รีเซต

สธ.สั่ง รพ.ทั่วประเทศปรับตัวช่วง "โควิด-19" เปิด "หมอออนไลน์" รับยาทาง ปณ.

สธ.สั่ง รพ.ทั่วประเทศปรับตัวช่วง "โควิด-19" เปิด "หมอออนไลน์" รับยาทาง ปณ.
มติชน
24 เมษายน 2563 ( 15:48 )
201
1

 

โควิด-19 เมื่อวันที่ 24 เมษายน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงระบบบริการทางการแพทย์แบบใหม่ (New normal Medical Services) การรักษาออนไลน์ผ่านระบบวิดีโอคอล และส่งยาทางไปรษณีย์ ในช่วงสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 หรือ โควิด-19 ว่า การที่ประชาชนให้ความร่วมมืออยู่บ้าน เว้นระยะห่างทางสังคม นอกจากจะมีสุขภาพที่ดีแล้วยังสามารถช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์ได้มีเวลาพักผ่อนมากขึ้น แม้สถานการณ์ดีขึ้นแต่ยังมีประชาชนกลุ่มหนึ่งที่มีความกังวลในการเดินทางไปโรงพยาบาล (รพ.) โดยยึดหลักแนวคิด 1.ยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง 2.ลดความแออัด 3.เข้าถึงการรักษาในสถานการณ์ โควิด-19 อยู่บ้านและเว้ยระยะห่าง 4.ลดค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยและญาติ และ 5.เพิ่มขีดความสามารถทางการรักษา

 

นพ.ณัฐพงศ์ กล่าวว่า สำหรับเกณฑ์ผู้ป่วยที่สามารถรับบริการได้ 1.เป็นผู้ป่วยเก่าที่ได้รับการประเมินจากแพทย์ว่าสามารถรับบริการได้ 2.สมัครใจในการรับบริการผ่านวิดีโอคอล และ 3.ผู้ป่วยหรือญาติสามารถใช้สมาร์ทโฟนในการสื่อสารกับเจ้านาที่ได้ และขั้นตอนการลงทะเบียน 1.ลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ ที่ รพ. แต่ยังไม่สามารถทำได้ในทุก รพ. หลังจากนั้นแพทย์จะเป็นผู้ประเมินว่าสามารถให้การบริการออนไลน์ได้หรือไม่ 2.เซ็นยินยอมเข้ารับการรักษา 3.รอแจ้งวันนัด จะมีผู้ติดต่อกลับไป ส่วนโรคที่สามารถใช้ระบบบริการนี้ได้คือ โรคเรื้อรังทั้งหมด เช่น โรคเบาหวาน โรคความดัน ที่มีอาการคงที่และสามารถรับยาได้ต่อเนื่อง โรคกระดูก โรคระบบประสาท โรคมะเร็งที่ทำการรักษาคงที่และไม่มีภาวะฉุกเฉิน

 

“ในสถานพยาบาลใหญ่ของรัฐบาล ขณะนี้สามารถคัดเลือกผู้ป่วย ได้มากกว่าร้อยละ 30 ซึ่งหมายความว่า สามารถลดจำนวนผู้ป่วยที่จะไป รพ.ได้ถึงร้อยละ 30 ในการรักษานี้ไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมรับรองทุกสิทธิ์การรักษา เช่น ประกันสังคม หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) สวัสดิการข้าราชการ แต่ในเรื่องของค่าส่งยาทางไปรษณีย์ขึ้นอยู่กับสิทธิ์การรักษา หรือสามารถให้ผู้ป่วยยินดีจ่ายเพิ่มเองได้เพื่อเพิ่มความรวดเร็วในการส่ง” นพ.ณัฐพงศ์ กล่าว

 

นพ.ณัฐพงศ์ กล่าวว่า การดำเนินงานของ รพ. สังกัดกรมการแพทย์ได้ดำเนินงานไปหลายแห่งแล้ว 27 แห่ง เป็นพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑลทุกแห่ง เช่น รพ.ราชวิถี รพ.เลิดสิน รพ.นพรัตนราชธานี สถาบันโรคประสาท สถาบันโรคผิวหนัง เป็นต้น และในระยะ 2 เดือนที่ผ่านมาได้บริการทางระบบวิดีโอคอลไปแล้วกว่า 4,316 ราย เฉลี่ย 200 คนต่อวัน ซึ่งเป็นการทดลองระบบ ส่วนการจัดส่งยาทางไปรษณีย์ ได้ดำเนินการไปแล้ว 6,717 ราย เฉลี่ย 363 คนต่อวัน และในต่างจังหวัดก็มีการดำเนินใน รพ.ใหญ่ๆ ที่อยู่ในสังกัดของกรมการแพทย์ เช่น รพ.ชลบุรี รพ.ลำปาง รพ.ธัญญารักษ์เชียงใหม่ ซึ่งในแต่ละแห่งก็พยายามทำระบบนี้มากขึ้นเรื่อยๆ

 

นอกจากนี้ นพ.ณัฐพงศ์ กล่าวว่า แผนงานในอนาคต จะต้องขยายการบริการได้ทุกสถานพยาบาลในสังกัด สธ. ขณะนี้มีการดำเนินงานอยู่ในหลายกลุ่ม หลายแผนก เช่น ด้านศัลยกรรม ด้านอายุรกรรม ด้านเด็ก และโรคผู้หญิง ซึ่งจะมีการขยายกลุ่มบริการมากขึ้นในกลุ่มโรคที่มากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม จะต้องเป็นกลุ่มโรคที่มีความปลอดภัยในการรักษาสามารถพูดคุยทางวิดีโอคอลได้อย่างรู้เรื่อง ผู้ป่วยและแพทย์สามารถสื่อสารกันได้อย่างรู้เรื่อง 2.เชื่อมโยงข้อมูลการรักษาระหว่าง รพ. และข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยมีข้อมูลการรักษาของตนเอง

 

เมื่อถึงการย้ายสถานพยาบาลก็สามารถนำข้อมูลเหล่านั้นให้แพทย์ในสถานพยาบาลแห่งใหม่ได้ทันที และ 3.พัฒนาไปสู่ระบบการส่งต่อและให้คำปรึกษาได้ผู้เชี่ยวชาญ ระบบนี้ จะเป็นการช่วยเหลือคือการนำข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญส่วนกลางไปยังผู้เชี่ยวชาญส่วนต่างจังหวัดและพูดคุยพร้อมกับผู้ป่วย เพื่อเป็นการลดการเดินทางและสร้างความพึงพอใจให้แก่ผู้ป่วย

 

“จะเห็นได้ว่าสิ่งที่รัฐมนตรีว่าการ สธ.ได้ให้นโยบายมานั้นจะต้องมีการส่งมอบให้แก่ประชาชนเพื่อให้มีสุขภาพดี และจะต้องขอขอบคุณประชาชนทุกคนในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาประชาชนให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีมาก ในการช่วยหยุดอยู่บ้าน เว้นระยะห่างทางสังคม หมั่นล้างมือและสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งรวมไปถึงการลดการเดินทาง ที่ไม่มีความจำเป็น และสถานพยาบาลเริ่มมีการดำเนินงานตามมาตรการดังกล่าวเราเชื่อมั่นว่าจะเป็นการช่วยเพิ่มการลดเชื้อโควิด-19 ได้ อย่างแน่นอน” นพ.ณัฐพงศ์ กล่าว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง