จากยาทำให้ไม่อยากกินยา ก็จะถูกดักจับได้ในขั้นตอนการจ่ายยานี่แหละค่ะภาพจาก freepikยกตัวอย่างเช่น เมื่อต้องจ่ายยาคนไข้ที่มีค่าผลเลือดผิดปกติ ทั้งที่หมอก็สั่งยาให้ทานในขนาดที่เหมาะสมแล้ว ทักษะการค้นหาความจริงร่วมกับการดักจับสิ่งผิดสังเกตก็จะต้องถูกดึงออกมาใช้ว่าคนไข้ได้กินยาตามที่หมอสั่งจริง ๆ หรือไม่ ซึ่งหากเราถามตรง ๆ ไปว่ากินยาทุกวันไหม เกือบร้อยละ 99 ก็จะตอบมาว่ากินทุกวัน ดังนั้นเพื่อให้ได้ซึ่งคำตอบที่คนไข้อาจจะกำลังปิดบังเราอยู่ จึงต้องใช้การถามในลักษณะอื่นสำหรับผู้เขียนก็จะใช้การถามย้ำในประเด็นเดิมซ้ำ ๆ ด้วยลักษณะคำถามที่แตกต่างกันออกไป เช่นถามว่ามียาตัวไหนที่คนไข้ไม่ได้กินบ้างไหม ยาตัวไหนที่คนไข้ลืมกินบ่อยที่สุด ลืมกินยาครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ หรืออาจจะถามว่ามียาตัวนี้เหลือที่บ้านกี่แผง ซึ่งหากเหลือเยอะก็แสดงว่าคนไข้ไม่ยอมกินยา การมีทักษะในการพูดเพื่อค้นหาปัญหาก็จะช่วยให้เราได้คำตอบที่แท้จริงที่คนไข้แอบซ่อนไว้ไม่ยอมบอกกับหมอได้ค่ะ ภาพจาก freepikและพอเรารู้แล้วว่าคนไข้ไม่กินยาตัวนี้เลยทำให้ผลเลือดผิดปกติ เราก็ต้องอาศัยทักษะการพูดข้อถัดไปก็คือการพยายามหว่านล้อมโน้มน้าวจูงใจให้คนไข้เห็นความสำคัญของการกินยาให้จงได้ โดยอาจจะมีการซักถามต่อไปว่าเขามีปัญหาอะไรถึงไม่กินยานี้ คำตอบที่ได้ก็อาจจะเป็นเพราะความเข้าใจผิดว่ากินยามาก ๆ แล้วจะทำให้ไตวาย (ซึ่งไม่จริง) อาจจะแค่ลืมเฉย ๆ หรือจริง ๆ แล้วคนไข้อาจจะเกิดอาการข้างเคียงจากยาก็ได้เมื่อเราพบปัญหาที่แท้จริงแล้วก็ต้องหาทางแก้ไขให้คนไข้และให้คำแนะนำกันต่อไป ดังนั้นการจ่ายยาแต่ละเคสให้สมบูรณ์จริง ๆ จึงไม่ใช่เรื่องที่ง่ายเท่าไหร่เลย ต้องใช้ทั้งเวลา ประสบการณ์ แล้วก็ต้องใช้ความรู้กับทักษะด้านวิชาชีพเภสัชกรประกอบกันไปด้วยภาพจาก freepikที่ยากไปกว่านั้นก็คือในแต่ละวันมีคนไข้มารับบริการที่โรงพยาบาลเป็นจำนวนมากค่ะ แค่ช่วงครึ่งเช้าหรือภายใน 3 ชั่วโมงบางทีต้องจ่ายยาแตะที่ 100 คนเลยทีเดียว ซึ่งบางคนก็มีรายการยาไม่ต่ำกว่าสิบตัวอีกด้วย บางคนก็เป็นผู้สูงอายุอยู่บ้านคนเดียวไม่มีลูกหลานดูแล อ่านหนังสือไม่ได้สายตาไม่ดีจำวิธีกินยาไม่ถูก ทำให้ต้องใช้เวลาในการพูดคุยอธิบายนานขึ้น คนไข้บางคนที่รอตรวจนาน ๆ พอต้องมารอรับยานานอีกก็เริ่มที่จะหงุดหงิดและมีใช้อารมณ์กันบ้าง ดังนั้นการบริหารเวลาในการพูดอธิบายการใช้ยาให้กับคนไข้จำนวนมากให้เข้าใจ พร้อมกับการค้นหาปัญหาการใช้ยาไปด้วยและหาวิธีแก้ไขปัญหาด้านยาให้คนไข้ด้วยในเวลาที่จำกัดนั้นจึงถือเป็นเรื่องที่ท้าทายมากพอสมควรเลยค่ะ ภาพจาก pixabayนอกจากทักษะการพูดคุยกับคนไข้แล้วนั้น การพูดคุยกับทีมรักษาเองก็เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ๆ เลยค่ะ บางครั้งหากพบปัญหาในการสั่งใช้ยาหรือในขั้นตอนใด ๆ ก็ตามที่เกี่ยวข้องกับยา เภสัชกรก็จะต้องทำการแจ้งเพื่อชี้แจงปัญหาและให้ทำการแก้ไขกันต่อไป เช่น การโทรปรึกษาแพทย์เรื่องการรักษาคนไข้ การแจ้งพยาบาลให้ปรับเปลี่ยนระบบต่าง ๆ ด้านยา หรือการพูดคุยกับเภสัชกรด้วยกันเอง สิ่งเหล่านี้ไม่เพียงใช้แค่ความรู้ที่มีเท่านั้น แต่จะต้องใช้ทักษะการพูดให้เกิดความเข้าใจและการยอมรับในความคิดเห็นของเภสัชกรอีกด้วยค่ะ ซึ่งก็ถือว่าเป็นหนึ่งในความยากของงานที่ไม่มีให้ฝึกในสมัยเรียน มาเจอจริง ๆ อีกทีก็ตอนทำงานกันเลยภาพจาก freepikและจากเรื่องราวทั้งหมดที่ได้เล่าให้ฟังไปนั้น จริง ๆ แล้วตอนช่วงที่เรียนในคณะเภสัชศาสตร์ก็มีวิชาที่สอนเกี่ยวกับการพูดกับทั้งคนไข้แล้วก็ทีมวิชาชีพอยู่ด้วยนะคะ แต่กว่าที่เราจะสามารถใช้ทักษะการพูดเหล่านั้นได้อย่างราบรื่นก็ต้องฝึกฝนและพบเจอกับอุปสรรคกันพอสมควรเลย สุดท้ายก่อนจะจบบทความกันไป ผู้เขียนก็ต้องขอขอบคุณพื้นที่ดี ๆ แห่งนี้เป็นอย่างยิ่งทที่ทำให้ผู้เขียนได้มีโอกาสมาแบ่งปันหนึ่งในเรื่องราวการทำงานของเภสัชกรให้นักอ่านทุกท่านได้อ่านกันค่ะ