รีเซต

ครม.อัด 171 ล้าน ยกชั้นประมงไทย หลังอียูเตือนหย่อนประสิทธิภาพแก้ไอยูยู หวั่นได้ใบเหลืองอีกครั้ง

ครม.อัด 171 ล้าน ยกชั้นประมงไทย หลังอียูเตือนหย่อนประสิทธิภาพแก้ไอยูยู หวั่นได้ใบเหลืองอีกครั้ง
ข่าวสด
29 กรกฎาคม 2563 ( 16:35 )
79
1

 

ครม.อัด 171 ล้านบาท ยกชั้นประมงไทย หลังอียูเตือนหย่อนประสิทธิภาพแก้ไอยูยู หวั่นได้ใบเหลืองอีกครั้ง

ยกชั้นประมงไทย - นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 171.60 ล้านบาท เพื่อให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินการโครงการการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ระยะเวลาดำเนินงาน 3 เดือน ระหว่างเดือนก.ค.-ก.ย. 2563 หลังการหารือทวิภาคีกับสหภาพยุโรปเมื่อเดือนธ.ค. 2562 สหภาพยุโรป (อียู) ตักเตือนไทยให้ปรับปรุงความเข้มงวดในเรื่องการทำประมงที่ผิดกฏหมาย และอาจได้รับใบเหลืองในการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน ไร้การควบคุม (ไอยูยู) อีกครั้ง

สำหรับคำเตือนของอียูต่อไทยมีดังนี้ คือ 1. ประสิทธิภาพของระบบการตรวจสอบ ติดตาม ควบคุม และเฝ้าระวังการทำการประมง (MCS) และศูนย์ติดตามและควบคุมเรือประมง (FMC) แนวโน้มลดต่ำลง 2. การบริหารจัดการกองเรือและทรัพยากรประมงต้องดำเนินการเพิ่มเติม 3. ระบบการตรวจสอบย้อนกลับที่ยังต้องดำเนินการต่อเนื่อง และ 4. การบังคับใช้กฎหมาย ประกอบกับมีเงื่อนไขการกีดกันทางการค้าในประเด็นเรื่องการทำลายทรัพยากรสัตว์ทะเลหายากและสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม โดยสหรัฐอเมริกา หากไม่เตรียมรับมือไทยอาจส่งออกสินค้าสัตว์น้ำไปสหรัฐอเมริกาไม่ได้ในปี 2565

นอกจากนี้ ปีงบประมาณ 2563 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับจัดสรรงบประมาณไม่เพียงพอต่อการคงประสิทธิภาพการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายและมีงบประมาณบางส่วนจัดสรรคืนให้กับรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหาช่วยเหลือเยียวยา และบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และแก้ไขปัญหาภัยพิบัติ ภัยแล้ง อุทกภัย โดยกรมประมงโอนคืน 113.16 ล้านบาท ทำให้กรมประมงไม่มีงบประมาณแก้ไขปัญหาไอยูยู

สำหรับโครงการการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย มีดังนี้คือ 1. กรมประมง เช่น โครงการจัดจ้างเพื่อขยายขอบข่ายระบบตรวจสอบย้อนกลับให้ครอบคลุมเรือประมงพื้นบ้าน งบประมาณ 118.98 ล้านบาท 2. กรมเจ้าท่า เช่น การกู้เรือ ทำลายเรือประมงที่กีดขวางทางเดินเรือ งบประมาณ 16.19 ล้านบาท 3. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เช่น การจัดเจ้าหน้าที่ตรวจสอบและติดตามการบังคับใช้กฎหมาย งบประมาณ 14.41 ล้านบาท

4. กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เช่น การตรวจสถานประกอบกิจการแปรรูปสัตว์น้ำ งบประมาณ 1.64 ล้านบาท 5. องค์การสะพานปลา เช่น การพัฒนาระบบศูนย์ข้อมูลกลางเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบตรวจสอบย้อนกลับ งบประมาณ 20.38 ล้านบาท เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม โครงการการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย มีรายละเอียดครอบคลุมโครงการฯ ดังนี้คือ 1. การปรับปรุงการเก็บข้อมูล ทั้งจากการทำประมงพาณิชย์และพื้นบ้านให้ครอบคลุมพื้นที่ทุกจังหวัดชายทะเล และดำเนินการปรับปรุงวิธีการคำนวณค่าผลผลิตสัตว์น้ำสูงสุดที่ยั่งยืน (Maximum Sustainable Yield: MSY) ให้ถูกต้องแม่นยำและเป็นที่ยอมรับของผู้ใช้ทรัพยากรประมง 2. การตรวจสอบความถูกต้องและข้อเท็จจริงของการบริหารจัดการเรือที่ได้รับใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์

3. การตรวจสอบติดตาม ควบคุม และเฝ้าระวังการทำประมงของเรือประมงไทยที่ทำการประมงในน่านน้ำและนอกน่านน้ำไทย ทั้งก่อนออกทำการประมง ระหว่างทำการประมง และเมื่อกลับเข้าเทียบท่าเพื่อขนถ่ายสัตว์น้ำ 4. การพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์ในระบบการตรวจสอบย้อนกลับ และการบริหารจัดการความเสี่ยงที่ผลิตภัณฑ์ประมงจะมาจากการทำประมงแบบไม่ถูกต้อง เพื่อตรวจสอบอย่างเข้มข้นโดยเฉพาะสินค้าสัตว์น้ำที่มีปริมาณและมูลค่าการนำเข้าสูง

5. การดำเนินการเพื่อเตรียมความพร้อมในการป้องกันการใช้มาตรการกีดกันทางการค้าในประเด็นเรื่องการทำลายทรัพยากรสัตว์ทะเลหายาก และสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม 6. การจัดทำฐานข้อมูลคดีเพื่อบูรณาการการดำเนินการทาง การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวที่อยู่ในภาคประมง และการจัดหาแรงงานที่ถูกกฎหมาย 7. การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวที่อยู่ในภาคประมง และการจัดหาแรงงานที่ถูกกฎหมาย 8. การส่งเสริมการทำประมงพื้นบ้านให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและลดความเหลื่อมล้ำ