รีเซต

'บิ๊กป้อม' ห่วงผู้ใช้แรงงาน ย้ำก.แรงงาน เดินหน้านโยบาย ดูแล-เยียวยาทุกกลุ่ม ฝ่าวิกฤตโควิด-19

'บิ๊กป้อม' ห่วงผู้ใช้แรงงาน ย้ำก.แรงงาน เดินหน้านโยบาย ดูแล-เยียวยาทุกกลุ่ม ฝ่าวิกฤตโควิด-19
มติชน
18 สิงหาคม 2564 ( 11:12 )
60
'บิ๊กป้อม' ห่วงผู้ใช้แรงงาน ย้ำก.แรงงาน เดินหน้านโยบาย ดูแล-เยียวยาทุกกลุ่ม ฝ่าวิกฤตโควิด-19

เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมรับฟังผลงานของกระทรวงแรงงานรอบ 1 ปี ในรูปแบบการประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดยมี นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ศาสตราจารย์นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน นางธิวัลรัตน์ อังกินันท์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ด้วย ณ ห้องแสงสิงแก้ว ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน

 

 

พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า วันนี้เป็นโอกาสดีที่ได้มารับฟังผลงานของกระทรวงแรงงาน ในรูปแบบประชุมผ่านระบบผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและเป็นไปตามมาตรการด้านสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด ขอชื่นชมกระทรวงแรงงาน ที่ขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลที่เร่งด่วนและสำคัญ และให้ความช่วยเหลือผู้ใช้แรงงานได้อย่างทันท่วงที โดยมีผลการดำเนินงานที่สำคัญเป็นเชิงประจักษ์ ขอแสดงความห่วงใยสำหรับบุคลากรกระทรวงแรงงานทุกท่านที่ทุ่มเทกำลังความสามารถในการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด -19 ขอบคุณกระทรวงแรงงานที่เร่งกระจายวัคซีนให้แก่ผู้ประกันตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกันตนกลุ่มเสี่ยง ขอให้ดำเนินการต่อไปอย่างครบถ้วนและครอบคลุม เพื่อให้เป็นไปตามที่รัฐบาลได้กำหนด ให้การฉีดวัคซีนโควิด -19 เป็นวาระแห่งชาติ โดย พล.อ.ประวิตรยังได้เน้นย้ำการทำงานในประเด็นสำคัญต่าง ๆ ดังนี้

 

 

1.การบริหารวัคซีน ให้เร่งดำเนินการสร้างภูมิคุ้มกันในกลุ่มแรงงานให้ครอบคลุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่สีแดงเข้ม สำหรับศูนย์ฉีดวัคซีนแคมป์คนงาน ขอให้เร่งดำเนินการตามเป้าหมายที่กำหนด 2. มาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการ Lockdown พื้นที่สีแดงเข้ม 29 จังหวัด ทั้งนายจ้าง ผู้ประกันตน มาตรา 33, 39 และ 40 ขอให้ดำเนินการตามกำหนดระยะเวลา เพื่อช่วยให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบดังกล่าว 3.สร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ให้กลุ่มแรงงาน ป้องกัน ดูแลตนเองให้ปลอดภัยจากโควิด -19 รวมทั้งบุคลากรของกระทรวงแรงงาน 4.โครงการ Blue Factory ให้บริหารจัดการอย่างครบวงจร โดยสำรวจความสมัครใจของสถานประกอบการ ตรวจคัดกรองให้ครอบคลุม หากพบผู้ติดเชื้อให้เร่งดูแลและช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีตามมาตรการด้านสาธารณสุข 5.แรงงานต่างด้าว ให้กำกับ ดูแล บริหารจัดการการทำงานของแรงงานต่างด้าว ให้เป็นไปตามกฎหมายและมาตรการด้านสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด

 


6.ยกระดับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงานอย่างเคร่งครัด เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลและองค์การระหว่างประเทศ และต้องกำกับดูแลเจ้าหน้าที่ของรัฐมิให้เข้าไปเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์โดยเด็ดขาด หากพบมีพฤติการณ์ให้ดำเนินการอย่างเด็ดขาด ทั้งทางวินัยและอาญาทุกราย 7.ยกระดับทักษะฝีมือแรงงานในรูปแบบออนไลน์ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์โควิด-19 โดยเน้นหลักสูตรในการพัฒนาทักษะดิจิทัล เช่น การผลิตสื่อโฆษณาและหนังสั้นด้วยสมาร์ทโฟน เทคนิคการสร้างร้านค้าและขายสินค้าออนไลน์

 

 

พล.อ.ประวิตร กล่าวอีกว่า ขอให้กำลังใจไปยังสำนักงานแรงงานจังหวัด และสำนักงานแรงงานในต่างประเทศด้วย รวมทั้งให้กำลังใจให้ทุกคนปลอดภัยจากโรคโควิด- 19 และขอให้ตรวจสอบและช่วยเหลือแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อย่างทันท่วงที พร้อมทั้งขับเคลื่อนมาตรการให้ความช่วยเหลือของกระทรวงแรงงานในทุกมิติ และขอให้ทุกท่านร่วมกันพัฒนาประเทศก้าวข้ามวิกฤตในครั้งนี้ไปด้วยกัน

 

 


 

ด้านนายสุชาติ กล่าวว่า กระทรวงแรงงาน โดยการกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มีภารกิจในการดูแลภาคแรงงานทั้งในระบบและนอกระบบเกือบ 38 ล้านคนให้มีศักยภาพสูงและมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยในรอบ 1 ปีที่ผ่านมาได้ขับเคลื่อนภารกิจทั้ง 4 ด้าน ดังนี้ 1.ด้านการพัฒนาทักษะฝีมือ ฝึกทักษะฝีมือโดยการ up-skill re-skill และ new-skill เพื่อพัฒนาศักยภาพแรงงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์และตลาดแรงงานในยุค New Normal เป้าหมาย 129,910 คน ดำเนินการฝึกทักษะฝีมือ 110,110 คน 2.ด้านการส่งเสริมการมีงานทำ จัดงาน Job expo Thailand 2020 ล้านงานเพื่อล้านคน บรรจุงานแล้ว 1,313,591 อัตรา จัดหางานผ่านแพลตฟอร์มไทยมีงานทำได้มากกว่า 800,000 อัตรา ส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ เป้าหมายจัดส่ง 100,000 คน จัดส่งแล้ว 45,769 คน สร้างเม็ดเงิน 153,006 ล้านบาท จัดระเบียบแรงงานต่างด้าวให้สอดคล้องกับสถานการณ์โควิด-19 ตลอดจนดูแลคุณภาพชีวิตผู้ใช้แรงงานให้เหมาะสม ขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว 650,000 คน จัดเก็บอัตลักษณ์บุคคล 505,202 คน โครงการปันน้ำใจร้านค้าสู่แรงงาน มอบข้าวกล่องแคมป์คนงาน 1,250,000 กล่อง

 



3.ด้านคุ้มครองและแก้ไขปัญหาแรงงาน บริหารจัดการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างและใช้ระบบแรงงานสัมพันธ์ให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ใช้แรงงานอย่างมีประสิทธิภาพ แก้ไขปัญหาการถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ลูกจ้าง 16,000 ราย วงเงินประมาณ 850 กว่าล้านบาท และ 4.ด้านพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน ช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 กระทรวงแรงงานดูแลผู้ใช้แรงงาน โดยใช้กลไกของสำนักงานประกันสังคม ดังนี้ การเยียวยา ลดเงินสมทบ 4 ครั้ง เกิดเม็ดเงินหมุนเวียน 24,000 ล้านบาท เยียวยาสุดวิสัย 50 % ผู้ประกันตนรับสิทธิ 198,432 คน เป็นเงิน 1,836.33 ล้านบาท โครงการม 33 เรารักกัน ผู้ประกันตนรับสิทธิ 8.14 คน เป็นเงิน 48,185 บาท มาตรการเยียวยาจากรัฐบาล 29 จังหวัด 9 กิจการ ผู้ได้รับสิทธิ 10,379,256 คน เป็นเงิน 50,520,819,500 บาทการป้องกัน ตรวจโควิด-19 เชิงรุก 409,972 ราย ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ผู้ประกันตนที่อายุ 50 ปีขึ้นไป 150,000 ราย ฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้ว 1,228,356 ราย ฉีดวัคซีนโควิดแก่ผู้ประกันตน ในกรุงเทพมหานครและจังหวัดเศรษฐกิจกว่า 1 ล้าน 2 แสนราย การรักษา รักษาผู้ประกันตนที่ป่วยโควิด-19 จำนวน 73,644 ราย จัดหา Hospitel จำนวน 10,750 เตียง เปิดสายด่วน 1506 กด 6 ผู้ประกันตนสอบถามข้อมูล 5,349 คน

 

 

“กระทรวงแรงงานยังได้จัดทำร่าง พ.ร.บ.เพื่อดูแลคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบและกลุ่มเปราะบาง แก้ไข พ.ร.บ.ชราภาพเพื่อให้ตรงกับความต้องการของผู้ประกันตนโดยจะนำเข้า ครม.ในเร็ว ๆ นี้ ทั้งนี้ ตลอดปีที่ผ่านมา กระทรวงแรงงาน มุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนภารกิจ เพื่อยกระดับกำลังแรงงานของประเทศ ให้มีศักยภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี เพื่อก้าวผ่านวิกฤตโควิด-19 ไปด้วยกัน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”นายสุชาติ กล่าว

 




ข่าวที่เกี่ยวข้อง