สวัสดีค่ะ เชื่อว่าคุณผู้อ่านหลาย ๆ ท่านที่ต้องจากบ้านเกิดไปไกล ๆ คงคิดถึงบ้านกันนะคะ บ้านที่มีครอบครัวของเราอยู่ที่นั่น ผู้เขียนเองก็คิดถึงบ้านค่ะ บางครั้งก็แอบอิจฉาญาติพี่น้องหลาย ๆ คนที่ไม่ต้องพลัดบ้านไปทำงานไกล ๆ อย่างผู้เขียน หลายครั้งที่กินข้าวตามร้านขายข้าวแกงแล้วอดไม่ได้ที่จะคิดถึงกับข้าวฝีมือของพ่อกับแม่ แต่เพราะที่บ้านเกิดไม่มีงานรองรับในขณะที่รายจ่ายทางบ้านนั้นมีมาก ผู้เขียนในฐานะลูกคนโตจึงก้มหน้าก้มตารับบทนกขมิ้นอย่างไม่มีทางเลี่ยง แม้จะยอมรับสภาพคนไกลบ้าน แต่ในใจก็ยังโหยหาบ้าน บ้านที่กลายเป็นเพียงความทรงจำ เพราะแทบจะไม่มีอะไรที่เหมือนเดิมหลงเหลืออยู่เลย สมาชิกของบ้านก็ลาจากไปเกิดใหม่กันหลายคน หันมาดูสภาพแวดล้อมก็เปลี่ยนแปลงไปจนน่าใจหาย ผู้เขียนเกิดในตำบลเล็ก ๆ ของจังหวัดราชบุรี อยู่ห่างจากตัวเมืองราชบุรีประมาณ 6 กิโลเมตร ย้อนไปเมื่อ 52 ปีที่แล้ว ในตำบลนี้ยังไม่มีไฟฟ้าเข้าถึง แสงสว่างหลัก ๆ คือ ตะเกียง ยามโพล้เพล้จึงเป็นเวลาที่เกือบทุกคนอยู่บ้านของตัวเอง ยกเว้นบางคนที่ออกหาปลา หาแมงดา หรือมีธุระอื่นที่จำเป็น เนื่องจากหมู่บ้านแห่งนี้มีพื้นที่กว้างใหญ่ สมัยนั้นแม้จะมีประชากรถึง 300 ครัวเรือน แต่ก็สามารถปลูกบ้านอยู่ห่าง ๆ กันได้ ไม่แออัด บ้างก็ปลูกเป็นกลุ่ม ๆ ในหมู่พี่น้องหรือเครือญาติเดียวกัน ลักษณะบ้านเป็นเรือนไม้ ใต้ถุนสูง ส่วนหลังคาก็แล้วแต่ฐานะ บ้างก็เป็นหลังคาจั่วผสมปั้นหยามุงด้วยกระเบื้อง บ้างก็หลังคาจั่วมุงสังกะสี ส่วนหลังคาจากก็มีบ้าง เช่น ส่วนที่เป็นเรือนครัว เพิงพักผ่อน เถียงนา และครอบครัวสร้างใหม่ เช่นครอบครัวของผู้เขียน จำได้ว่าตอนยังเด็กอายุประมาณ 6 ขวบ บ้านของผู้เขียนเป็นกระท่อมไม้ไผ่ ยกพื้น หลังคามุงจาก ฝาบ้านบางส่วนเป็นฝาลำแพน บางส่วนเป็นไม้ไผ้ขัดแตะ ส่วนเรื่องรั้ว นับเป็นเรื่องน่าแปลกที่ส่วนมากเป็นรั้วที่สร้างจากไม้ซึ่งทำอย่างง่าย ๆ พอให้รู้อาณาเขต แต่ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เรื่องป้องกันขโมยหรือโจร ทั้ง ๆ ที่ก็มีขโมยออกชุกชุม ลักษณะพิเศษของหมู่บ้านนี้และหมู่บ้านใกล้เคียงคือ ตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงเดือนพฤศจิกายนจะกลายเป็นหมู่บ้านกลางสายน้ำ เนื่องจากรับทั้งน้ำฝนและน้ำเหนือจากจังหวัดกาญจนบุรีที่ไหลหลากผ่านแม่น้ำแม่กลองแล้วไหลแยกเข้ามาตามลำคลอง ในช่วงนี้เป็นช่วงที่ต้นข้าวในนาซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวลอยจะพุ่งลำต้นขึ้นรับสายน้ำ ในท้องทุ่งและบริเวณบ้านเรือนจะมีน้ำท่วมทุกที่ ยกเว้นบริเวณถนนสายหลักที่วิ่งสู่ตัวเมืองราชบุรี เหล่าปลาที่แถกขึ้นมาจากแหล่งน้ำต่าง ๆเมื่อครั้งช่วงต้นฤดูฝนก็พากันวางไข่และลูก ๆของมันก็โตในท้องนา นอกจากปลานานาชนิดแล้วยังมีกุ้ง ปู หอยขม หอยกาบ พืชน้ำหลายชนิดก็พากันผุดขึ้นมาอวดโฉม บ้างก็ออกดอก ออกผลให้ได้เก็บมาทำอาหารกัน เช่นผักบุ้ง ดอกบัว ดอกโสน ดอกสันตะวา ช่วงนี้ผู้คนในหมู่บ้านจะยกเรือลงจากคานมาใช้ในการสัญจรและเป็นพาหนะเพื่อหาปลา วิธีหาปลาก็มีหลากหลายตามความถนัดและต้นทุนของแต่ละคน บ้างก็ดักตาคัด บ้างก็วางเบ็ดราว บ้างก็ใช้ลอบดัก บางคนก็ใช้ฉมวกแทง หรือไม่ก็ยกยอ ช่วงนี้ถือว่าเป็นช่วงที่ชาวบ้านต่างมีรายได้จากสายน้ำหลากกันอย่างถ้วนหน้า ในขณะเดียวกันรายจ่ายเรื่องการซื้อวัตถุดิบมาประกอบอาหารก็ลดลง พ่อของผู้เขียนเองก็ออกหาปลาเช่นกัน หลายครั้งที่ผู้เขียนนั่งเรือออกทุ่งไปหาปลากับพ่อ อากาศยามเช้าตรู่ที่เย็นสบาย ลมทุ่งที่พัดเบา ๆ ใบข้าวลู่ลมเป็นระลอกน้อย ๆ ดอกบัวเผื่อนทั้งสีขาวและสีม่วงพากันคลี่บานรับแสงยามอรุณรุ่ง แสงแดดอ่อนที่ส่องกระทบสายน้ำจนเกิดประกายระยิบระยับ บรรดานกกระยางกางปีกสีขาวบินเโฉบเฉี่ยวหาอาหาร เหล่านี้ยังเป็นภาพที่อยู่ในความทรงจำมิรู้ลืม หลังฤดูน้ำหลากสิ้นสุด เรือทั้งหลายถูกส่งกลับขึ้นคาน การเก็บเกี่ยวข้าวก็เริ่มขึ้น ชาวบ้านบางส่วนออกรับจ้างเกี่ยวข้าว ชาวนาต่างเตรียมขี้วัวมายาลานเพื่อวางฟ่อนข้าวแล้วจึงใช้รถไถย่ำบนฟ่อนข้าว เมื่อมีการนวดข้าว ก็ย่อมมีการลงแขกนวดข้าว ข้าวเหนียวถั่วดำมักเป็นอาหารประจำที่ใช้เลี้ยงแขก เด็ก ๆ ต่างสนุกสนานกับการเล่นลอมฟางที่ได้หลังการนวดข้าว ยามน้ำแห้ง ช่วงรอฝนใหม่ ทั้งชาวนาและชาวบ้านที่มีอาชีพรับจ้างทั่วไปก็หันไปทำอาชีพเสริมอย่างอื่น บ้างก็หาดักหนูตามนา บ้างก็ขึ้นต้นตาลเพื่อเฉาะลูกตาลขาย บ้างก็ออกหาตีผึ้งเพื่อเอารังของพวกมันไปขาย พ่อกับแม่ของผู้เขียนเพาะเห็ดฟาง สมัยนั้นไม่มีไฟฟ้าดูดน้ำมาที่แปลงเพาะเห็ด ครอบครัวเราจึงช่วยกันหาบน้ำขึ้นมาจากลำคลอง บางคนก็หาปลาตามแหล่งน้ำที่ไม่มีการหวงห้าม ผู้เขียนยังจำความตื่นเต้นตอนเอามือล้วงลงไปในสุ่มแล้วเจอปลาดิ้นขลุกขลักอยู่ในสุ่มยามไปสุ่มปลาในหนองน้ำได้ ไหนจะสนุกกับการขุดหลุมโจนเพื่อหลอกให้ปลาโดดลงไปในหลุม แต่หลายคนก็ไม่ได้ไปไหนแต่ให้เวลากับการเลี้ยงหมู เลี้ยงวัวมากขึ้น ส่วนใครที่ทำสวนผักกาดก็ได้เวลาเก็บเกี่ยว พร้อม ๆ กับหลาย ๆคนที่รอไปเก็บผักกาดก้นไร่ที่เจ้าของไม่เอาเนื่องจากหัก หรือไม่ได้ขนาดที่ต้องการ ผู้เขียนและอาก็มักไปเก็บหัวผักกาดแล้วเอามาทำผักกาดเค็มซึ่งสามารถเก็บใส่ไหไว้กินได้นาน ๆ บ้านเกิดของผู้เขียนซึ่งมีลักษณะเปรียบดังแดนสองน้ำคือน้ำหลากกับน้ำแห้งยังมีเรื่องเล่าอีกมากมาย เอาไว้ผู้เขียนจะเก็บมาเล่าให้อ่านกันอีกนะคะ หากท่านผู้อ่านท่านใดมีเรื่องราวของบ้านเกิดจะมาเล่าแบ่งปันกันก็ยินดีค่ะ ขอขอบคุณภาพประกอบสวย ๆ ตามรายละเอียดเครดิตภาพด้านล่างค่ะภาพหน้าปก 1 โดย Philippe Ourselภาพหน้าปก 2 โดย Sandra Yeoh ภาพหน้าปก 3 โดย Boudewijn Huysmansภาพหน้าปก 4 โดย Rohan Reddyภาพที่ 1 โดย Dhilip Antonyภาพที่ 2 โดย Sangjan Whansuengภาพที่ 3 โดย Daniel Ramosภาพที่ 4 โดย Philippe Ourselภาพที่ 5 โดย Asharful Haque Akashภาพที่ 6 โดย Rohan Reddyภาพที่ 7 โดย Christopher Carsonภาพที่ 8 โดย Jade Marchand เปิดประสบการณ์ความบันเทิงที่หลากหลายสุดปัง บน App TrueID โหลดเลย ฟรี !